CIRCULAR ECONOMY

พรม”ทอมือ”จากขยะขวด PET ในทะเลรายแรกของโลก พร้อมใช้ตกแต่งภายใน

23 กันยายน 2562….ผลิตภัณฑ์ Upcycling ดังกล่าวเกิดจาก ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) และคาร์เปท เมกเกอร์ (ประเทศไทย) เพื่อช่วยลดปัญหาขยะ และเพิ่มมูลค่าให้กับขยะหลากหลายรูปแบบ ตอกย้ำแนวคิด Sustainnovation ในงาน Upcycling For a Better World

พรมทอมือมีส่วนผสมขยะขวดพลาสติกจากท้องทะเล มาจากต้นทางนำขยะขวดพลาสติกมาผ่านกระบวนการ Upcycling นั้น เกิดจากแนวทางSustainnovation คือการค้นหานวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนในทุกโครงการของ MQDC หรือบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เจ้าของ RISC ซึ่งไม่เพียงจะให้ความสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้าง พร้อมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาทำให้เกิดประโยชน์ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC มีการนำหลัก Circular Economy มาปรับใช้พร้อมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนหันมาใช้ชีวิตในรูปแบบ GC Circular Living

เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การทำงานที่ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของแต่ละธุรกิจ

“ขยะทะเลมีปัญหามากจริง ๆ ก็พยายามทำทุกอย่าง ทำขอบถนนก็ทำแล้ว ทำถนน ทำทางเดิน แต่เราดูแล้วว่า ทุกอย่างที่ทำคนไม่ตื่นเต้น คนในหลายอุตสาหกรรมไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้มากนัก เรามองว่า เราจะคุยกับหัวใจเขาอย่างไร เลยคิดว่าควรทำสิ่งที่เขาจับต้องได้ เอาตัวไปโดนได้ อยู่ใน Interior Environment นำขยะขวดพลาสติกมาผ่านกระบวนการ Upcycling ผลิตภัณฑ์ของเขาให้ได้”

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ในฐานะผู้จัดงาน ขยายความเพิ่มเติม RISC

Sustainnovation

RISC คือหน่วยงานวิจัยที่ให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และการแบ่งปันองค์ความรู้ ที่มีนักวิจัยหลากหลายด้าน ร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรในการคิดค้น และพัฒนาแนวทางวิธีการกำจัดขยะ โดยนำนวัตกรรมกับเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้เพื่อช่วยลดปัญหาขยะและเพิ่มมูลค่าให้กับขยะหลากหลายรูปแบบ

“คนนำขยะขวด PET ทำเสื้อผ้ากันมาก โดยเสื้อผ้า 1 ตารางเมตรใช้ขยะขวด PET เพียง 500-600 ขีด ขยะหมดช้า เราเก็บจากทะเลมากับ GC ด้วยเป็นตัน ๆ ทำอย่างไรดี ทำพรมน่าจะดีกว่า เพราะว่า 1 ตารางเมตร ต้องใช้ด้าย 2-3 กิโลกรรมแสดงว่าถ้าเรามีขยะมาก แล้วเอาไปไว้ในสิ่งที่ต้องผลิตแล้วใส่ขยะมาก ๆ จะช่วยลดขยะลงไปได้มาก ก็พยายามหาคนที่จะช่วยเราทำพรมได้ จนพบคาร์เปท เมกเกอร์ คุยนานมาก เขานึกภาพเราไม่ออก เราก็ก็สงสัยว่าเขาทอมือพรมอย่างไร จนะกระทั่งไปเยี่ยมโรงงานเขา เห็นกระบวนการต่าง ๆ มั่นใจว่าทำได้ ก็คุยกัน”

รายละเอียดเช่น แรงบันดาลใจ จำนวนขวด PET ฯลฯ ทำให้เกิดพรมทอมือจากขยะขวด PET ในทะเลรายแรกของโลก

สุนทร ไกรตระกูล ประธานกรรมการ บริษัท คาร์เปท เมกเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขยายมุมมองต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวปัจจุบัน ไม่แตกต่างจากที่ทุกคนกังวลว่า ขยะพลาสติกมีความรุนแรง และมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ ซึ่งการร่วมแก้ปัญหาจะต้องมีความร่วมมือและลงมือทำ

“เมื่อได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.สิงห์ RISC ก็ได้เห็นโอกาสที่ผมจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ผมชอบคำว่า Upcycling มันดูต่างจาก Recycle เพราะมันเป็นการเปลี่ยนสิ่งที่เป็นปัญหาให้กลายมาเป็นของที่มีคุณค่าสูงขึ้น”

Carpet Maker ระดมทีม R&D นักออกแบบ และส่วนที่เกี่ยวข้องของบริษัท ซึ่งมีฝีมือและความเชี่ยวชาญ นำเอานวัตกรรม และเทคนิคการผลิตพรมทอมือที่มีมากว่า 30 ปีผสมผสานกับการออกแบบของดีไซน์เนอร์ชั้นนำ เพื่อทำให้เกิดพรมทอมือ Upcycling Carpet ที่มีดีไซน์สวยงาม หรูหรา คุณสมบัติที่โดดเด่นประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะกับโอกาสและสถานที่ต่าง ๆ และแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล

“ยอมรับว่าการทำพรม Upcycling ต้นทุนสูงขึ้น 5-10% แต่ไม่ได้มีนัยยะ ส่วนในกระบวนการทำงาน ของใหม่แบบนี้ก็ยากเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว แต่ทีมงานเราทุกคนที่เกี่ยวข้องเต็มที่ เพราะรู้สึกว่าเนื้อหาที่เราทำเป็นสิ่งที่ดี ทีมงานผมดีใจมาก เราสามารถเตรียมงานสั้นมาก แต่ก็ออกมาได้ดีกว่าที่ผมคิด”

พรมทอมือที่ทำจากเส้นใยแปรรูปขยะขวดพลาสติกจากทะเลมาเป็นผลิตภัณฑ์พรมที่มีคุณสมบัติที่ดีกว่าพรมทั่วไปในท้องตลาด อาทิ ป้องกันคราบสกปรก เชื้อรา นุ่ม ดูแลง่ายและป้องกันไฟในระดับมาตรฐานสากล ASTM D2859 เป็นต้น

ด้วยเหตุที่ Carpet Maker เป็นบริษัทที่ผลิตพรมคุณภาพสูงที่ส่งให้กับบริษัทชั้นนำทั่วโลก และสถานที่สำคัญ เช่น พระราชวัง เรือ Super Yacht Private Jet รวมทั้ง Hi End Fashion หลาย Brand ดัง ๆ ในยุโรป ดังนั้นทันทีที่ผลิตพรมทอมือ ทำจากเส้นใยแปรรูปขยะขวดพลาสติกจากทะเล ลูกค้าของคาร์เปท เมกเกอร์ สนใจที่จะนำพรมชุดนี้ไปจัดแสดง ในอังกฤษ อีกทั้งลูกค้าแบรนด์เนมระดับโลก ที่ใช้พรม Carpet Maker ในการตกแต่งสาขาโชว์รูมทั่วโลก สุนทรเริ่มต้นเสนอลูกค้าให้เปลี่ยนมาใช้พรมทอมือที่ทำจากเส้นใยแปรรูปขยะขวดพลาสติกจากทะเล เป็นที่เรียบร้อย และแน่นอน ลูกค้าแบรนด์เนมล้วนสนใจ

รศ.ดร.สิงห์ ยืนยันว่า นับเป็นพรมทอมือ เป็นรายแรกของโลกที่มาจากการ Upcycling ยุโรปจะทำเป็น Industry Process เขาจะบาลานซ์ว่า ชุมชนต้องอยู่ได้ สร้างงานให้ชุมชน เป็นการทำงานแบบเครื่องจักรตั้งแต่ปั่น เย็บ ส่วนที่เมืองไทย ใช้มือ มือทอ มือยิง ยุโรปจะใ้ช้มือต่อเมื่อเป็นขนสัตว์
“สำหรับพรมที่เห็นเป็นขยะที่เราใช้ 100% เพราะฉะนั้นรีไซเคิลง่ายมาก เมื่ออยู่ในงานตกแต่ง นาน ๆ ซักที เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราเลือกใช้ เพื่อไม่ให้ปล่อยไมโครไฟเบอร์ออกไป ตอบโจทย์ Upcycling For a Better World”

รศ.ดร.สิงห์ กับผลิตภัณฑ์จากงาน R&D ของ RISC โดยนำความคิดสร้างสรรค์ รสนิยมที่ดีมาใส่ในวัสดุ Recycle

Upcycling For a Better World

วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวว่า ความมุ่งมั่นตั้งใจของ MQDC นับตั้งแต่เริ่มต้นบริษัทภายใต้แนวคิด For all Well-being รู้ว่าการก่อสร้างอาคารหนึ่งหลังใช้ทรัพยากรจำนวนมาก และสร้างขยะจำนวนมากเช่นกัน ที่ผ่านมา MQDC พยายามหารูปแบบการก่อสร้างสมัยใหม่มาใช้ในอาคารทุกโครงการ เพื่อลดปริมาณขยะ แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพของการก่อสร้างที่ดีจนได้รับข้อมูลเรื่องวัสดุก่อสร้างในรูปแบบ Upcycling ที่ทำจากขยะ จากทีมวิจัยของ RISC โดย MQDC และพันธมิตร

“เราได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรม Upcycling เพื่อใช้ในโครงการต่าง ๆ ด้วยการใช้วัสดุก่อสร้างจากขยะพลาสติก เช่น อิฐปูทางเท้า พื้นปูถนน ที่รับน้ำหนักและทนทานไม่ต่างจากอิฐหรือบล็อกปูถนนปกติที่ใช้กันอยู่ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในไทยที่วงการอสังหาริมทรัพย์นำพลาสติกที่ผ่านกระบวนการ Upcycling มาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างในโครงการ และยังเตรียมขยายการใช้พลาสติกมาเป็นส่วนผสมของวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นมิติใหม่ของการก่อสร้าง และเราเชื่อว่าจะทำให้อสังหาริมทรัพย์เติบโตควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมที่ดีได้”

วิสิษฐ์ ย้ำว่า การผนึกกำลังกับพันธมิตร Upcycling ในการนำวัสดุที่ใช้แล้ว นำไปพัฒนาเป็นองค์ประกอบอาคารส่วนต่าง ๆ ให้กับอสังหาริมทรัพย์ในโครงการต่าง ๆ ทั้งภายในอาคารจนถึงภายนอกอาคาร ตั้งแต่ผนังห้อง หลังคา เฟอร์นิเจอร์ ทางเดินเท้า และส่วนตกแต่งพื้นที่สีเขียวของโครงการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน” หรือ Circular Economy ที่นำผลิตภัณฑ์และวัสดุที่ใช้แล้วมาใช้ซ้ำเพื่อทำให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง

วราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวถึงการดำเนินธุรกิจภายใต้หลัก Circular Economy หรือเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน โดยให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนสามารถร่วมมือกันได้ รวมไปถึงการบริหารจัดการขยะผ่านการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นแนวทางที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนโลกของเราให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน

“สำหรับ GC มีเป้าหมายปี 2562-2566 จะลดการผลิตเม็ดพลาสติก Single Use 250,000 ตัน/ปี เหลือ 100,000 ตัน/ปี ปัจจุบันลงทุนสัดส่วน 70% กับ ALPLA ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล โดยใช้พลาสติกจากทะเล 65,000 ตัน/ปี มารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกใหม่ระดับ Food Grade 45,000 ตัน/ปี ที่ผ่านมานับตั้งแต่เริ่มโครงการ Upcycling the Ocean เมื่อ 3ปีที่แล้ว GC เก็บขยะพลาสติก PET ในทะเลไทยได้ 1,000 ตัน/ปี นำมาผลิตเสื้อยืด กระเป๋า และเครื่องแต่งกายอีกหลายอย่าง มียอดขายประมาณ 20 ล้านบาท”
การร่วมมือกับ RISC และ MQDC นับเป็นก้าวสำคัญของ GC สู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากวัสดุ Upcycling จะถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ช่วยจุดประกายและสร้างความตื่นตัวให้กับสังคม ด้วยคุณสมบัติของวัสดุที่คงทน แข็งแรง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“ครั้งนี้หน้าที่หลักของ GC คือการร่วมพัฒนาด้าน Upcycling Material สำหรับการตกแต่งบ้านและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาทิ Upcycled Carpet พรมที่ทอโดยเส้นใย Recycle ที่มาจากขวดน้ำ PET, Concrete Edging Block for Curbs and Walkways บล็อกคอนกรีตผสมขยะพลาสติกสำหรับถนนและทางเดิน และ Landscape Elements การพัฒนาวัสดุตกแต่งภูมิทัศน์รอบอาคารจากขยะพลาสติก เช่นคอนกรีตและวัสดุไม้เทียมจากขยะพลาสติก เป็นต้น”

รศ.ดร.สิงห์ กล่าวในท้ายที่สุดว่า พื้นที่แห่งนี้จึงไม่ได้มีเพียงการ Recycle ซึ่งเป็นงานระบบเชิงวิศกรรมศาสตร์ หรือเคมี หากเป็นพื้นที่ Upcycling ที่นักออกแบบนำความคิดสร้างสรรค์ รสนิยมที่ดีมาใส่ในวัสดุที่เป็นความฉลาดของวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งก็เกิดสินค้า พรมทอมือจากขยะขวด PET ในทะเลรายแรกของโลกเช่นนี้

 

 

You Might Also Like