CSR

กสิกรไทย ชูความสำเร็จ “น่านเพาะพันธุ์ปัญญา” โมเดลการสร้างทักษะเพื่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืน

10 ตุลาคม 2565…นับเป็นการตอบโจทย์การสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ด้วยโมเดลใหม่ในวงการศึกษาไทยคือเน้นพัฒนาจัดการให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้จากการทำโครงงานฐานวิจัย (Research-based Learning: RBL) ภายใต้สภาพแวดล้อมในท้องถิ่นของผู้เรียน เป็นทักษะการเรียนรู้อย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการเตรียมเยาวชนไทยด้วย Mindset ใหม่ สู่การเป็น Global Citizen โดยการจุดประกายพัฒนาการศึกษา-ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ร่วม 10 ปีที่ธนาคารกสิกรไทยสนับสนุนและดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องจาก “เพาะพันธุ์ปัญญา” สู่ “น่านเพาะพันธุ์ปัญญา” ซึ่งขณะนี้ได้เข้าไปอยู่ใน Sandbox นวัตกรรมทางการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการแล้ว

SD Perspectives มีโอกาสสนทนากับ ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย เลขานุการบริษัท และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย และรศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผู้ถ่ายทอดกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญา และกรรมการกำกับดูแลทิศทางการดำเนินงานโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา ถึงบทเรียน โครงการ “เพาะพันธุ์ปัญญา” (2556-2561) ต่อเนื่องสู่ “น่านเพาะพันธุ์ปัญญา” (2562-ปัจจุบัน)รวมระยะเวลาร่วม 10 ปี ได้จุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในกลุ่มโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ และจะสามารถขยายแนวคิดไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศ เพื่อผลิตเยาวชนให้มีทักษะการเรียนรู้ผ่านโครงงานฐานวิจัย

สำหรับธนาคารกสิกรไทยแล้ว มีความเชื่อมาโดยตลอดว่า การที่จะพัฒนาจะยั่งยืนได้นั้น หัวใจอยู่ที่ “การศึกษา” โดยการศึกษาก็คือหัวใจในการพัฒนา “คน”

ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย และรศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์

“ธนาคารได้พบพันธมิตรคือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือสกว.ในเวลานั้น และได้พบกับรศ.ดร.สุธีระ ซึ่งมีเครื่องมือในการพัฒนาการศึกษารูปแบบใหม่ การพัฒนานักเรียน ที่มากกว่านั้นเพราะมีความสำคัญที่สุดคือครู โดยทั้งหมดอยู่ในกระบวนการทำโครงงานฐานวิจัย หรือ Research-based Learning: RBL นี่คือเครื่องมือในการกระตุ้นนักเรียนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เข้าใจหลักของเหตุผล พร้อมทักษะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เพื่อพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงครู ปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นครู เพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้แก่นักเรียนและเพื่อนครู เกิดปรากฎการณ์นักเรียนกล้าถามครู ครูกล้าพานักเรียนลงมือทำในสิ่งที่ไม่รู้คำตอบมาก่อนเช่นกัน”

บรรยากาศในรอบที่ 1

ดร.อดิศวร์ ขยายความต่อเนื่องถึงกระบวนการ RBL กระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เรียนผ่านกระบวนการ “ถามคือสอน” “สะท้อนคิดคือเรียน” “เขียนคือคิด” นับเป็นเรื่องใหม่ของวงการการศึกษาที่ธนาคารมีความเชื่อมั่น ในการเปลี่ยนแปลง และการลงทุนในช่วงแรก 4 ปี ได้เห็นผลที่เกิดขึ้นจากนักเรียน รวมทั้งโรงเรียนเพาะพันธุ์ปัญญาทั่วประเทศ จนกระทั่งมาถึงน่านเพาะพันธุ์ปัญญาในเวลาต่อมาพบว่า

“การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนเสมอไป การเรียนรู้ไม่ใช่การท่องจำ การทำให้เด็กมีกระบวนการคิดโดยไม่ต้องท่องจำสามารถทำได้ด้วยกระบวนการ RBL ซึ่งเกือบ 10 ปีได้พิสูจน์แล้วว่า เครื่องมือเพาะพันธุ์ปัญญาสร้างให้เด็กเปลี่ยนแปลงความคิดเหตุผลได้จริง แต่เด็กจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับครู RBL ให้ครูทำหน้าที่เป็นโค้ช ตั้งประเด็นให้นักเรียนถกกับครู แลกเปลี่ยนคุยกันกับครู ครูเองก็เกิดกระบวนการเรียนรู้พร้อม ๆ กับนักเรียนเช่นกัน ดังนั้นครูผ่านกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญาจึงมีจิตวิญญาณความเป็นครูแท้จริง เพราะมีความยากทีเดียวแตกต่างจากเดิมไม่มีอยู่ในหลักสูตร สิ่งเหล่านี้เราก็ได้เห็นอีกครั้งจากน่านเพาะพันธุ์ปัญญา ตั้งแต่ตั้งแต่ปี 2562”

ดร.อดิศวร์ กล่าวเสริมถึงการเลือกจังหวัดน่าน จากข้อมูลปี 2560 จังหวัดน่านมีรายได้ต่อหัวอยู่ที่อันดับที่ 15 จาก 17 จังหวัดในภาคเหนือ การเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศและมีการสูญเสียพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก ประชากรมีกลุ่มชาติพันธุ์มากมาย ดังนั้นการยกระดับการศึกษาจะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการดำรงชีวิต การสร้างความรู้ในแนวเพาะพันธุ์ปัญญาจะช่วยเยาวชนได้เข้าใจและผูกพันกับชุมชนในเชิงลึก พร้อมที่จะปกป้อง และสร้างความสมดุลระหว่างคน ศิลปวัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเลือกจังหวัดน่านเพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยพะเยา

บรรยากาศรอบ 2 ลงพื้นที่เมืองลี และ บ่อเกลือ

รศ.ดร.สุธีระ ขยายความต่อเนื่องเมื่อเข้าสู่โครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา แกนของของ RBL ยังอยู่ครบถ้วน โดยเฉพาะกระบวนการ มีการตั้งคำถามกับผู้เรียน (ถามคือสอน) การชวนผู้เรียนสะท้อนความคิดเห็นจากสิ่งที่ค้นพบระหว่างเรียน (สะท้อนคิดคือเรียน) และการให้ผู้เรียนลำดับความคิดนั้นสู่กระบวนการเขียนบทสรุป บทความวิชาการ และความคิดความรู้สึกขณะทำงาน (เขียนคือคิด) โดยผู้เรียนจะได้ทักษะการทำงานเป็นกลุ่มตั้งแต่ร่วมกันกำหนดเรื่องราวที่สนใจทำโครงงาน แล้วออกแบบวิธีการหาคำตอบด้วยการทำวิจัย ซึ่งเรียกว่า โครงงานฐานวิจัย (Research-based Learning: RBL) ต่อไป

“สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือ SEEEM Concept การผนวกแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับชุดความคิดทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ (STEM) พัฒนาเป็น “SEEEM concept ของโครงการน่านเพราะพันธุ์ปัญญา” มีองค์ประกอบที่ครบทั้ง Science (วิทยาศาสตร์) Economics (เศรษฐศาสตร์) Ecology (นิเวศวิทยา) Engineering (วิศวกรรมศาสตร์) Mathematics (คณิตศาสตร์) การบ่มเพาะชุดความรู้นี้ให้กับครูและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเพื่อมุ่งหวังในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา โดยติดอาวุธทางปัญญาให้แก่เยาวชนในสังคม”

ทว่า ในน่านเพาะพันธุ์ปัญญา มีความท้าทายอย่างมากในการทำงาน เมื่อเจอสถานการณ์ Covid-19 ตลอด 2 ปี การพบปะกันแบบเดิม เข้าพื้นที่เพื่อเรียนรู้อย่างต่อเนื่องไม่สามารถทำได้อย่างสะดวกมากนัก การประลองปัญญาจึงเป็นแบบ Eduthon ศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยพะเยาและธนาคาร จึงได้จัดกิจกรรมเวทีประลองปัญญา Eduthon ให้แก่นักเรียนที่ร่วมโครงการ โดยจัดการแข่งขันแบ่งเป็นรอบที่ 1 (23 โรงเรียน) วันที่ 10-11 กันยายน รอบที่ 2 (15 โรงเรียน) วันที่ 17-18 กันยายน และการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ (6 โรงเรียน) วันที่ 30 กันยายน – วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ณ น่านกรีนเลค วิว รีสอร์ท จังหวัดน่าน

ระหว่างที่กรรมการตัดสิน นักเรียนที่รอขึ้นนำเสนอก็เตรียมงานไปด้วย ในรอบสุดท้าย

รอบชิงชนะเลิศเป็นการแข่งขันในโจทย์ “ความลับของบ้านฉัน” ให้นักเรียนคิดค้นโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อส่งเสริมการเป็นอยู่ของชุมชน ในมิติต่าง ๆ อาทิ การรักษาแหล่งน้ำ การจัดการที่ยั่งยืน ความเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว แหล่งจัดหาทรัพยากร แลกเปลี่ยนสินค้า และสร้างรายได้หมุนเวียน

รอบชิงชนะเลิศ เริ่มจากน้อง ๆ นักเรียนประถม ต่อด้วยพี่ ๆ มัธยม

“เราแบ่งเด็กเป็น 2 กลุ่ม เด็กบ้านเหนือ เด็กบ้านใต้ ให้เด็กบ้านเหนือไปเรียนรู้ในบ้านใต้ ให้เด็กบ้านใต้ไปเรียนรู้บ้านเหนือ เมื่อไปเจอแล้วจะเห็นความเชื่อมโยงของทรัพยากร ธรรมชาติ ความเชื่อมโยงชีวิต ความเชื่อมโยงอาชีพ เพราะที่ผ่านมาปัญหาของน่าน การมีอาชีพตัดขาดจากธรรมชาติ เพราะอาชีพที่ทำและส่งลูกเรียนคือการปลูกข้าวโพด เราต้องการให้เด็กเห็นความสัมพันธ์อาชีพและทรัพยากรเมื่อมีความเชื่อมโยงจะเกิดความยั่งยืนต่อไป”

ดังนั้น สิ่งที่ได้เห็นรอบสุดท้ายของ Eduthon จากทีมนักเรียนประถมศึกษา มะแขว่น เป็นส่วนผสมยาสีฟัน (เพิ่มมูลค่าให้กับพืชพื้นบ้าน) ม.ต้น เช่น กากกาแฟดับกลิ่น (สร้างคุณค่าจากของที่จะทิ้ง) ข้าวหลามรถไฟ อาจจะมีข้าวหลามรสกาแฟ (เพิ่มเอกลักษณ์ของจังหวัดด้วยของพื้นเมือง) พัฒนาการปลูกต้นโกโก้ (น่านเป็นพื้นที่ที่ปลูกโกโก้ได้ดี ต้องการสร้างรายได้ให้เกษตกรมีความมั่นคง)ขณะที่นักเรียนม.ปลาย เช่น ข้าวกล่ำดินภูเขาไฟ (สร้างการรับรู้อัตลักษณ์พิเศษ) ผงปรุงรสมะแขว่น (เพิ่มมูลค่าให้กับพืชพื้นบ้าน) ปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร (เพราะอาหารเที่ยงของโรงเรียนเหลือทิ้งเยอะ)

พี่ ๆ มัธยมกำลังนำเสนองานด้วยกติกาเดียวกัน

ผลการตัดสินจากคณะกรรมการ…
ทุกโรงเรียนได้รางวัลชนะเลิศเหมือนกัน !

โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา และโรงเรียนนาหมื่น และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจำนวน 3 ได้แก่ โรงเรียนจุนวิทยาคม โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 และโรงเรียนปัว

“การให้รางวัล กรรมการไม่ได้ตัดสินบนพื้นฐานการพูด นำเสนอที่แพรวพราว เรามองที่เด็กแสวงหาคุณค่าที่มีอยู่ในพื้นที่ นักเรียนทุกระดับชั้นมองตัวเองในการจัดการทรัพยากร เห็นทรัพยากรหลากหลาย ด้วยระยะเวลาอันสั้น ๆ ของ Eduthon การทำงานเป็นกลุ่มของเด็ก ๆ เขาได้บวกลบคูณหารแล้ว เขามีแนวคิดจัดการทรัพยาการที่น่าสนใจ แม้จะไม่มีผลิตภัณฑ์ ซึ่งกรรมการเห็นโอกาสต่อยอดได้ และนี่คือรางวัลจากน่านเพาะพันธุ์ปัญญา ไม่ใช่การล่ารางวัล”

การดำเนินโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญาตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาได้สร้างโรงเรียนต้นแบบ 30 แห่ง ครูเข้าร่วมโครงการ 161 คน เด็กนักเรียน 1,277 คน และมีการนำเสนอโครงการ 195 โครงการ

บางส่วนของเยาวชนได้กล่าวถึงสิ่งที่ได้จากโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา ไม่ว่าจะเป็น

-การที่ได้ออกจาก Comfort Zone กล้าที่จะนำเสนองานต่อหน้าคนจำนวนมาก ได้เรียนรู้ทำงานเป็นทีม รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และฟังมากขึ้น
-มีโอกาสฝึกคิด พัฒนาตัวเอง สามรถนั่งอ่าน Research ภาษาอังกฤษ 4 หน้าได้ ก้าวข้ามขีดจำกัดตัวเอง
-ได้มีโอกาสไปเมืองลีเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน มีความประทับใจ ได้ลงมือทำโครงงานเพื่อพัฒนาชุมชน ได้ทำโครงงานที่คิดวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ได้ความรู้ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน
-ถ้ามีโอกาสก็อยากนำข้อมูลช่วยเหลือเกษตรกรโกโก้ ช่วยทำให้โกโก้มีความชื้นน้อยลง โครงการนี้ให้เราได้เรียนรู้พื้นที่จริง แตกต่างจากการเรียนในห้องเรียน ได้รู้ว่างานวิจัยสามารถทำได้เสร็จภายใน 2 วัน
-จะจำประสบการณ์ในโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญาตลอดไป

นักเรียนจากทีมชนะเลิศทั้งหมด ร่วมแสดงมุมมองของตัวเองที่เปลี่ยนไป และความประทับใจในโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา

รศ.ดร.สุธีระ กล่าวต่อเนื่องถึงการที่เด็ก ๆ ในโครงการได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ของตัวเองกับธรรมชาติ นับเป็นการพื้นฐานสร้าง Mindsetใหม่ให้กับเยาวชนในการก้าวสู่การเป็น Global Citizen ในอนาคต

ดร.อดิศวร์ กล่าวในท้ายที่สุด ตลอดการดำเนินโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาต่อเนื่องสู่น่านเพาะพันธุ์ปัญญารวมระยะเวลาร่วม 10 ปี ได้จุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในกลุ่มโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ และจะสามารถขยายแนวคิดไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศ เพื่อผลิตเยาวชนให้มีทักษะการเรียนรู้ผ่านโครงงานฐานวิจัย เพื่อเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการแก้ปัญหาของประเทศผ่านทุกสาขาอาชีพได้

“ผลสำเร็จที่ยั่งยืนของกระบวนการเรียนรู้แบบเพาะพันธุ์ปัญญา คือ ทำให้เยาวชนมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะอันพึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยอาศัยฐานความรู้วิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานในการแสวงหาคำตอบ ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชุมชนและประเทศ โดยธนาคารเชื่อมั่นว่าการพัฒนาการศึกษาของประเทศเป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน ธนาคารกสิกรไทยในฐานะองค์กรเอกชนมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการพัฒนาเยาวชนของชาติอย่างต่อเนื่อง เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านความยั่งยืนของธนาคาร ที่มุ่งสร้างสังคมไทยให้เติบโต ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้รุดหน้า และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้ในระดับสากล”

เนื้อหาเกี่ยวข้อง

*เพาะพันธุ์ปัญญา จาก กล้า บ้า กลัว สู่รื่นรมย์ ปิติต่อเนื่อง น่านเพาะพันธุ์ปัญญา

You Might Also Like