NEXT GEN

ESG เป็นอีก 1 ปัจจัยที่ไทยจะต้องมี เพื่อสามารถแข่งขันทางการค้าในเวทีระหว่างประเทศ

21 พฤษภาคม 2564…ESG ที่ SD PERSPECTIVES กล่าวถึงข้างต้นคือคำย่อของ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่หลายคนเริ่มคุ้นเคยมากขึ้น ๆ และรู้ว่าไม่ใช่เรื่อง PR. ไม่ใช่ CSR แต่ ESG อยู่ในกระแสทุนนิยมที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้าง (Stakeholder Capitalism) ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มที่คะแนน ESG ที่ไม่ดีนัก เพราะปัญหามลภาวะทางอากาศ ปัญหาการขาดหลักนิติธรรม (Rule of Law) และรัฐที่มีภาระรับผิดชอบ (Accountability) ค่อนข้างต่ำ รวมไปถึงปัญหาคอร์รัปชันที่ทำให้ไทยจะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ยาก

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ต่อเนื่องว่า การดำเนินธุรกิจทั่วโลกจะคำนึงถึง ESG มากขึ้นในระยะต่อไป จะทำให้การลงทุนจากต่างประเทศอาจหันไปมองประเทศเพื่อนบ้านที่มีพัฒนาการด้าน ESG ดีกว่าไทย เป็นอีกหนึ่งปัจจัยบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ไทยอาจพลาดโอกาสได้รับเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศจากความด้อยประสิทธิภาพด้าน ESG ภายใต้กระแส “ความยั่งยืน” ที่จะมีมากขึ้นในอนาคต ไทยจะได้รับแรงกดดันมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่ไทยถูกประเมินค่อนข้างต่ำในด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และความธรรมาภิบาล (ESG indicator  Environment, Social, and Governance)) ที่จัดทำโดย BoFA Global Research จัดให้ประเทศไทยอยู่ใน Quintile ที่ 4 ซึ่งเป็นกลุ่มรองสุดท้าย และอยู่ในกลุ่มที่แย่กว่าประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม อินเดีย มาเลเซีย รวมไปถึง ฟิลิปปินส์

การอยู่ใน Quintile 3 ที่น่าสนใจคือ ไทยอยู่ในกลุ่มเดียวกับจีนซึ่งเป็นประเทศที่เจอแรงกดดันจากบริษัทต่างชาติอย่างหนัก จากกระแส Stakeholder Capitalism ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และภาระรับผิดชอบ (Accountability) ของรัฐ โดย 1 ในประเทศที่กดดันก็คือสหรัฐอเมริกาซึ่งมีความขัดแย้งกับจีน ทั้งในเรื่อง การสอดแนมทางเทคโนโลยี การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การค้าอย่างไม่เป็นธรรม ปัญหาสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึง Stakeholder Capitalism จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เข้ามาตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานมากยิ่งขึ้น และเร่งให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนกลับไปยังสหรัฐฯ หรือกระจายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิค

Cr.KKP Research

สิ่งที่เกิดขึ้นแม้จะเป็นมุม ESG ก็ตาม หาก KKP Research ถือว่า นี่คือ “ลูกหลงต่อเศรษฐกิจไทย เมื่อยักษ์ใหญ่โรมรัน”

ESG ส่งผลดีในแง่การเงิน นวัตกรรม
แม้จะอยู่ในช่วงการระบาดโควิด-19

บริษัทเครือข่ายบัญชีระดับโลก KPMG ประเทศไทย เผยงานวิจัยโดย Morningstar พบว่าในช่วงโควิด-19 ราคาหุ้นขององค์กรที่โดดเด่นด้าน ESG มักสูงกว่าองค์กรอื่นๆ ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่าบรรษัทภิบาลที่ดี ประกอบกับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม ส่งผลที่ดีต่อราคาหุ้น งานวิจัยจาก Nielsen กล่าวว่าตลาดด้านความยั่งยืนในสหรัฐอเมริกาจะมียอดขายแตะ 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภายในปี 2564

นอกจากนี้ ESG ยังมีผลโดยตรงต่อ EBITDA อีกด้วย จากการวิเคราะห์การควบรวมกิจการต่างๆ ภายใต้กลุ่มบริษัทอุปโภคบริโภค เพื่อวิเคราะห์ผลของ ESG ต่อการลงทุน พบว่าการควบรวมกิจการที่มีจุดมุ่งหมายไปด้านความยั่งยืนในระหว่างปี 2560 – 2562 มีกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ที่สูงกว่าการควบรวมกิจการชนิดอื่นถึงร้อยละ 14.4

KPMG ประเทศไทย ยกตัวอย่างธุรกิจอุปโภคบริโภคยังคงสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการดำเนินธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมาย ESG ซึ่งมีตั้งแต่สิ่งที่พบได้บ่อยเช่นการเปลี่ยนจากการใช้กระดาษ เป็นการทำเอกสารออนไลน์แทน ไปจนถึงนวัตกรรมที่เฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละอุตสาหกรรมเช่น การหันมาใช้กลุ่มอาหารโปรตีนทางเลือกที่ทำจากพืชแทนเนื้อสัตว์ และการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) มาใช้ เพื่อเป็นการลดการปล่อยของเสีย เป็นต้น

การกระทำเหล่านี้มีผลต่อการตอบรับของผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่น Good Food Institute (GFI) พบว่ายอดขายของโปรตีนทางเลือกที่ทำจากพืชเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 ในระหว่างปี 2560 ถึง 2562

Cr.GFI

เทรนด์รักษ์โลกมาแรงและมานาน ในสหรัฐอเมริกา ในระหว่างปี 2558 ถึง 2562 สินค้าที่มีจุดเด่นด้านความยั่งยืนคิดเป็นร้อยละ 54.7 ของการเติบโตของตลาดสินค้าที่พร้อมอุปโภคบริโภคทันที (Consumer packaged goods – CPG) แม้ว่าทางด้านปริมาณจะมีส่วนแบ่งแค่ร้อยละ 16.1 ของสินค้า CPG ทั้งหมด

องค์กรใหญ่ๆ เช่น Nestlé, Mars, Danone, Coca-Cola และ PepsiCo มีเป้าหมายที่จะใช้พลาสติกรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์ขององค์กร ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ตอบโจทย์ด้านความกังวลของผู้บริโภคและผู้ออกกฎหมายว่าพลาสติกใช้แล้วทิ้ง (Single-use plastic) เป็นเรื่องอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

โควิด-19 ครั้งนี้ทำให้มุมมองของสังคมกว้างขึ้น และมองครอบคลุมด้านความยั่งยืนอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องของคน พนักงาน ซัพพลายเออร์ และห่วงโซ่อุปทาน เมื่อมีคนทำงานจากบ้านเพิ่มมากขึ้นแทนที่จะต้องเดินทางไปที่ทำงาน และการเดินทางเพื่อธุรกิจเปลี่ยนเป็นการประชุมออนไลน์ ทำให้การเคลื่อนย้ายของกำลังคนที่ลดลงส่งผลดีด้านสิ่งแวดล้อมและสามารถนำไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น

ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ช่องทางการขายตรงให้ผู้บริโภคโดยไม่ผ่านคนกลาง (Direct-to-consumer – DTC) ได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้บริษัทต่างๆ สามารถสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าที่ใกล้ชิด บ่งชี้ ตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขาได้โดยตรง เพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ลูกค้าและความภักดีต่อแบรนด์มากขึ้น หลายๆ องค์กร เช่น Kraft Heinz (Heinz to Home) และ PepsiCo (Snacks.com and PantryShop.com) เปลี่ยนมาใช้ช่องทางการค้า DTC ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มฐานลูกค้าโดยธรรมชาติ (Organic) หรือใช้การซื้อสื่อโฆษณา (Inorganic)

ESG คือ Growth Engine ใหม่ๆ
รับสังคมคาร์บอนต่ำ

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่านอกจากการฟันฝ่าวิกฤตโควิด-19 ยังมีอีก 2 โจทย์ท้าทายสำหรับธุรกิจไทย นั่นคือ การสร้าง Growth Engine ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน และการปรับตัวให้สอดรับกับบริบทใหม่ๆ ของโลก โดยเฉพาะการเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ขององค์การสหประชาชาติ

ทั้งสองจะมีนัยต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้นในอนาคต เช่น ธุรกิจส่งออกอาจเผชิญความท้าทายจากมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน ในปี 2566 ของยุโรป ขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และอุตสาหกรรมพลังงานอาจได้รับผลกระทบจากการมุ่งใช้พลังงานสะอาดและรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ จีน และยุโรป ว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากสงครามทางการค้าเท่าใดนัก

Cr.ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย

ธุรกิจไทยต้องติดตามทิศทางการเปลี่ยนแปลง และบริบทใหม่ของโลกในเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงตื่นตัวมากขึ้นกับการเตรียมพร้อม อาทิ การขึ้นทะเบียนและได้รับฉลาก Carbon Footprint ทั้งในระดับผลิตภัณฑ์ และระดับองค์กร ผ่านองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เพื่อรับรู้สถานะ เป็นไปตามเกณฑ์สินค้าที่ได้รับการยอมรับในตลาดโลก และต่อยอดสู่การดำเนินโครงการลดและซื้อขายคาร์บอนได้ ทั้งนี้ ประเทศไทยถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดย ณ ปี 2563 มีการขอรับรอง Carbon Footprint และยังอยู่ในอายุสัญญาเพียง 1,884 ผลิตภัณฑ์ และ 151 บริษัท ซึ่งกระจุกตัวในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเป็นส่วนใหญ่

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจยังสามารถใช้ประโยชน์จากกลไกหน่วยงานของรัฐ เช่น 2 โครงการ จาก อบก. คือ

1) โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (T-VER) ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับคาร์บอนเครดิตและสามารถนำไปใช้ชดเชยระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรหรือผลิตภัณฑ์ให้ลดลง สร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต และแสดงในรายงานความยั่งยืนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุ

2) โครงการนำร่องระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (Thailand V-ETS) ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้และเข้าใจระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นรูปแบบที่เริ่มนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เช่น ยุโรป เกาหลีใต้ และจีนที่จะเริ่มอย่างเป็นทางการในช่วงกลางปี 2564 นี้

คำตอบของโจทย์เหล่านี้ คือ การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยโมเดล BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) ภายใต้หัวใจของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ซึ่งเป็นแนวทางที่ภาครัฐจะใช้ขับเคลื่อนประเทศ พร้อมตั้งเป้าเพิ่ม GDP ไทย 1 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า

Cr.ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย

หลายอุตสาหกรรมสามารถนำโมเดลนี้ไปประยุกต์ใช้ได้ เช่น ภาคเกษตรและอาหารอาจเปลี่ยนไปผลิตอาหารที่ทำมาจากพืชเป็นหลัก (Plant-based Food) และอาหารฟังก์ชั่น (Functional Food) ส่วนธุรกิจพลังงาน วัสดุ และเคมีภัณฑ์ สามารถยกระดับสู่พลังงานหมุนเวียน อาทิ ไฟฟ้าจากชีวมวล ตลอดจนก้าวสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น เม็ดพลาสติกหมุนเวียน และบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากขยะพลาสติก ทั้งนี้ บทเรียนจากต่างประเทศชี้ว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ คือ ผู้ประกอบการต้องมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา (R&D) พร้อมประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ควบคู่ไปกับการสร้างพันธมิตรที่เกื้อหนุนกันใน Ecosystem

ถึงเวลาแล้วที่องค์กรต้องให้ความสำคัญกับ Growth Engine ใหม่ ESG ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน และการปรับตัวให้สอดรับกับบริบทใหม่ ๆ ของโลก ซึ่งไม่เพียงจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร และเพิ่มความยอมรับจากลูกค้าแล้ว ยังสามารถเกิดผลประโยชน์ทางการจัดการ การเงิน และการลงทุนอีกด้วย

เนื้อหาเกี่ยวเนื่อง

You Might Also Like