CSR

อดีตคือ One Size Fits All รักษามะเร็ง ของใหม่ “ถอดรหัสยีนมะเร็ง”

25 มีนาคม 2562…. การจะพยากรณ์ผลการรักษาได้ล่วงหน้าแบบของใหม่ จำเป็นต้องสร้างฐานข้อมูลยีนมะเร็งขนาดใหญ่เป็นของคนไทยเอง เพื่อให้รู้ว่าคนไทยมีความผิดปกติยีนมะเร็งชนิดใดมากเป็นพิเศษ

ดร.นพ. วิทูร ชินสว่างวัฒนกุล หัวหน้าสถานวิทยามะเร็งศิริราช กล่าวถึงความสำคัญของโครงการนี้ว่า ในอดีต การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทยจะใช้กรอบหรือสูตรการรักษาเหมือนกันหมดกับผู้ป่วยทุกราย (one size fits all) ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งและระยะของโรค เรียกว่า “เวชปฏิบัติกลาง” แต่ที่จริงแล้วร่างกายคนเรามีสาเหตุการเกิดโรคต่างกัน ผลที่ได้คือมีทั้งคนที่หายและไม่หาย บางครั้งยังเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือได้รับผลข้างเคียงจากยาจนกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก โดยจากสถิติพบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยมากกว่า 30% ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบนี้

 

การรักษามะเร็งด้วยการแพทย์แม่นยำจะใช้เทคโนโลยีถอดรหัสยีนมะเร็งเข้ามาช่วยใน 2 เรื่องคือ การตรวจวินิจฉัยเพื่อดูว่า ผู้ป่วยแต่ละรายเกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์ชนิดใดจนเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง จากนั้นแพทย์จึงจะสามารถวางแนวทางการรักษาที่จำเพาะสอดคล้องกับสาเหตุของโรคได้อย่างแม่นยำ และเลือกใช้ในเวลาที่เหมาะสม ทำให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีผลข้างเคียงน้อย ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องลองใช้ยาทีละตัวๆ ไปตามขั้นตอน แต่สามารถระบุวิธีการรักษาหรือตัวยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยได้ตั้งแต่เริ่มต้น และมีโอกาสหายขาดจากโรคมากขึ้น

เซลล์มะเร็งที่เพาะเลี้ยงขึ้นจากผู้ป่วยมะเร็งเต้านม และบรรยากาศการทำงานใน Lab คลิกภาพชมคลิปวิดีโอ

นอกจากนี้ ในกรณีที่พบว่ายีนมะเร็งในผู้ป่วยรายนั้นเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ยังสามารถเชิญคนในครอบครัวมาเข้ารับการตรวจ เรียกได้ว่า การถอดรหัสยีนมะเร็งยังมีส่วนช่วยทั้งในมิติของการวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรคอีกด้วย

“การจะพยากรณ์ผลการรักษาได้ล่วงหน้าเช่นนี้ จำเป็นต้องสร้างฐานข้อมูลยีนมะเร็งขนาดใหญ่เป็นของคนไทยเอง เพื่อให้ทราบว่าคนไทยมีความผิดปกติของยีนมะเร็งชนิดใดมากเป็นพิเศษ ซึ่งจุดนี้ไม่อาจนำผลงานวิจัยจากตะวันตกมาอ้างอิงได้ทั้งหมด เพราะจากการศึกษาเปรียบเทียบคนชาติเอเชียกับชาติตะวันตกพบว่า มะเร็งชนิดเดียวเกิดขึ้นจากยีนกลายพันธุ์คนละชนิดกัน ซึ่งกลไกการเกิดโรคที่ต่างกันนี้เกิดขึ้นกับมะเร็งในอวัยวะทุกส่วน แม้แต่ชาติในเอเชียเองก็ยังพบความแตกต่างนี้เช่นกัน โดยประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ เริ่มมีการเก็บข้อมูลยีนมะเร็งเป็นของตนเองแล้ว”

ทีมแพทย์และนักวิจัยได้ตั้งเป้าโครงการระยะแรกไว้ว่า ภายในปี 2022 จะต้องถอดรหัสยีนมะเร็งจากผู้ป่วยระยะลุกลามให้ได้อย่างน้อย 2,000 ราย ซึ่งต้องใช้เงินทุนราว 200 ล้านบาท ก่อนจะขยายผลให้ครบ 10,000 รายภายในเวลา 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งข้อมูลนี้จะถูกนำไปใช้ปรับแผนการวินิจฉัยและการรักษากันใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยใหม่ที่พบมากถึงปีละกว่า 100,000 ราย

ปัจจุบัน การถอดรหัสยีนมะเร็งมีเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ค่าใช้จ่ายสูงถึงประมาณ 50,000 – 200,000 บาท หากโครงการนี้ได้รับการผลักดันเดินหน้าไปด้วยดี จนมีฐานข้อมูลพันธุกรรมใหญ่เพียงพอที่จะรู้ว่าคนไทยต้องการยาต้านมะเร็งชนิดใดมากเป็นพิเศษ ภาครัฐก็อาจตระหนักถึงความสำคัญและประสิทธิภาพของการรักษาด้วยหลักการแพทย์แม่นยำ และให้การสนับสนุนนำตัวยาดังกล่าวเข้าไปอยู่ใน สิทธิ์เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล พร้อมทั้งผลักดันให้มีบริการถอดรหัสยีนมะเร็งเป็นบรรทัดฐานในการรักษาตามหน่วยบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ

ธรรมรัตน์(ซ้าย) และ ดร.นพ. วิทูร

ล่าสุด ธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการบริหาร บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ดำเนินภารกิจต้านโรคมะเร็งเต้านมมาต่อเนื่อง 18 ปี ภายใต้ “โครงการวาโก้โบว์ชมพู สู้มะเร็งเต้านม ได้ร่วมสมทบทุน 1,000,000 บาท เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยดังกล่าว และเชิญชวนทุกคนมาร่วมเป็นผู้ให้ในการส่งมอบความหวังใหม่ในการรักษามะเร็งครั้งนี้ไปด้วยกัน

สุดท้าย ความฝันที่คนไทยทุกคนจะมีสิทธิ์รอดชีวิตจากโรคมะเร็งได้เท่าเทียมกับประชาชนในชาติพัฒนาแล้ว ก็จะเป็นจริงได้ในอนาคต มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นผู้ให้เพื่อพิชิตโรคมะเร็งร้ายไปด้วยกัน กับ “โครงการวิจัยการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง” ผ่านเลขที่บัญชี 901-7-05999-0 ชื่อบัญชี: ศิริราชมูลนิธิ กองทุนสนับสนุนการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ (ใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้)

 

 

You Might Also Like