CSR

คลังน้ำมันเชลล์ เปิดบ้าน “พลังงานสะอาด&ปลอดภัย”

10 เมษายน 2562…เป้าหมายพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนของเชลล์ คือเรื่องพลังงานสะอาด โดยทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า ชุมชนรอบข้างซึ่งก็คือเพื่อนบ้านรั้วติดกัน สิ่งแวดล้อม จะต้องมีความปลอดภัย

90 ปีที่แล้ว บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เลือกพื้นที่ตั้งคลังน้ำมันเชลล์ ช่องนนทรี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา นับเป็นคลังน้ำมันเชลล์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งหากจินตนาการย้อนเวลากลับไปขณะนั้นน่าจะต้องเป็นพื้นที่โล่งๆ ไม่ใช่แหล่งชุมชน จนกระทั่งมาถึงวันนี้ พื้นที่เดียวกันกลายเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ล้อมรอบแบบใช้รั้วเดียวกัน ฝั่งตรงกันข้ามคือบางกะเจ้าที่ขณะนี้คือปอดขนาดใหญ่ใกล้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่อนุรักษ์

ปนันท์ ประจวบเหมาะ รองประธานกรรมการและกรรมการบริหารฝ่ายการเงิน บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพให้เป็นศูนย์กลางเครือข่ายจัดส่งน้ำมันในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลของเชลล์ในประเทศไทย การส่งเสริมดูแลด้านสุขภาพ ความปลอดภัย ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ไปจนถึงการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อชุมชนรอบข้าง

พร้อมกันนี้ เชลล์ยึดถือสิ่งสำคัญในเรื่องชีวอนามัย และความปลอดภัย สำหรับพนักงานทุกวัน เช่นเดียวกับชุมชนวัดคลองเตยในเพื่อความปลอดภัยของชุมชนที่รั้วติดกันกับคลังน้ำมันแห่งนี้

ปนันท์ เล่าถึงหน้าที่ และบทบาทของคลังน้ำมันเชลล์ ช่องนนทรี ตั้งแต่อดีต 90 ปีที่แล้วที่ตั้งบริเวณนี้ถึงปัจจุบัน

มาตรฐานชุมชนปลอดภัย
“เราเห็นคลังน้ำมันเชลล์มาตั้งแต่เกิด เป็นเพื่อนบ้านกันเมื่อสัก 40-50 ปีที่แล้วก็ปีนรั้วข้ามไปเล่นในคลังน้ำมัน ปัจจุบันเรามองว่าเป็นเพื่อนบ้านกัน มีกิจกรรมอะไรต่างๆ เราก็ทำร่วมกัน มีทั้งวัด โรงเรียน บ้านชุมชน มีอะไรก็โทรหากันช่วยกันดูแล เพราะต้องยอมรับว่าเราเป็นชุมชนแออัด บางทีจะมีเรื่องอัคคีภัยก็ต้องช่วยกัน …ไม่ใช่ว่าเชลล์ มาเป็นภาระให้ชุมชน แต่น่าจะเป็นชุมชนเป็นภาระให้เชลล์…”

ปัญญา ศิลารักษ์ ผู้นำชุมชน 2 วัดคลองเตยใน เล่าถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นของชุมชนกับคลังน้ำมันเชลล์แห่งนี้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเกิดอัคคีภัย ในพื้นที่นี้ และชุมชนสามารถดับไฟในภายใน 15 นาที สร้างความแปลกใจให้คนที่เฝ้าที่ติดตามข่าวว่า ทำได้อย่างไร?

เชลล์ได้ติดตั้งระบบท่อน้ำดับเพลิงในชุมชนวัดคลองเตยใน ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เชลล์ติดตั้งในคลังน้ำมันเชลล์ ช่องนนทรี และมีการจัดฝึกอบรมด้านความปลอดภัย และฝึกซ้อมชาวบ้านในชุมชนถึงวิธีการปฏิบัติตนเมื่อเกิดอัคคีภัย ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนั้น และมีการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องของชุมชน รวมถึงคนของเชลล์เอง ยิ่งสร้างความเชี่ยวชาญในการใช้งาน

ปัญญาอธิบายต่อเนื่องว่า ที่ชุมชนเป็นที่ดูงานด้านความปลอดภัยให้กับชุมชนอื่นๆ อีกทั้งชุมชนที่ดูแลเรื่องนี้เองก็มีโอกาสเป็นจิตอาสาออกไปช่วยบรรเทาอัคคีภัยในชุมชนอื่นๆ เช่นกัน

“แนวทางสร้างชุมชนปลอดภัยของผู้นำชุมชน คือเมื่อทราบปัญหา ก็ต้องหาแนวทางปลูกฝังเยาวชนในชุมชน นำมาที่ศูนย์ความปลอดภัยแห่งนี้ มานั่งฟังการพูดคุยในศูนย์วิทยุ ซึ่งจะมีเหตุการณ์ต่างๆ มากมายที่จะช่วยเหลือ ลองออกไปช่วยเหลือซิ ประธานฯต้องหางบประมาณมาจัดสรรชุดทำงานให้เยาวชน เขาจะมีความตื่นตัวอยากทำงาน และเรามีรถดับเพลิงขนาดเล็กที่เจ้าของรถสละให้ แล้วออกไปช่วยเพื่อนบ้าน ซึ่งเยาวชนในชุมชนเห็นการปลูกฝังแบบนี้ก็อยากเข้าทำงาน และต้องทำงานต่อยอดมีการซ้อมตลอดเวลา ตั้งแต่ปี 2514”

ความพร้อมของชุมชนที่ใช้เครื่องดับเพลิงและปล่อยน้ำมาตรฐานเดียวกับคลังน้ำมันเลล์ โดยติตั้งไว้ด้านบน เมื่อเกิดอัคคีภัยเช่นในปี 2513ก็สามารถดับไฟได้เร็วมากขึ้น

เสียงพนักงานเชลล์ ทักทายเจ้าของบ้านแต่ละหลังที่อย่างมีความใกล้ชิด เพราะอีกส่วนที่เชลล์ทำต่อเนื่องคือ จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพนักงาน รวมถึงผู้บริหารเชลล์ กับชุมชนที่ตั้งอยู่โดยรอบ เช่น กิจกรรม “เชลล์ชุมชนกีฬาสัมพันธ์” และกิจกรรมวันเด็กกับชุมชนวัดคลองเตยใน ฯลฯ

นอกจากนี้ สนับสนุนโอกาสงานให้กับชาวชุมชนคลองเตย ถือเป็นการสร้างอาชีพเพื่อรองรับการพัฒนาตนเองและความเป็นอยู่ของครอบครัว มอบทุนการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนในเขตคลองเตยในอย่างต่อเนื่อง ผ่านมูลนิธิก้าวไปคู่ไทย โดยพนักงานบริษัทเชลล์

มาตรฐานพลังงานสะอาด

หน้าที่ทางธุรกิจของเชลล์จากนี้ไปคือ การส่งมอบ “พลังงานสะอาด เพิ่มประสิทธิภาพ และดีต่อสิ่งแวดล้อม” โดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ซึ่งคลังน้ำมัน ช่องนนทรี เป็นหนึ่งในการทำหน้าที่นี้ จนกระทั่งได้รับการรับรองระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) ระบบการจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (TIS/OHSAS 18001 และ ISO 45001) และเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 45001:2018 จากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI)

คลังน้ำมันเชลล์ ช่องนนทรี มีถังจัดเก็บน้ำมันทั้งหมด 28 ถัง ทำหน้าที่จ่ายน้ำมันให้กับสถานีบริการน้ำมันเชลล์ทั้งในกรุงเทพและปริมณฑล และพื้นที่ภาคกลาง โดยปริมาณน้ำมันสำรองในคลังน้ำมันเชลล์ ช่องนนทรีนั้น เพียงพอสำหรับการส่งน้ำมันทางท่อไปยังท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ

สามารถรับน้ำมันจากโรงกลั่นผ่านท่อส่งน้ำมัน และมีท่าเรือที่สามารถเทียบเรือบรรทุกน้ำมันจำนวน 4 ท่า มีระบบเติมน้ำมันเชื้อเพลิงจากด้านล่าง (Bottom Loading System)  และระบบควบคุมไอระเหยน้ำมัน (Vapor Recovery Unit) ซึ่งเป็นไปตามมาตรการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและตามกฎหมาย

พื้นที่ที่สร้างพลังงานสะอาด ของคลังน้ำมันเชลล์ ช่องนนทรี

“คลังน้ำมันเชลล์ ช่องนนทรี เป็นโรงงานน้ำมันหล่อลื่นของเชลล์ในประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในหลายด้าน เช่น เป็นศูนย์กลางการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นให้แก่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผลิตทั้งน้ำมันหล่อลื่นและจาระบี ซึ่งมีไม่กี่แห่งของโลกที่ทำได้แบบนี้”

ปนันท์ กล่าวต่อเนื่องว่า ที่นี่ยังเป็นสถานที่ผลิตยางมะตอย เชลล์ตอบรับนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนปลูกยางพารา โดยมีการสร้างนวัตกรรมยางมะตอย โดยการนำยางพารามาเป็นส่วนผสมของยางมะตอย ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ทนทาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งผลดีต่อภาคเกษตร

มาตรฐานการดูแลสิ่งแวดล้อม

คลังน้ำมันเชลล์ ช่องนนทรีมีส่วนงานสุขภาพ ความปลอดภัย ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อม (HSSE) และจัดให้มีวิธีการปฏิบัติงาน รวมถึงส่งเสริมจิตสำนึกในการดำเนินงานที่คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ เช่น การตรวจสอบคุณภาพของอุปกรณ์ต่างๆ ให้ได้ตามมาตรฐาน และมีการซ้อมแผนปฏิบัติยามเกิดเหตุฉุกเฉินอยู่เสมอ

“ระบบบำบัดน้ำเสียของเชลล์ มีมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในการตรวจติดตามและวัดผล เพื่อควบคุมคุณภาพให้อยู่ภายใต้เกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยการบริหารจัดการน้ำเสียหรือน้ำที่ผ่านการใช้แล้วนั้น เรามีระบบการบำบัดที่ถูกต้องตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งก่อนปล่อยออกสู่สาธารณะ”

ระบบบำบัดน้ำเสียของคลังน้ำมันเชลล์ ช่องนนทรี ประกอบด้วย ระบบแยกน้ำมัน ซึ่งมีหน้าที่แยกตะกอนต่างๆ ออกจากน้ำเสีย และถังบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศ เป็นกระบวนการบำบัดน้ำเสียโดยจุลินทรีย์

ส่วนโรงงานยางมะตอยและโรงงานน้ำมันหล่อลื่น เชลล์ได้ติดตั้งระบบบำบัดอากาศ กลิ่น และไอสารเคมีจากกระบวนการผลิต กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ มีระบบดับเพลิง พร้อมด้วยอุปกรณ์ดับเพลิง และระบบส่งน้ำที่มีประสิทธิภาพ ปนันท์ กล่าวในท้ายที่สุดว่า

“สิ่งที่ได้ดำเนินการ ถือเป็นการการตอบสนองนโยบายการดำเนินธุรกิจของเชลล์ในการให้การสนับสนุนพลังงานที่สะอาด เข้าถึงได้ และเพียงพอในการรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น ป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบจากการปฏิบัติงาน และมุ่งเน้นความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อการพัฒนาด้านพลังงานที่ยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ของเชลล์คือ เติมสุขให้ทุกชีวิต” 

 

 

You Might Also Like