NEXT GEN

กสิกรไทย ธนาคารแรก ประกาศประเมินความเสี่ยงต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ให้สินเชื่อ และลงทุนภายใต้ ESG

30 มกราคม 2563… ธนาคารกสิกรไทยรุกบริหารจัดการความเสี่ยงเชิงรุก (Proactive Risk Management) ควบคู่กับการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป จึงครอบคลุมทุกมิติการจัดการความเสี่ยงของธุรกิจ

ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย  เปิดเผยว่า ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้ผู้คนเข้าถึงบริการได้สะดวกและง่ายขึ้นทำให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับธุรกิจและไม่เคยหยุดนิ่งเช่นกัน โดย 1 ในนั้นเป็นเรื่อง การจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Integration)

“ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าหมายการเป็นพลเมืองที่ดีของโลก เพื่อสร้างผลลัพธ์และคุณค่าที่ยั่งยืนแก่สังคมและประเทศชาติ ด้วยการดำเนินงานบนรากฐานของการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืนที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดีและการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม เช่น การมีนโยบายและกระบวนการการให้สินเชื่อที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และมีการกำหนดประเภทเครดิตที่ธนาคารไม่ให้การสนับสนุนสินเชื่อ (Exclusion List) เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารจะไม่สนับสนุนกิจการที่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และต่อชื่อเสียงของธนาคาร”

 

ปรีดี ดาวฉาย (ที่ 2 จากซ้าย) ขัตติยา อินทรวิชัย (กลาง) พิพิธ เอนกนิธิ (ที่ 2 จากขวา) พัชร สมะลาภา (ซ้าย) กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และ เรืองโรจน์ พูนผล (ขวา) ประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ธนาคารประจำปี 2563

ขณะเดียวกันธนาคารซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทางในการส่งเสริมสังคมให้ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว ยังได้ส่งเสริมการสร้างผลกระทบเชิงบวกจากโอกาสทางธุรกิจ (Positive Impact Financing) โดยธนาคารให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจที่คำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ดังนี้

-สินเชื่อพลังงานทดแทน ได้แก่ สินเชื่อพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล พลังงานขยะ เป็นต้น โดยในปี 2562 ธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อกว่า 6,300 ล้านบาท กำลังการผลิตกว่า 800 เมกะวัตต์ ตั้งเป้าหมายปี 2563 จะมีส่วนแบ่งการตลาดด้านกำลังการผลิต (เมกะวัตต์) เป็น 15% ของตลาดในประเทศ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของประเทศไทย

-สินเชื่อเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สินเชื่อเพื่อติดตั้ง Solar Rooftop สินเชื่อเพื่อปรับปรุงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน สินเชื่อเพื่อปรับปรุงกระบวนการเพื่อลดการใช้พลังงานในสถานประกอบการ เป็นต้น ในปี 2562 ธนาคารมีการให้สินเชื่อกว่า 2,000 ล้านบาท ตั้งเป้าปี 2563 จะมียอดสินเชื่อที่ 2,400 ล้านบาท

-สินเชื่อเพื่อการสนับสนุนด้านสังคม ได้แก่ โครงการสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงบริการพื้นฐานที่จำเป็นในสังคมเป็นการสนับสนุนเงินกู้ให้แก่ผู้เกษียณอายุ โครงการสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในสังคม (Employment Generation) เป็นการสนับสนุนกลุ่มเอสเอ็มอีและกิจการร้านค้าย่อยรายเล็กในชุมชน โครงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นต้น ในปี 2562 ธนาคารให้สินเชื่อกลุ่มนี้รวมกว่า 7,600 ล้านบาท และตั้งเป้าปี 2563 จะมียอดสินเชื่อที่ 7,730 ล้านบาท

ธนาคารมียอดการออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน มาตั้งแต่ปี 2561 จำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และตั้งเป้าหมายว่าธนาคารจะออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนเพิ่มเติมอีกในอนาคต นอกจากนี้ ธนาคารได้มีการลงทุนในหุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) ในปี 2562 มูลค่า 1,841 ล้านบาท และตั้งเป้าจะลงทุนในปี 2563 เพิ่มเติมอีก 300-500 ล้านบาท

ปรีดี กล่าวในท้ายที่สุดว่า จุดแข็งของกสิกรไทยในเรื่องการบริหารความเสี่ยงก็คือ มุ่งเสริมสร้างการบริหารความเสี่ยงให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร (Risk Culture) สร้างวินัยที่ดีในการบริหารความเสี่ยง ทำอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในทุก ๆ การตัดสินใจและการดำเนินงาน จนฝังรากลึกเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกสิกรไทย เพราะความเสี่ยงไม่เคยหลับ จึงตื่นอยู่เสมอเพื่อจัดการความเสี่ยง

เนื้อหาเกี่ยวเนื่อง KBank Sustainable Banking

 

 

You Might Also Like