CIRCULAR ECONOMY

ศิลปะหมุนเวียนทรัพยากรได้ ไม่ให้เกิดขยะ @ SD Symposium 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’

6 กันยายน 2562…ในงานอีเวนท์แต่ละงาน สิ่งที่เราเห็นเหมือนกันคือ Backdrop ของงาน เมื่อจัดงานเสร็จแล้วก็รื้อและนำไปทิ้งนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่งาน SD Symposium 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’ ของเอสซีจี ได้เปลี่ยนจากความเคยชินเข้าสู่ Circular Economy ด้วยแนวคิดว่าศิลปะสามารถเกิดจากการ Reuse และ Recycle ได้

ความเคยชินตั้งแต่ Backdrop ยังเป็นชิ้นงานโฟมในอดีต เปลี่ยนมาเป็นกระดาษหรือวัสดุอื่นซึ่งเป็นการสร้างขยะจำนวนมาก ต่อเมื่อมีงานอีเวนท์ใหม่ขึ้นมา ก็ทำ Backdrop ใหม่อีกครั้งแล้วลงสู่ถังขยะในตอนท้ายเช่นเดิม

ทำอย่างไรจะ “ลดขยะ” ในการจัดงานอีเวนท์ได้บ้าง? นั่นคือสิ่งที่สอดคล้องกับงาน SD Symposium 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’ ซึ่งมีแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เป็นแกนหลัก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับข้อเสนอแนวทางการจัดการวิกฤตขยะจากเอสซีจี

คำถามข้างต้นก็เกิดขึ้นกับ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ หรือเอ๋ ศิลปินที่ทำงานศิลปะจากของเหลือใช้ เมื่อนึกถึง Backdrop ในงานอีเวนท์

สิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้นมาจากรูปแบบการใช้ชีวิต และการบริโภคแบบเส้นตรง (Linear Economy) หรือ นำมา-ผลิต-ทิ้งไป (Take-Make-Dispose) ก่อให้เกิดมลภาวะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนทำให้เกิดความกังวลว่าทรัพยากรจะหมดไป

ส่วนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นแนวทางที่เปลี่ยนกระบวนการของการผลิต การบริโภค และการใช้ชีวิต เพราะผู้ผลิตจะต้องมีความคิดสร้างสรรรค์ มีนวัตกรรม ออกแบบวัสดุ ผลิตภัณฑ์ ระบบ และโมเดลทางธุรกิจใหม่ ให้เป็นมิตรกับธรรมชาติ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุดและส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการของเสีย ให้ถูกนำกลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสมในรูปแบบ ผลิต-ใช้-วนกลับ (Make-Use-Return)

“เรามองไปถึงการใช้ของที่มีอยู่แล้วดีไหม ในการนำมาทำเพื่อเป็นชิ้นงาน จึงมีไอเดียว่า เราจะเอาขยะมาทำเป็น Backdrop คือ Key Visual ของงาน”

วิชชุลดา ขยายความถึงขั้นตอนการทำงานว่า จะเริ่มจากไปดูโรงเก็บขยะจากชุมชนรอบโรงงานของเอสซีจี และภายในเอสซีจี สำนักงานใหญ่ (บางซื่อ) ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ โดยเป็นขยะสะอาด ซึ่งมีทั้งลังกระดาษ พลาสติก กระป๋องน้ำอัดลมที่ดื่มแล้ว ฯลฯ โดยวัสดุที่เลือกเป็นหลัก ประกอบด้วย

1.กระป๋องน้ำอัดลม รวมประมาณ 70%
2.แกนกระดาษทิชชูในห้องน้ำ ประมาณ 20%
3.ขวดพลาสติก PET
4.หลอดพลาสติก
5.ฝาขวดพลาสติก
6.แก้วพลาสติก
7.แห, อวนพลาสติก

เมื่อเลือกวัสดุที่สะอาดมาระดับหนึ่ง ถึงเวลาหน้างานก็ต้องแยกขยะ นำไปทำความสะอาดอีกครั้ง โดยกระป๋องน้ำอัดลมนั้นทำความสะอาดยากที่สุด ความสนุกเกิดขึ้นในการจัดการอย่างระมัดระวัง เมื่อเห็นลูกหนูเล็กๆ ตัวเป็นๆ 6 ตัวในกระป๋องน้ำอัดลม แต่ไม่มีแม่หนู!

“สไตล์การทำงานของเอ๋จะเลือกวัสดุก่อน เพราะในแง่งานศิลปะ สวยดี อย่างตัวกระป๋องเราชอบ Texture ของมัน เวลาบุบลงไปจะสะท้อนแสงได้ดี เหมือนกับสีเงิน ๆ เวลาถูกแสง จะวิบ ๆ วับ ๆ เอ๋มองว่าตรงนี้น่านำมาเป็นลูกเล่นอะไรบางอย่างได้ หากใช้วัสดุอื่น ๆ อาจจะไม่วิบวับเท่า ส่วนขวดพลาสติก PET มีความลึก ความหนาของขวดเวลาเขาขึ้นรูปขึ้นมา เอ๋ว่ามันเป็นเสน่ห์ เวลาถูกแสงไฟจะสะท้อนออกมาเป็นแสงหักเห มีความสวยงาม เมื่อถึงเวลาลงมือทำงานก็เป็นการ Improvised หน้างาน”

วิชชุลดาเล่าต่อเนื่องถึงกระบวนการทำงาน Backdrop ซึ่งเป็น Key Visual ของงาน เป็นภาพลักษณ์ของงาน ดังนั้นจะต้องให้คนเห็นแล้วปัง!

การทำงาน Backdrop รียูส

กระป๋องน้ำอัดลมมีสีสันสวยงาม เห็นแล้วสะดุดตา โดยไม่ต้องพ่นสีหรือทำอะไรเกี่ยวกับสีเลย เมื่อนำกระป๋องที่ถูกตีให้แบนมากแบนน้อย มาวางติดกันมากๆ ในพื้นที่ด้านหลัง ซึ่งกระป๋องที่ถูกตีไม่แบนมาก จะช่วยให้เกิดการหักเหของแสง

ในขณะที่ขวดพลาสติก ทำเป็นพุ่ม ๆ แล้วค่อยนำไปติดโดยการเจาะเป็นรู ใช้ลวดผูกติดกับโครงไม้ด้านหลัง เช่นเดียวกับทุกวัสดุที่ใช้ ส่วนลูกศรหมุนเวียนที่เป็นสัญลักษณ์ของงาน ก็ใช้ฝาขวดพลาสติก วางเรียงติด ๆ กัน โดยให้สีของฝาขวตัดกันเอง

เมื่อดูภาพรวมของงานเสร็จแล้ว ก็ใส่ไฟสีแดง เพราะในมุมความเป็นศิลปะ สีที่เป็นคู่ตรงข้ามสีฟ้าและสีเขียวก็คือสีแดง ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างโดดเด่นขึ้นมา นอกจากนี้สีแดงยังสื่อถึงสีหลักของเอสซีจี

ส่วนหลอดดูดที่ใช้ตกแต่งโพเดียมที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้กล่าวปิดงานนั้น มาจากโจทย์ที่ต้องการตกแต่งโพเดียมจากลังกระดาษให้สวยงาม วิชชุลดาเลือกใช้หลอดดูดหลากหลายสี ตัดเป็นชิ้น ๆ ติดลงไป เช่นเดียวกับฝาขวดพลาสติกจะติดอยู่อีกด้านของโพเดียม

ทั้งนี้หลอดดูดเหล่านี้มีทั้งจากถังขยะ และหลอดที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ในมุมมองของวิชชุลดาก็ถือว่าสิ่งนี้ก็เป็นขยะ ดังนั้นขยะจึงไม่จำกัดเพียงว่าของที่ใช้ หรือกิน แล้วทิ้ง เท่านั้น

สีสันของหลอดดูดและฝาขวดตกแต่งโพเดียม

Signature งานศิลปะของวิชชุลดาคือสีโทนร้อน ก็ใส่ลายเส้น ไฟสีแดง ก็จะถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ลงในชิ้นงาน ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างจากสีในโทนของ Circular Economy หรือมุมของการรักษ์โลก ที่ปกติมักจะใช้สีเอิร์ธโทน น้ำตาล เขียว แต่วิชชุลดาต้องการพลิกมุมคิดว่า “ความรักษ์โลกสนุกได้นะ” แม้แต่แกนกระดาษสีน้ำตาลที่ใส่เข้าไปก็สนุกได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้พ่นสีเลย สาเหตุที่สนุกได้เพราะเกิดจากการจับคู่สีกันดังที่กล่าวข้างต้น

“สิ่งที่เอ๋ตั้งใจสื่อสารในโจทย์ครั้งนี้คือให้คนตระหนักว่าฉันจะไม่ทิ้งขยะอีก และเอ๋ต้องการให้คนที่เห็นเกิดความรู้สึกว่า ของที่เราใช้ไปสามารถนำกลับมาเพิ่มมูลค่าได้ โดยเฉพาะองค์กรที่จะมีอีเวนท์บ่อย ๆ เมื่อเห็นงานชิ้นนี้เชื่อว่าจะฉุกคิดได้ว่า ฉันไม่ต้องทำของใหม่ก็ได้นะ ของที่มีอยู่แล้วนำมาสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้ เพราะทุกอย่างสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ได้ทั้งหมด เพียงใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไป”

หลังจากจบงาน ย่อมต้องมีคำถามต่อว่า Backdrop และโพเดียมจะไปไหนต่อ ?

คำตอบคือตอนนี้ Backdrop ถูกนำกลับมาตั้งที่อาคาร 100 ปีเอสซีจี ที่เอสซีจีสำนักงานใหญ่ (บางซื่อ) พร้อมที่จะหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ทุกครั้งที่มีการจัดงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน

“ทั้งหมดนี้เอ๋อยากให้มองว่าคืองานศิลปะ สามารถเก็บรักษา โดยการปัดฝุ่นเก็บธรรมดา ล้างน้ำได้เลย หากตั้งอยู่ในตัวอาคาร แต่ถ้าเบื่อ ไม่ใช้แล้ว ทำอย่างไร ก็ถอดออกเป็นชิ้น แกะลวดดึงของออก ซึ่งของทุกชิ้นไม่ได้พ่นสีเพราะจะทำให้รีไซเคิลยากหรือไม่ได้เลย นั่นหมายถึงว่า ของทุกชิ้นที่เห็นอยู่บน Backdrop และโพเดียม เมื่อแกะออกมาแล้ว สามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ทั้งหมด หรืออาจจะแกะออกมาแล้วนำไปทำเป็นชิ้นงานใหม่ขึ้นมาก็ได้เช่นกัน เป็นการรียูส จะได้ลดการใช้ของใหม่ ซึ่ง Backdrop ถอดประกอบได้ 8 ชิ้น เป็นระบบน๊อคดาวน์”

Backdrop รียูส พร้อมติดตั้ง และถอดเก็บนำไปใช้อีกครั้งหนึ่ง หรือสร้างสรรค์งานศิลป์ใหม่จากของเหล่านี้

เมื่อขยะไม่มีวันหมดไปจากโลก ตราบใดที่ยังมีมนุษย์บนโลก ดังนั้นเราจะจัดการขยะได้อย่างไร นั่นคือการนำขยะกลับมาใช้ซ้ำ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเนื้อแท้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ขยะ แต่เป็นเพราะพฤติกรรมของผู้บริโภค เราจะทำอย่างไรไม่ให้ขยะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นเราจะต้องคิดว่าขยะที่เกิดแล้ว เราจะเอามาทำอะไรได้บ้าง

“เอ๋ไม่ใช่นักสร้างนวัตกรรม แต่เป็นศิลปิน สามารถเปลี่ยนขยะแต่ละอย่างให้มีความสนุกและสร้างสรรค์ได้เรื่อย ๆ ศิลปินทำงานเรื่องนี้เพื่อให้คนฉุกคิดได้ และไปพัฒนาต่อว่าจะทำอะไรได้ต่อปัญหานี้ ซึ่งเศรษฐกิจหมุนเวียนคือส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาที่สำคัญมาก เพราะคนมากก็ใช้ทรัพยากรมากขึ้น และทรัพยากรกำลังจะหมดไป เราต้องใช้เท่าที่จำเป็น และให้คุ้มค่า นั่นคือการนำเอาขยะกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์”

เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อแนะนำ สร้างความรู้ความเข้าใจ ให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกันได้นำไปปรับใช้ในรูปแบบที่เหมาะสมกับตนเอง เช่นเดียวกับงานศิลปะทั้ง 2 ชิ้นในงาน SD Symposium 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’

เนื้อหาเกี่ยวเนื่อง

You Might Also Like