TALK

G100 ปลุกพลังหญิงสร้างเครือข่ายให้ผู้หญิงเข้าถึงทุกโอกาส

26 กันยายน 2565… Support Women & Girls เป็น 1 ใน 9 พฤติกรรมใหม่ด้านความยั่งยืนของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เกิดขึ้นตามหลักการของ SDGs ซึ่งในช่วงหลังมานี้เราจะเห็นภาครัฐและเอกชนต่างหยิบยกประเด็นนี้มาพูดถึงและนำไปปฏิบัติมากขึ้น เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง และสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้หญิงไทย

อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ร่วมปลุกพลังหญิงที่สำคัญก็คือ การมาถึงเมืองไทยของ ดร. ฮาร์บีน อาโรร่า ไรย์ ผู้ก่อตั้ง และประธาน G100 (Group of 100 women leaders) ผู้ก่อตั้งองค์กร Women Economic Forum (WEF) ผู้นำหญิงในกลุ่ม “Indian Chamber of Commerce and Industry (WICCI), SHEconomy | BIOAYURVEDA, ประธาน และ ผู้นำของ Rai University ประเทศอินเดีย และได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 100 ของ Among 100 Most Reputable People on Earth (Reputation Poll 2019) ที่ประเทศอินเดีย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง และหาทางร่วมกันขับเคลื่อนพลังหญิงสร้างผลกระทบบวกให้เกิดขึ้นทั่วโลก

ดร. ฮาร์บีน อาโรร่า ไรย์ มองว่าการมีอำนาจทางการเงิน หรือ Financial Empowerment เป็นปัญหาของผู้หญิงทั่วโลกซึ่งไม่ได้เกิดแค่ในเฉพาะผู้อินเดียเท่านั้น เธอจึงต้องการสร้างพลังให้ผู้หญิงทุกคนบนโลกได้รับโอกาสเข้าถึงแหล่งงาน เพราะนั่นย่อมหมายถึงรายได้ และศักยภาพทางการเงิน ซึ่งไม่เพียงแต่มอบคุณค่า ศักดิ์ศรี และความเท่าเทียมทางสังคมแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ใช้ Soft Power ที่ตัวเองมีสร้างพลังบวกให้กับโลกต่อไป

“ทางออกที่จะทำให้ผู้หญิงมี Financial Empowerment มี 2 แนวทางคือ ผลักดันให้ผู้หญิงเป็นเจ้าของธุรกิจ และให้ผู้หญิงมีงานทำแต่แค่นั้นไม่พอต้องให้ผู้หญิงเข้าถึงตำแหน่งสำคัญด้วย โดเฉพาะตำแหน่งจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเปิดทางให้ผู้หญิงเหล่านั้นไปจ้างซัพพลายเออร์หรือบริษัทที่เป็นของผู้หญิงอีกทอดหนึ่ง ซึ่ง G100 ตั้งเป้าที่จะผลักดันให้ผู้หญิงทั่วโลก เข้าถึงตำแหน่งดังกล่าวอย่างน้อย 30% แต่ถ้าถามว่า 2 แนวทางดิฉันอยากผลักดันอะไรมากที่สุด คำตอบคือ อยากให้ผู้หญิงทุกคนเป็นเจ้าของธุรกิจ เพราะจะได้สร้างเครือข่ายหญิงช่วยหญิงทั่วโลก เพราะจากการเดินทางไปหลายประเทศดิฉันค้นพบว่า Soft Power มาจากผู้หญิงหมดเลย ถ้าโลกเรามีผู้หญิงเก่งๆ มากเท่าไหร่โอกาสที่ผู้หญิงจะนำ Soft Power ไปใช้เพื่อสร้างสรรค์ในสิ่งดีๆ กับโลกก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น”

นี่จึงเป็นที่มาของวิสัยทัศน์ G100 องค์กรของผู้นำสตรีทั่วโลก ที่เกิดขึ้นมาเพื่อสร้างพื้นที่บนโลกใบนี้ให้กับผู้หญิงทุกคนอย่างสร้างสรรค์ ผ่านการสร้างความเท่าเทียมกัน การพัฒนาความเจริญแบบก้าวไปข้างหน้า และการไม่ทิ้งใครสักคนไว้ข้างหลังให้เกิดกับชีวิตผู้หญิงทุกคนบนโลกใบนี้ นอกจากนี้ พันธกิจของ G100 ยังมุ่งมั่นที่จะหยิบยื่น สร้างสรรค์ สตรีผู้นำทางความคิดในบริบทต่างๆที่จำเป็นกับคน และ โลกใบนี้ อันได้แก่ การไม่ทิ้งใครสักคนไว้เบื้องหลัง ความปลอดภัย และ การส่งเสริมพลังสตรีทั่วโลกในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาสังคม แสดงจุดยืนสนับสนุนเรื่องความต่าง ช่องว่าง และความเท่าเทียมทางเพศสภาพทุกเพศให้เกิดขึ้นภายในทศวรรษนี้

แน่นอนว่าพลังของผู้หญิงจะเกิดขึ้นยังต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้ชายด้วย G100 จึงก่อตั้ง The Denim Club : Group of 100 He-for-She Champions ทั่วโลก ซึ่งประกอบด้วยผู้นำและผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคธุรกิจ องค์กร และการเมือง ซึ่งแต่ละกลุ่มเป็นผู้นำกลุ่มอิทธิพลและมีบริษัทและสถาบันต่างๆ ที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ และความเท่าเทียมกัน ทำหน้าที่ช่วยรณรงค์ และสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศเสมือนเป็นลมใต้ปีกให้ผู้หญิงบินได้ไกลมากขึ้นนั่นเอง

“ทำไมต้อง ‘เดนิม’ เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของความเท่าเทียม สีเดนิมก็คือสีเดนิม มีความเป็นกลางและไม่มีเพศ ไม่ได้เป็นสีน้ำเงินตัวแทนของผู้ชาย หรือสีชมพูตัวแทนของผู้หญิง ผ้าเดนิมเลยทำให้ทุกคนไม่ว่าจะเพศไหนมีความเท่าเทียมกัน เหมือนกับที่ทุกคนสามารถร่วมกันสร้างโลกที่ดีกว่าได้”

ทั้งนี้ ภายใต้การดำเนินงานของ G100 จะมีการคัดเลือกผู้หญิงจากทั่วโลกที่เป็นผู้นำหรือเชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ เข้ามาขับเคลื่อนสร้างศักยภาพให้ผู้หญิง ซึ่งทุกคนจะได้รับมอบ Wing จาก “100 of G100 WINGs หรือ ปีก 100 ปีกของ G100” เพื่อเป็นสัญลักษณ์การแสดงจุดยืนร่วมกัน ที่จะปักหมุด ร่วมสร้าง ร่วมแรงพลังผลักดันให้เกิดพลังผู้นำหญิงในทุกบริบท บทบาท ในทุกมุมธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคมของโลก เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นจริง

เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ผู้นำหญิงไทยอย่าง ดร. ศิริกุล เลากัยกุล ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น G100 Global Chair, Brand Creation & Marketing เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกผู้หญิง 100 คนจากทั่วโลก เข้ามาเป็น Country Chair ในแต่ละ Wing หรือสาขาต่างๆ เพื่อร่วมขับเคลื่อนพลังหญิงในบทบาทหน้าที่ที่ตัวเองมีความเชี่ยวชาญ โดยปัจจุบันในประเทศไทยมี Country Chair ทั้งหมด 5 ท่าน ประกอบด้วย อาจารี ศรีสุนาครัว Law &Justice Wing, ชาลอต โทณวณิก Media Arts & Communication Wing, ดร. ดั่งใจถวิล อนันตชัย Coaching & Training Wing, สุภาวดี ตันติยานนท์ Digital Media Wing และ ขนิษฐา ตั้งวรพจน์วิธาน Communication & Advocacy Wing

การมาถึงเมืองไทยของ ดร. ฮาร์บีน อาโรร่า ไรย์ ในครั้งนี้ ดร. ศิริกุล เลากัยกุล เลยถือโอกาสสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐอย่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ Thailand Institute of Justice (TIJ) และสมาคมสตรีแห่งชาติ เข้ามาเป็นภาคีกับ G100 สร้างความร่วมมือที่เหมาะสมในการพัฒนาผู้นำสตรีไทยและผู้นำสตรีโลกไปด้วยกัน

นอกจากนี้ยังมีประชุมหารืออย่างเป็นทางการกับทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เพื่อนำเสนอโครงการ Hygiene Street Food for Chances Project ที่เน้นสร้างโอกาส ผ่านการเปิดอบรมด้านอาชีพอิสระการขายอาหารริมทาง ผ่านการอบรมหลักสูตรเชิงปฏิบัติการ ฝึกทักษะ และสร้างอาชีพขายอาหารให้กับผู้พ้นโทษอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นโมเดลที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผู้ต้องขังหญิงในประเทศต่างๆ ได้

ดร. ศิริกุล เลากัยกุล เผยแผนการทำงานว่า ในอนาคตมีความตั้งใจจะจัดงาน Women Economic Forum ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะสร้างอิมแพคในวงกว้างได้ และทำให้คนทั่วโลกเห็นพลังผู้หญิงที่ไม่ได้อยู่แค่ในครัว แต่ยังลุกขึ้นมาเป็นผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วย

 

You Might Also Like