NEXT GEN

เผย 3 เสาหลัก Sustainable Banking ของไทยพาณิชย์

16 กันยายน 2562…นับเป็นปีที่ 2 ของธนาคาร ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI 2019 ในกลุ่ม World Index & Emerging Markets ติด Top 10 Sustainability Leaders หมวดธุรกิจธนาคารทั่วโลก 175 แห่ง


อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์ของธนาคารในการมุ่งสู่การเป็นธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด (The Most Admired Bank) ธนาคารมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีควบคู่กับการคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งธนาคารตระหนักดีว่าธุรกิจที่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนนั้นมิใช่ธุรกิจที่มุ่งเน้นเพียงผลประกอบการที่ดีเท่านั้น หากแต่เป็นธุรกิจที่สามารถปรับตัวภายใต้บริบทของความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังคำนึงถึงความสมดุลที่จะสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนและเป็นธรรมแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน

“ธนาคารเชื่อว่า แนวปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนนั้นจะต้องถูกบูรณาการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยไม่ถือว่าเป็นภาระหรือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ธนาคารจึงได้มีการยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนด้วยการผสานแนวคิดด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการดำเนินธุรกิจของธนาคาร และมีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม สามารถวัดผลสำเร็จได้ โดยมีแนวทางการดำเนินกิจการบนเส้นทาง ธนาคารเพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainable Banking ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ Sustainable Finance , Financial Inclusion , Financial Literacy”

 

Sustainable Finance การสนับสนุนทางการเงินที่ยั่งยืน โดยผนวกการพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาให้สินเชื่อแก่ทุกกลุ่มธุรกิจควบคู่ไปกับการพิจารณาผลตอบแทนทางการเงิน

ธนาคารยังมุ่งสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจหรือโครงการที่ช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง

ธนาคารได้มีการจัดทำรายการสินเชื่อต้องห้าม (Exclusion List) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของธนาคารในการไม่สนับสนุนสินเชื่อแก่ธุรกิจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ และผลิตหรือจำหน่ายอาวุธทำลายล้างสูง

Financial Inclusion การสนับสนุนให้ประชาชนคนไทยทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินในระบบได้อย่างทั่วถึง ทั้งลูกค้าทั่วไป ลูกค้า SME รวมถึงลูกค้าที่ไม่มีหลักประกัน

ธนาคารได้นำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และการเรียนรู้ด้วยเครื่อง (Machine Learning) เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมและวินัยทางการเงินของลูกค้า เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาสินเชื่อ ส่งผลให้ลูกค้าที่ไม่มีหลักประกันซึ่งเดิมไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินในระบบ ได้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินที่เหมาะสมกับความสามารถในการบริหารจัดการทางการเงินของตนเองภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม

Financial Literacy การส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจด้านการเงินแก่ลูกค้าและสังคมไทย ผ่านแนวทางการสื่อสารที่ครอบคลุมทั้งช่องทางออนไลน์และสื่อต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงเนื้อหาความรู้ทางการเงินที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตน โดยมีรูปแบบการนำเสนอที่เข้าใจง่าย ช่วยให้ประชาชนสามารถนำแนวคิดไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันหรือการดำเนินธุรกิจได้

อีกทั้ง ธนาคารได้มีการปรับใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อส่งเสริมวินัยทางการเงินผ่านแอปพลิเคชัน “เก็บหอม” ที่ช่วยให้การออมเป็นเรื่องง่าย และสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่

“ความสำเร็จดังกล่าว ตอกย้ำความมุ่งมั่นของธนาคารในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสร้างความยั่งยืนอย่างรอบด้าน ธนาคารตระหนักดีว่า ในฐานะตัวกลางภาคการเงินที่มีบทบาทสำคัญในการส่งมอบคุณค่าแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม ธนาคารจึงมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการกับความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ภายใต้พันธกิจบนเส้นทาง“ธนาคารเพื่อความยั่งยืน” อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของสังคมไทยโดยรวมด้วยเช่นกัน”

ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ DJSI เป็นความร่วมมือของ S&P Dow Jones Indices และ RobecoSAM ที่ประเมินผลการดำเนินงานขององค์กรตามแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืน ครอบคลุม 3 มิติ ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับผลการดำเนินงานด้านการเงินของบริษัท

 

You Might Also Like