CIRCULAR ECONOMY

“โลกที่คุณอยู่ในวันนี้ จะเป็นโลกที่เราอยู่ในวันข้างหน้า” ทุกภาคส่วนผนึกกำลัง เพื่อคุณภาพชีวิตและอนาคตลูกหลาน

13 กันยายน 2562…@ SD Symposium 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’ เสียงข้อเรียกร้อง Save Our World !! จากตัวแทนเยาวชนทั้งอาเซียน ซึ่งเป็นนักเรียนทุนเอสซีจี ยังกึกก้องต่อผู้ฟังชาวไทยและนานาชาติ และจากเวทีนี้ได้เกิด 4 มาตรการเร่งแก้วิกฤตขยะไทย พร้อมให้ Circular Economy เป็นนโยบายรัฐ และเป็นหน้าที่ทุกคน

“เราต้องการคุณ และทุกคนที่นี่ให้มามีส่วนร่วม เริ่มจาก รัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม สื่อมวลชน และภาคประชาสังคมร่วมแก้ปัญหานี้ด้วยกัน เพราะนี่คือโลกของเรา โอกาสเดียว โอกาสของเรา รักษาโลกของเรา”

จากเยาวชนอินโดนีเซีย มาถึงเยาวชนสปป.ลาว ที่เกริ่นนำถึงความเหือดแห้งของแม่น้ำโขงก่อนเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานั้น ว่ามีสาเหตุหลักมาจากการตัดไม้ทำลายป่า

“ถ้าคุณยังทำเหมือนเดิมอยู่ ในอนาคตอันใกล้ ลูกชาย ลูกสาวของคุณอาจจะต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติมากมาย เช่นน้ำท่วม น้ำแล้ง ซึ่งอาจจะทำให้พวกเขาต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย หรือสูญเสียแม้กระทั่งชีวิต
ฉะนั้น ถ้าคุณรักลูกหลานคุณ ได้โปรดเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ด้วย เพราะอนาคตของพวกเราอยู่ในมือคุณ”

ต่อเนื่องมาถึงเยาวชนจากประเทศไทย

“วันนี้จะพูดถึงมาเรียม ลูกพะยูนตัวน้อยของไทยที่เพิ่งตายไปเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งพบเศษถุงพลาสติกในกระเพาะของเธอ เราจะไม่ยอมให้ใครต้องตายแบบนี้อีกแล้ว เราจะช่วยเขาได้โดยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเรา เช่น ไม่ทิ้งขยะลงในทะเล ในเวลาเดียวกัน เราก็ได้ช่วยรักษาโลกใบนี้ไว้ให้คนรุ่นหลังต่อไปด้วย”

คุณ คุณ โปรดช่วยกันรักษาชีวิต รักษาโลกของเรา Save Our World !!

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี หวังว่า การที่เราสูญเสียยามีล และมาเรียม จะเป็นจุดสิ้นสุด ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของผลกระทบอื่นๆ ที่จะตามมา

“ปีนี้ครบรอบปีที่ 10 ที่เอสซีจีจัดเวที SD Symposium โดยจากสถิติพบว่า วันนี้คนไทยสร้างขยะ 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจว่าหากทุกอย่างยังดำเนินต่อไป โลกของเราจะมีขยะเป็นพันล้านตัน เมืองต่างๆ จะเต็มไปด้วยขยะ นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อมยังจะเป็นพิษอย่างมาก”

ขณะเดียวกันปัญหาของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ จะยิ่งทำให้เกิดการขาดแคลนทรัพยากร จะเกิดอะไรขึ้นถ้าวันหนึ่งเราอาจไม่มีน้ำ ไม่มีอาหารที่เพียงพอ เรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่อยากให้เกิด เราจึงต้องมาพูดกันถึงเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นการบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ เราต้องการมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของการบริโภค โดยแม้ว่าการสร้างความร่วมมือกันจะเป็นเรื่องจำเป็นในการทำงาน แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน

“ปีที่แล้วเป็นปีแรกที่เราเริ่มต้นพูดคุยเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน และตลอดทั้งปีที่ผ่านมา เราได้สร้างความร่วมมือกับกว่า 40 องค์กร เช่น การทำถนนพลาสติกรีไซเคิล มีการเปลี่ยนแปลงในวงการก่อสร้าง เริ่มจากการนำวัสดุกลับมาใช้จนถึงการกำจัดของเสีย นอกจากนี้ องค์กรในธุรกิจค้าปลีกยังมาร่วมกัน ตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือการเก็บขยะกลับมาสร้างคุณค่า และสิ่งสำคัญที่สุด คือ การประกาศตัวว่าเป็นชุมชนปลอดขยะทั้งในราชบุรี หรือระยอง”

รุ่งโรจน์ย้ำว่า เอสซีจีเองทุ่มเททำงานตามกรอบของเศรษฐกิจหมุนเวียนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จนถึงวันนี้ที่เรายินดีที่ได้ขยับการทำงานสู่การสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีอนาคตที่ยั่งยืน ไม่ใช่เฉพาะเศรษฐกิจไทย แต่กับเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนด้วย

ภายในงาน SD Symposium 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’  ผู้ใหญ่ได้พยายาม “รักษาโลก” ด้วยแนวทางเศรษกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เปิดเวทีรับฟังความคิด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากทุกภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และผู้บริโภค เพื่อร่วมแสดงพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่การปฏิบัติ ผ่าน 3 กลยุทธ์ คือ

-การลดการใช้ทรัพยากรและยืดอายุการใช้งาน (Reduce & Durability)
-การพัฒนานวัตกรรมทดแทน (Upgrade & Replace)
-การหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ (Reuse & Recycle)

“จัดการขยะ” เรื่องของทุกคนและทุกภาคส่วน

การจะรักษาโลกใบนี้ไว้ให้ลูกหลานได้ด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น ต้นทางมาจาก “ขยะ” ซึ่งอยู่ใกล้ตัวทุกคนในฐานะผู้สร้างขยะ ต้องยอมรับว่าวิกฤตปัญหาขยะที่เกิดขึ้นล้วนแต่เป็นผลมาจากฝีมือมนุษย์ การแก้ไขจึงต้องเริ่มต้นจากตัวเองก่อน และทุกภาคส่วนของสังคมต้องประสานความร่วมมือ ทั้งการปลูกจิตสำนึกและสร้างองค์ความรู้ เพื่อขับเคลื่อนสังคมสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เกิดการจัดการขยะตั้งแต่น้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

“อย่างปัญหาขยะในทะเล อยากให้คนเลิกความคิดเดิม ๆ ที่ว่าทะเลกว้างใหญ่ ทิ้งขยะชิ้นเดียวคงไม่เป็นไร มีคนจำนวนมากคิดแบบนั้นจริง ๆ”

ดร.จิตราภรณ์ ฟักโสภา อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมเวทีสนทนาหัวข้อ Thailand Waste Management Way Forward

“ระยะหลังมานี้ มีข่าวการตายของสัตว์ทะเล ไม่ว่าจะเป็นเต่า วาฬ โลมา หรือแม้แต่ “มาเรียม” พะยูนน้อยขวัญใจคนไทย แม้จะเป็นเรื่องที่สร้างความสลดใจ แต่ก็ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมเรื่องวิกฤตขยะในสังคม ทำให้ทุกคนตื่นตัว เริ่มหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองเพื่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด เช่น การพกแก้วน้ำดื่ม หรือการหันมาใช้ถุงผ้า เป็นต้น”

วรุณ วารัญญานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste Project กล่าวบนเวทีเดียวกัน เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของ “การจัดการขยะ” โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อลดปริมาณขยะนั้นจำเป็นต้องมีแนวร่วมที่ช่วยสนับสนุน

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ บางครั้งผู้บริโภคก็ไม่รู้ว่าจะทิ้งขยะอย่างไร หรือมีความตั้งใจจะแยกขยะ แต่ก็เจอกับระบบ “One Bin for All” หรือถังเดียวทิ้งทุกอย่าง จึงไม่สามารถแยกขยะได้จริง วรุณย้ำว่า

“มีความจำเป็นที่ต้องสร้างระบบ ก่อนที่จะไปบอกเขาว่าจะทิ้งอย่างไร และต้องแสดงให้เห็นว่าแยกขยะแล้วเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง”

ในการเสวนาเวทีนี้ได้ทำผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ร่วมเสวนา 300 คน ซึ่งร้อยละ 77 เห็นว่า การจัดทำระบบการจัดเก็บขยะอย่างครบวงจร เช่น การใช้สัญลักษณ์สี และการระบุวัน-เวลาจัดเก็บตามประเภทขยะ เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดเก็บขยะที่ดีที่สุด

นอกจากนี้ มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยระบบจัดการขยะ เช่นเดียวกับสิ่งที่ วรกิจ เมืองไทย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟาร์มดี จำกัด ได้พัฒนาแอปพลิเคชันจัดการขยะ โดยใช้แอปฯ เป็นสมุดบัญชีสะสมแต้มสำหรับให้ผลตอบแทนจูงใจผู้ทิ้งขยะ และเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการให้เห็นราคากลางของวัสดุ รวมถึงบอกปริมาณของแต่ละวัสดุที่ต้องจัดเก็บอย่างชัดเจน

“แอปพลิเคชันสามารถบอกจุดหมายที่ตั้ง และปริมาณขยะ ทำให้สามารถบริหารค่าขนส่งจัดการได้ หรือจับคู่ให้ดีมานด์กับซัพพลายเจอกันได้เลย”

ทั้งนี้ สถิติของกรมควบคุมมลพิษที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีโอกาสที่จะพัฒนาการรีไซเคิลได้อีกมาก เพราะมีขยะพลาสติกเพียง 5 แสนตันจาก 2 ล้านตันที่ถูกนำไปรีไซเคิล

มาถึงกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการลดขยะ และเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า Mr. Gen Takahashi ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริหารต่างประเทศของ JFE Engineering Corporation เสนอตัวอย่างความสำเร็จด้านการจัดการขยะของเมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเมืองที่สามารถลดขยะได้ถึงร้อยละ 40 แม้จะมีจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยกำหนดทิศทางนโยบาย เริ่มจากการคัดแยกขยะ มีแผนบูรณาการ มีโรงเผาขยะที่สามารถเผาขยะได้ถึง 1,200 ตันต่อวัน ทำให้การจัดการขยะในระดับเมืองประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้ บริษัท JFE Engineering Corporation เป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าจากขยะที่ดำเนินธุรกิจผลิตเหล็กมาก่อน และมีความมุ่งมั่นในการดูแลสิ่งแวดล้อม จึงพยายามพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยเขากล่าวย้ำว่า การพัฒนานี้มุ่งเน้นการลดขยะ ไม่ใช่มุ่งการผลิตพลังงาน

“การพัฒนาโรงไฟฟ้าลักษณะนี้ สามารถสร้างรายได้จากการผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นผลพลอยได้ อีกทั้งยังปล่อยสารพิษออกมาน้อยมาก ช่วยลดปริมาณขยะฝังกลบ ถูกสุขอนามัย และยังได้พลังงานไฟฟ้ากลับมาใช้อีก โดยก่อนหน้านี้ มีโรงไฟฟ้าหลายโครงการที่ถูกต่อต้านจากชุมชน”

Mr. Gen ได้ให้คำแนะนำว่า โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เช่นนี้ มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งนโยบายของรัฐบาล นโยบายท้องถิ่น และการร่วมมือของภาคเอกชน จึงต้องมีการดำเนินงานอย่างรอบคอบ

“ขยะ” เป็น “สินทรัพย์” ภายใต้แนวคิด Waste to Wealth

บนเวที Transformation to the Circular Built Environment ผู้เข้าร่วมอภิปรายให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันถึงทิศทางการลดการสร้างขยะจากการก่อสร้าง ว่าสามารถทำได้ด้วย 2 เรื่องสำคัญ

1. การใช้เทคโนโลยีในการออกแบบ
2. การวางแผนการทำงานเพื่อคำนวณการใช้วัสดุอย่างพอดี เพื่อไม่ให้มีวัสดุเหลือใช้ หรือต้องขนย้ายกลับจากพื้นที่ก่อสร้าง

นันทพงษ์ จันทร์ตระกูล กรรมการผู้จัดการ CPAC ช่วยขยายความในมุมมอง ‘ขยะ’ ให้เป็น ‘สินทรัพย์’ ภายใต้แนวคิด ‘Waste to Wealth’ โดยตลอด 60 ปีของบริษัทได้เปลี่ยนผ่านจากความพยายามเป็นที่หนึ่งในด้านคุณภาพและบริการในช่วงแรก และต่อมาในช่วงที่สองกับการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ในปัจจุบัน ซีแพคได้ผันตัวเป็น Construction Solution Provider การใช้เทคโนโลยี เช่น BIM เพื่อคำนวณการใช้วัสดุอย่างพอดิบพอดี แม้จะต้องใช้เวลาในการทำงานเพิ่มขึ้นแต่ก็มีส่วนช่วยลดการสร้างขยะจากการก่อสร้าง

“แนวคิดหลักปัจจุบันของซีแพคเป็นไปตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน คือการเปลี่ยน ‘ขยะ’ ให้เป็น ‘สินทรัพย์’ ภายใต้แนวคิด ‘Waste to Wealth’ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ลดการสร้างขยะจากการก่อสร้าง เปลี่ยนสิ่งที่เหลือใช้ให้เป็นวัสดุในขั้นตอนการทำงานอื่น เช่น คอนกรีตผสมเสร็จแล้วที่ส่งให้กับลูกค้ามักเหลือประมาณ 1-2 คิว ซึ่งวิธีการปฏิบัติในอดีตคือทิ้ง แต่ปัจจุบันทางซีแพคเลือกที่จะนำคอนกรีตที่เหลือมาทำเป็นแผ่นคอนกรีตที่สามารถนำไปบริจาคให้กับวัด โรงเรียน หรือชุมชนต่อไปโดยที่ไม่ต้องทิ้ง ซึ่งนันทพงษ์ยืนยันว่าแนวคิดการเปลี่ยนขยะให้เป็นทรัพย์สินนี้สามารถใช้ได้กับโครงการทุกขนาด การทำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นจริง ต้องอาศัยความร่วมมือจากคู่ค้าในทุกขั้นตอนการทำงาน”

นันทพงษ์เชื่อว่า ทุกคนทราบดีว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังเข้าสู่ยุควิกฤตที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยน เพราะฉะนั้น เอสซีจีและซีแพคจึงเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนทัศนคติ (Mindset) ของพนักงานทุกคนว่าจะมีส่วนช่วยชะลอวิกฤติขยะดังกล่าวอย่างไรผ่านหน้างานของตัวเอง และทุกคนต้องทำงานกับคู่ค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อหาแนวทางก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและสร้างขยะให้น้อยที่สุด

ภายใต้แนวทางการทำงานเปลี่ยน ‘ขยะ’ ให้เป็น ‘สินทรัพย์’ จะเห็นได้จาก อมรพล หุวะนันทน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Moreloop (สตาร์ทอัพประเทศไทย) เริ่มนำผ้าเหลือใช้จากโรงงานมาทำเป็นเสื้อยืด สื่อสารเรื่องราวออกไปแล้วลูกค้าก็รู้สึกได้ว่านี่เป็นผลิตภัณฑ์ยั่งยืน ไม่ใช้วัสดุใหม่ในการผลิตแต่เป็นวัสดุเหลือใช้ทั้งหมด และตอนนี้มีลูกค้าตั้งแต่องค์กร ถึงมหาวิทยาลัย แบรนด์แฟชั่น รวมถึงผู้ที่เป็นกระบอกเสียงเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้เติบโตขึ้นมากใน 7 เดือนที่ผ่านมา

“วันนี้เป้าหมายใหม่ของเรา คือ การนำวัสดุเหลือใช้ทั้งหมด 5,000 กิโลกรัมมา Upcycling และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตลงให้ได้กว่า 80,000 กิโลกรัม ส่วนเป้าหมายภายใน 5 ปี เราต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 1 ล้านกิโลกรัม และต่อด้วยลูปที่สองที่เราจะกำหนดเป็นเป้าหมายที่สูงขึ้นไปอีก”

เอสซีจี ชวนทุกภาคส่วนประสานความร่วมมือ สร้างจิตสำนึกและองค์ความรู้ สู่การจัดการที่ยั่งยืน

SD Symposium 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’ นับเป็นการระดมสมอง ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ ที่แต่ละส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค ผู้จัดเก็บ ผู้รีไซเคิล สื่อสารมวลชน สถานศึกษา หรือแม้แต่ภาครัฐ ล้วนมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด จะเกิดผลสำเร็จและความยั่งยืนได้นั้นต้องอาศัยรับความร่วมมือจากทุกฝ่าย

เวที Partnership for Circular Economy ได้เห็นความพยายามการเปลี่ยนแปลงผ่านความร่วมมือระดับประเทศเพื่อจัดการขยะเข้าสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ยกตัวอย่างประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย

Mr.Pham Hoang Hai, Partnership Development Head – Vietnam Business Council for Sustainable Development เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

องค์กรของเราสร้างความร่วมมือกันตั้งแต่ปี 2010 เพื่อทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยมีกิจกรรม ทั้งการฝึกอบรม การวิจัย และการสานสัมพันธ์ระดับภูมิภาค รวมทั้งการจัดงานสัมมนาระดับชาติเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเวียดนาม

“เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจหมุนเวียนในเวียดนาม ในปี 2016 เป็นปีแรกที่เราได้ยินเรื่องนี้ ไม่มีใครรู้เลยว่ามันคืออะไร ทุกคนคิดถึงแต่ 3R แต่หลังจากนั้นจนถึงวันนี้ เรามีความร่วมมือมากมายที่มุ่งเน้นการผลักดันให้เกิดข้อตกลงและกฎหมาย และเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งความท้าทายในการทำงานร่วมกันนั้นอาจมีความยากในการพูดคุยกับคนที่อยู่นอกธุรกิจแต่ทุกคนควรต้องมาทำงานร่วมกัน เพื่อให้ปลายทางคือการพัฒนาให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ให้ประโยชน์แก่ทุกคนเกิดขึ้นได้จริง”

การทำงานในระดับอาเซียน เรามีการทำงานร่วมกันเป็น Business Council เพื่อแก้ปัญหาที่กำลังเป็นประเด็นเร่งด่วน ส่วนเวียดนามเองก็มีความคล้ายกับอินโดนีเซีย ที่ภาครัฐต้องหันไปโฟกัสที่การพัฒนากระบวนการรีไซเคิลเพื่อเป็นคำตอบในเรื่องธุรกิจได้

Dr. Safri Burhanuddin, Deputy IV of Coordinating, Ministry for Maritime Affairs of Republic Indonesia กล่าวว่า ตั้งแต่มีการประกาศว่า อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตขยะรายใหญ่ของโลก ชาวอินโดนีเซียก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อลดปัญหาขยะที่ปล่อยลงสู่ทะเล

“เราทำงานร่วมกันทั้ง 18 กระทรวง และมีกลไกในการจัดการขยะทั้งหมด 6 ข้อ โดยภายใต้การศึกษาพบว่าร้อยละ 80 ของขยะมาจากบนบก และแม่น้ำในจาร์กาต้าได้รับการจัดการให้สะอาดโดยการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลอินโดนิเซีย เนเธอร์แลนด์ และเอ็นจีโอ เพื่อดูแลคุณภาพน้ำ มีโครงการนำร่องเกิดขึ้นมากมาย เช่น การใช้ขยะพลาสติกมาทำถนน”

ในอุตสาหกรรมรีไซเคิล เป้าหมายของรัฐบาลในการรีไซเคิลสูงมาก โดยเฉพาะความพยายามในการรีไซเคิลพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว จึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาและจัดการเรื่องขยะพลาสติก ซึ่งเป้าหมาย คือ จะต้องลดปริมาณพลาสติกให้ได้ในปี 2025

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล รองประธานกรรมการบริษัท เอสซีจี กล่าวว่า วันนี้ขยะเกี่ยวข้องกับทุกมิติของชีวิตเรา เพราะหากไม่มีชีวิตเกิดขึ้น ปัญหาขยะก็คงไม่มี และสิ่งเหล่านี้กำลังเป็นวิกฤตของประเทศ เห็นได้จากจำนวนขยะปี 2561 ที่มีกว่า 28 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 2 จากปี 2560 ทำให้เกิดทั้งปัญหาขยะล้นเมืองที่ขาดการจัดการอย่างเหมาะสม ขยะอุดตัน ขยะในแม่น้ำลำคลองที่ไหลออกสู่ทะเล อีกทั้งสถานที่กำจัดขยะที่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมก็มีไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งคนและสัตว์ รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของประเทศมากกว่าร้อยละ 20

“จึงนับเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมแก้ไขปัญหา โดยต้องมีระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพและรองรับจำนวนคนทั้งหมดอย่างเพียงพอด้วย”

ทุกส่วนผนึกกำลัง ยื่นนายกฯ 4 มาตรการ เร่งแก้วิกฤตขยะไทย

ด.ญ.ระริน สถิตธนาสาร เยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมวัย 12 ปีกล่าวว่า วันนี้ประชากรโลก 7 พันล้านคน มีพวกหนูเป็นเด็ก ๆ ร้อยละ 25 เราอยากได้โลกที่ยั่งยืน เด็ก ๆ จะได้มีอนาคตที่ดีกว่า เราไม่อยากได้อนาคตที่เต็มไปด้วยพลาสติก

เราต้องไม่กลัวที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ทำอยู่เพื่อให้โลกดีขึ้น และถ้าการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ศัตรูของเรา ทำไมเราไม่เริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ เงินซื้อโลกกลับมาไม่ได้ ถึงมันยากแต่เราต้องพยายาม ต้องเปิดใจว่าไม่มีกำแพงถ้าจะปกป้องโลก
“สุดท้ายนี้หนูอยากจะฝากถึงผู้ใหญ่ทุกท่านว่า จะทำอะไร ช่วยคิดถึงเด็ก ๆ อย่างพวกหนูที่จะเติบโตขึ้นมาในโลกอนาคตด้วย”

SD Symposium 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’ ปีนี้ ทุกภาคส่วนกว่า 1,500 คน มีทั้งผู้ที่ก่อให้เกิดขยะ ผู้จัดเก็บขยะ ผู้คัดแยกขยะ และผู้รีไซเคิล จึงได้ร่วมกันระดมสมองหาแนวทางการจัดการปัญหาขยะ และได้สรุปเป็นแนวทางนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีฯ 4 ข้อ เพื่อเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ได้แก่

1.ยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานรองรับการบริหารจัดการขยะ โดยหน่วยงานภาครัฐควรมีบทบาทสนับสนุนยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐาน และจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้การบริหารจัดการขยะแบบคัดแยกทั้งในชุมชน และที่ใกล้แหล่งน้ำมีประสิทธิภาพครบวงจร

2.ผลักดันให้ภาคธุรกิจผลิตสินค้าที่เอื้อต่อการรีไซเคิล มีมาตรฐานคำนึงถึงขยะที่จะเกิดขึ้นหลังการใช้งานว่าให้สามารถนำมาหมุนเวียนและเพิ่มมูลค่าได้

3.รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจ ให้ประชาชนลดการสร้างขยะและเพิ่มการรีไซเคิล โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เริ่มมีแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นหลักสูตรภาคบังคับในทุกระดับชั้น

4.การบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด กำหนดวันจัดเก็บขยะตามประเภท การห้ามทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ มีกฎหมายมาตรฐานฉลากผลิตภัณฑ์ให้ผู้ผลิตต้องแจ้งข้อมูลวิธีการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์หลังใช้งานตามประเภทของวัสดุ

“หากข้อเสนอเหล่านี้ได้รับการพิจารณาและดำเนินการต่อไป เชื่อมั่นว่าวิกฤตขยะจะลดน้อยลง ลูกหลานของเราจะมีโลกจะน่าอยู่ขึ้น เพราะเราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นร่วมกัน”

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นความพยายามของทุกภาคส่วนร่วมระดมสมองแก้ไขปัญหา โดยภาครัฐจะทำหน้าที่หลักในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และเอื้อต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ ควบคู่การส่งเสริมพฤติกรรมผู้บริโภค ส่วนภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกระบวนการผลิตรวมทั้งการพัฒนาโมเดลธุรกิจที่ผสมผสานนวัตกรรม และภาคประชาชนต้องปรับพฤติกรรม สร้างขยะให้น้อยลง และคัดแยกขยะ ส่วนการเก็บขยะ ไม่เทรวม ไม่ทิ้งรวม ต้องแยก ก็ได้มอบให้กระทรวงมหาดไทยไปแก้ปัญหาตรงนี้

“ท้ายที่สุด การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายใต้การดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วน จะทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยพึ่งพาทรัพยากรน้อยลง เพื่อชีวิตและสังคมที่ดีของทุกคน โดยไม่ทิ้งภาระไว้ให้ลูกหลานของเรา และผมในฐานะผู้นำภาครัฐ จะนำสิ่งที่ทุกท่านได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมความคิดในวันนี้ ไปส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับใช้ ตลอดจนสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้ เพื่อร่วมกันผลักดันสู่การลงมือปฏิบัติจริงให้ได้ต่อไป”

เนื้อหาเกี่ยวเนื่อง

You Might Also Like