TALK

เพาะพันธุ์ปัญญา จาก กล้า บ้า กลัว สู่รื่นรมย์ ปิติต่อเนื่อง น่านเพาะพันธุ์ปัญญา

24 พฤษภาคม 2562…เหตุใดเมื่อเอ่ยคำว่า “เพาะพันธุ์ปัญญา” จึงมักนึกถึงชื่อต่อมาคือ ธนาคารกสิกรไทย เพราะโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเป็นการปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนของเยาวชนไทยภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และธนาคารกสิกรไทย ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2555 – 2562

ทั้งนี้ ประสบการณ์ของธนาคารกสิกรไทย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศตั้งแต่ปี 2537 เริ่มดำเนินโครงการการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัฒน์ เพื่อเปิดเวทีระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยจากหน่วยงาน และบุคคลต่างๆ ในวงกว้าง เพื่อสรุปข้อเสนอแนะการปฏิรูปทางการศึกษาให้แก่ประเทศ

“ประเทศไทยประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบริบทต่างๆ ของสังคมและประเทศ การสร้างและพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้เยาวชนของประเทศสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และสามารถดำรงชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างยั่งยืน เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ธนาคารได้ร่วมกับสกว.เพื่อปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนของเยาวชนไทยให้เกิดการเรียนรู้ และคิดในเชิงเหตุและผล ผ่านการทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เศรษฐกิจชุมชน และวิทยาศาสตร์สร้างสรรค์”

บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย เล่าถึงมุมมองทางการศึกษาของประเทศ ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งปัญญา และการเรียนรู้ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ควรจะต้องเกิด

บัณฑูร พร้อมคณะผู้บริหาร สกว.และผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษาของประเทศ รวมถึงครูพี่เลี้ยง จากมหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมงานขอบคุณ และถอดบทเรียน เพาะพันธุ์ปัญญา จาก กล้า บ้า กลัว สู่รื่นรมย์ ปิติต่อเนื่อง น่านเพาะพันธุ์ปัญญา

เริ่มจากกล้า บ้า กลัว

การเกิดโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาคงจะเป็นการกล่าวไม่ผิดนัก หากจะบอกว่า ไม่เคยมีเนื้อหาเช่นนี้อยู่ในการศึกษาของเยาวชนไทยมาก่อน ที่จะให้เด็กเรียนรู้จากการทำโครงงานฐานวิจัย (Research-based Learning : RBL) ที่เป็นหัวใจของเพาะพันธุ์ปัญญา

บัณฑูรเล่าถึงสิ่งที่ รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ หัวหน้าหน่วยจัดการกลางโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา อธิบายถึงแนวคิดหลักสำคัญว่า

“การศึกษาที่แท้จริง ควรพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้ดำรงชีวิตได้ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้บนพื้นฐานความสนใจของแต่ละบุคคล โดยผู้เรียนจะทำงานกลุ่ม ตั้งแต่กำหนดเรื่องราวที่น่าสนใจ แล้วออกแบบวิธีการหาคำตอบ มีการตั้งคำถามเพื่อแสวงหาคำตอบที่ถูกต้องผ่านกระบวนการวิทยาศาสตร์ ที่เข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลของปรากฏการณ์ ซึ่งกระบวนการเรียนรู้แบบ RBL ตอนปลายทางจะได้เหตุและผล แตกต่างจากการเรียนรู้แบบ PBL หรือ Project-based Learning จะได้เพียงประสบการณ์”

ทั้งนี้ สุธีระกล่าวเสริมว่า โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา มีรูปแบบการเรียนรู้จากการทำโครงงานฐานวิจัยจากเรื่องราวใกล้ตัว โดยครูเป็นผู้อำนวยการจัดการเรียนรู้ด้วยเครื่องมือสำคัญ 3 ประการคือ

-ถามคือสอน (การตั้งคำถามกับผู้เรียน)
-สะท้อนคิดคือเรียน (การชวนผู้เรียนสะท้อนความคิด)
-เขียนคือคิด (การให้ผู้เรียนเขียนงานวิชาการ และความคิดความรู้สึกขณะทำงาน)

ที่กล่าวมานับเป็นเรื่องใหม่ของระบบการศึกษาไทย ย่อมมีอุปกสรรคหลายอย่างตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยอมรับให้มีห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญาทดลอง 1 ห้อง นั่นหมายถึงการเพิ่มภาระให้ครู ซึ่งต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับนักเรียน และครูพี่เลี้ยง ที่มาจากมหาวิทยาลัยทำหน้าที่ Coach ครูตามแนวทาง RBL ซึ่งจะต้องใช้เวลา Workshop กับครูในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ

โรงเรียนที่ลำปาง นักเรียนและครูได้เรียนรู้ RBLเป็นครั้งแรกพร้อมกัน ในการเข้าพื้นที่และพูดคุยกับเกษตรกรเพื่อเก็บข้อมูล โดยครูจะเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่คิดและถามแทนเด็ก เช่นเดียวกับนักเรียนสนใจในเรื่องแร่ธาตุต่างๆ ในเหมืองแม่เมาะ ก็เรียนรู้ในพื้นที่เช่นกัน

แนวทางการทำงานที่เกิดขึ้นว่า ช่วยเร่งให้เกิดกระบวนการปฏิรูปการเรียนรู้ในระบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวครู และส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ปีแรกที่ดำเนินการ

“จากวันแรกจนถึงปัจจุบัน ภาวะผู้นำของครูตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการถึงครูผู้เปิดใจกว้างยอมรับกระบวนการใหม่ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับระบบความคิดของนักเรียน โดยเฉพาะศูนย์พี่เลี้ยงที่เป็นผู้ถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้ผ่านโครงการฐานวิจัยเพื่อสร้างความคิดที่เป็นระบบ นักเรียนที่ยอมเปิดโลกทัศน์ตนเองที่จะมีส่วนร่วมในโครงการและมีศรัทธาต่อระบบความคิดใหม่”

วันนำเสนอผลงานของนักเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา นักเรียนจำนวนไม่น้อยยอมรับว่า เมื่อก่อนเป็นคนไม่กล้าพูดบนเวที

สู่รื่นรมย์ ปิติ

สุธีระกล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงเวลาของการทำงานเพาะพันธุ์ปัญญาเกี่ยวข้องกับครูประมาณปีละ 700 คน นักเรียน 4,000 คน มีโรงเรียนผ่านโครงการ 135 แห่ง มีครูเพาะพันธุ์ปัญญา 24 ท่าน มีโรงเรียนต้นแบบ 16 แห่ง มีการยอมรับและกล่าวถึงความสำเร็จได้แก่

1.ได้รับรางวัลโครงการวิจัยเดิน สกว.ประจำปี 2557
2.ได้รับการเขียนถึงในคอลัมน์ไทยมองไทย มติชนรายสัปดาห์ทั้งสิ้น 56 ตอน
3.เป็นหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม “โครงงานฐานวิจัยจากการใช้ชีวิตจริง” ของคณะอนุกรรมการการจัดการการเรียนการสอน ในคณะกรรมการอิสระปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.)
4.เป็นหลักสูตรการผลิตครูที่ มรภ.หลายแห่งนำไปใช้
5.ขยายผลยังโรงเรียนพระปริยัติธรรมจำนวน 69 โรงใน 6 จังหวัด (เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง ศรีสะเกษ)
6.ขยายผลสู่โรงเรียน อบจ.ศรีสะเกษ โดยมีเป้าหมายให้ครบ 39 โรง
7.เป็นนวัตกรรมการศึกษา 1 ใน 7 นวัตกรรมการศึกษา เขตนวัตกรรมการศึกษาศรีสะเกษ
8.เป็นนวัตกรรมใช้ในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาของรัฐบาลที่ดำเนินการโดย บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด

นอกจากนี้ ได้มีการสรุปการเปลี่ยนแปลงที่มีลักษณะเด่นของนักเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา ภายใต้กระบวนการเรียนแบบ RBL 6 เรื่องดังนี้

-มีความกล้า (คิด พูด ทำ ทดลอง เสี่ยง)
-มีความอดทนมุ่งมั่น (รับมือกับการเริ่มใหม่เมื่อผิด แก้ไข และทำซ้ำได้ดีขึ้น)
-มีการทำงานเป็นระบบ (มีผังกระบวนการ ทำตามขั้นตอน มอบหมายความรับผิดชอบ ตรวจประเมิน และปรับแก้)
-มีเหตุผลและวุฒิภาวะ (คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ควบคุมอารมณ์ได้เมื่อคิดต่าง)
-มีความสนใจปรากฏการณ์ในชุมชน (กล้าเผชิญโลกที่แปลกใหม่จากความเคยชิน สนใจสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน)
-มีการเปลี่ยนวิธีเรียน (สืบค้นมากกว่าฟัง ทดลองก่อนตัดสินใจเชื่อ เรียนรู้ด้วยความสนุก มีจิตอาสาในสิ่งที่ตนเองถนัด กำกับการเรียนรู้ของตนเองได้)

สุธีระกล่าวย้ำถึงความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ จับต้องได้จากผลที่เกิดขึ้น โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเป็นการพิสูจน์นวัตกรรมห้องเรียน ซึ่งเปลี่ยนที่ครู ฟื้นจิตวิญญาณครูที่เน้นการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ของศิษย์เป็นที่ตั้ง แล้วให้ครูจัดกระบวนการและความสัมพันธ์ในห้องเรียนใหม่ ให้เกิดผลที่เด็ก

“เมื่อต้องดูที่ผลปลายทาง การเปลี่ยนแปลงของเด็กคือ คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น เรากล้าพูดได้ว่าเพาะพันธุ์ปัญญาสามารถทำให้เด็กได้ทักษะเหล่านี้ และยังปรากฏผลต่อผลสัมฤทธิ์การศึกษา เช่นผลการสอบ O-Net ของนักเรียนในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาที่มีสูงกว่านักเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ฯ ทั้งในระดับโรงเรียน จังหวัด และประเทศ ในวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์”

ส่วนความสัมพันธ์ของเพาะพันธุ์ปัญญากับ O-NET จากการสำรวจผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในภาคเหนือจำนวน 112 คน จาก 3 โรงเรียนในห้องปกติ พบว่านักเรียนที่ผ่านกระบวนการเรียนการสอนแบบเพาะพันธุ์ปัญญา มีผลคะแนนเฉลี่ย O-NET ในแต่ละรายวิชาสูงกว่านักเรียนในระดับเดียวกัน ทั้งระดับโรงเรียน ระดับจังหวัด และระดับประเทศ สะท้อนให้เห็นได้ว่าโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา น่าจะมีส่วนสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาของเด็กนักเรียนใน จ.น่าน ในอนาคต

ผลคะแนนเฉลี่ย O-NET ชั้น ม.3 ในแต่ละรายวิชา เทียบกับค่าเฉลี่ยคะแนนในระดับต่างๆ ของนักเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา ในภาคเหนือ (ลำปาง ลำพูน แพร่)

ตลอด 6 ปีของการเรียนรู้โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพบว่า การจัดการสู่ความสำเร็จ ต้องเริ่มด้วยแรงจูงใจ แล้วเปลี่ยนให้เป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งความยั่งยืนจะเกิดเมื่อเปลี่ยนแรงบันดาลใจให้เป็น Passion

ในการนำเสนองานระดับประเทศของเพาะพันธุ์ปัญญา

ขยายผลเยาวชนน่านรักษ์สิ่งแวดล้อม

จากความสำเร็จของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ถูกนำไปต่อยอดโดยธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยาจัดทำโครงการ “น่านเพาะพันธุ์ปัญญา” คัดเลือก 30 โรงเรียนของจังหวัดน่านเข้าร่วมโครงการ โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 -2565

ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย และ รศ.ดร.เสมอ ถาน้อย รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมมือโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา

บัณฑูรขยายความถึงการต่อยอดโครงการฯ โดยมีเป้าหมายของโครงการ เพื่อบ่มเพาะระบบคิดแบบเหตุและผลในการดำเนินชีวิตร่วมกับทรัพยากรน่าน ด้วยเจตคติที่จะอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรในถิ่นกำเนิดของตน โดยเฉพาะการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ที่สาคัญของจังหวัดน่าน

“การพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว เราต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเยาวชน ซึ่งเราทำผ่านการศึกษาในระบบ โดยนำกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญามาใช้ ซึ่งหวังว่าเขาจะเติบโตไปพร้อมกับความคิดที่ถูกต้องในการรักษาบำรุงทรัพยากรของน่าน ได้คนรุ่นใหม่ที่สานปณิธานน่านแซนด์บ๊อกซ์* ต่อไป”

ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระราชทานในการสัมมนารักษ์ป่าน่าน เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557 ความตอนหนึ่งว่า
“การรักษาป่าและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ มีหลากหลายวิธี วิธีการหนึ่งที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนคือ การให้โอกาสเด็กและเยาวชนของเราได้เรียนรู้จากธรรมชาติรอบตัวของเขา มีความรู้ ความเข้าใจ เกิดความรัก ความผูกพัน และความหวงแหนในทรัพยากรของตน”

บัณฑูรย้ำโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา มีเป้าหมายเพื่อสอนให้เยาวชนของเรา “คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น” ที่จะสนองพระราชดำริของพระองค์ท่านได้ ด้วยการใช้สิ่งที่พัฒนามาจาก STEM คือ SEEEM (Science, Economic, Ecology, Engineering, Mathematics)

สุธีระกล่าวเสริมว่า SEEEM หมายถึง RBL ที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ โดยใช้โจทย์จากชีวิตจริงของชุมชนที่ดำรงชีพบนฐานทรัพยากรธรรมชาติ นักเรียนทำโครงงานเกี่ยวกับอาชีพ เพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจ โดยเข้าใจความสมดุลในการใช้ประโยชน์จากนิเวศน์ธรรมชาติ (Ecology)

SEEEM จึงเป็นการทำโครงงานในแนววิจัย เพื่อให้นักเรียนเข้าใจการบูรณาการของ STEM และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เป็นฐานความเข้าใจการใช้ชีวิตที่พัฒนาและยั่งยืน
“เราจะทำอย่างไรให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและ STEM อยู่ร่วมกันได้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรามองเห็นปัญหาของจังหวัดน่าน มองเห็นปัญหาการใช้ทรัพยากรจังหวัดน่านเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ส่งผลให้ทรัพยากรเสื่อมโทรม ดังนั้นต้องสอนเด็กใหม่ให้เข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเข้าใจความคิดเชิงระบบ เมื่อนั้นเราจะหลอมรวม STEM และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ในชื่อใหม่ของเราคือ SEEEM นี่คืออุดมคติที่เราต้องการให้ SEEEM ตั้งอยู่บนฐาน RBL และนักเรียนจะต้องหาคำตอบ”

ทั้งนี้ เพราะชีวิตนักเรียนที่จะเติบโตต่อไปจะต้องอยู่กับโลก Ecology ใช้ประโยชน์จาก Ecology โดยใช้วิทยาศาสตร์ มีวิธีคิดเป็นระบบแบบวิศวกร ใช้คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือ จะทำให้พื้นที่เยาวชนที่น่านมีความยั่งยืน โดยนักเรียนต้องส่ง Systems Thinking ของ 2 โลกให้เข้าใจ ในระบบนิเวศน์ที่เราใช้อยู่ และประเด็นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อทำโครงการให้มีความยั่งยืนให้ได้ เราจะทำอย่างไรให้ครูสกัดโจทย์ให้เด็กทำ ซึ่งนับเป็นเรื่องใหญ่ที่ระบบการศึกษาไทยจะต้องร่วมมือทำน่านเพาะพันธุ์ปัญญา

“โครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญามีเป้าหมายเพื่อสอนให้เยาวชนของเรา คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น ที่จะสนองพระราชดำริของพระองค์ท่านได้”

บัณฑูรกล่าวในท้ายที่สุดว่า คนเพาะพันธุ์ปัญญาไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม เขาจะมีบุคลิกมีความมั่นใจในตนเองสูง มี Growth Mindset อดทน สู้ทำงาน ล้มแล้วลุกได้เอง มีแนวคิดทักษะชีวิตและทักษะสังคม กล้าเผชิญ พึ่งตนเองมากกว่ารอรับความช่วยเหลือ เพราะเขาเข้าใจว่า “ผลเกิดจากเหตุ” ย่อมเชื่อได้ว่า จะเป็นคนที่มีคุณภาพ สามารถจะพัฒนาสังคม และประเทศชาติต่อไปได้

เนื้อหาเกี่ยวข้อง

*บัณฑูร ล่ำซำ “เราไม่ปล่อยให้ใครแพ้ เราต้องหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ร่วมกัน เพื่อให้รอด”

*https://www.sdperspectives.com/talk/banthoon-lamsam-nan-sandbox-2/

 

You Might Also Like