TALK

Circular Brand ปลุกกระแสแฟชั่นยั่งยืน สร้าง Mindset เสื้อผ้ารีไซเคิลก็ใส่ในชีวิตประจำวันได้

27 กันยายน 2565…“สิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมต้นๆ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ” กลายเป็นโจทย์การทำงานของ SC GRAND ผู้ผลิตเส้นใยสำคัญในอุตสาหกรรม  จึงทำให้เกิด  Circular Brand ที่ต้องการลุกขึ้นมาปลุกกระแสแฟชั่นยั่งยืน อย่างน้อยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มองหาเสื้อผ้ารักสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ Circular Brand ต้องการ Educate ให้ตลาดได้เห็นว่าเสื้อผ้ารีไซเคิลก็สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันด้วยราคาจับต้องได้

จิรโรจน์ พจนาวราพันธ์ุ กรรมการผู้จัดการ SAENG CHAROEN GRAND CO.,LTD และ CIRCULAR INDUSTRY CO.,LTD เจ้าของแบรนด์ SC GRAND CIRCULAR และ Circular กล่าวกับ SD Perspectives ว่า Circular Brand ถูกวางตำแหน่งเป็น Sustainable Fashion Brand โดยนำคอนเซ็ปต์ Circular Economy มาใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งถือเป็นการต่อยอดธุรกิจครอบครัวที่ทำโรงงานทอผ้า SC Grand

จิรโรจน์ พจนาวราพันธ์ุ

“โรงงานผลิตเส้นด้าย SC Grand มีอายุนานกว่า 35 ปีแล้ว ผลิตเส้นด้ายจำหน่ายให้กับลูกค้า B2B ในต่างจังหวัด ปัจจุบันอุตสาหกรรมโรงงานทอผ้าไทยอยู่ในช่วงขาลง ในฐานะที่ผมเข้ามารับช่วงกิจการต่อเป็นรุ่นที่ 3 จึงคิดว่าหากเราจะอยู่ในวงการสิ่งทอแฟชั่นต่อไป จำเป็นต้องปรับตัว ประกอบกับเรามองเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงหันมามองจุดแข็งโรงงาน SC Grand ของเราพบว่า ตลอดการทำงานที่ผ่านมาโรงงานเราใช้เศษผ้า และเศษด้ายเป็นวัตถุดิบมาโดยตลอด จึงนำ Story ของเรามาต่อยอดธุรกิจ และช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ในเวลาเดียวกัน”

วัสดุมาจากเศษผ้าเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้แล้วสู่กระบวนการรีไซเคิล

หลังจากตัดสินใจเดินหน้าปรับธุรกิจใหม่ในปี 2020 จิรโรจน์ ลงทุนทรานสฟอร์มองค์กร จากเดิมขายสินค้าแค่ 3-4 SKU  อาทิ หลอดด้ายสีดิบ หลอดด้ายสีขาว ปรับเครื่องจักรใหม่เพื่อผลิตหลอดด้ายหลากสี รวมถึงเพิ่มเครื่องจักรสำหรับทอผ้า โดยนำเศษผ้า หรือ Textile Waste หลากหลายรูปแบบมารีไซเคิล

ที่สำคัญกว่านั้นคือ ลุกขึ้นมาสร้างแบรนด์แฟชั่นเองภายใต้ชื่อ Circular Brand โดยมี SC Grand Circular  หลังการทรานสฟอร์ม ป้อนวัตถุดิบให้

ทุกเส้นใยทุกสีใหม่ มาจากการผสมผสานของผ้าเก่าในกระบวนการรีไซเคิลในโรงงาน เกิดเป็นสีสันใหม่ที่แตกต่าง

ทั้งนี้ Circular Brand เป็น Sustainable Fashion Brand สไตล์ Minimal Classy เน้นความเรียบง่ายแต่ดูพรีเมียม ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าเบสิกที่สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน และใช้แนวคิดการทำตลาดที่เน้นให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

ความเรียบง่ายของเสื้อผ้า Circular ส่วนหนึ่งมาจากวิถีของคนจำนวนมากเปลี่ยนการทำงานมาเป็นออนไลน์ ตั้งแต่เกิดโควิด-19 ครั้งแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาเกิดของเสื้อผ้า Circular เช่นกัน….ดังนั้นเสื้อผ้าจึงถูกออกแบบให้ใช้ระหว่างทำงาน ขณะเดียวกันก็สามารถใช้ชุดเดียวกันนี้ออกไปข้างนอกได้เลย รวมถึงรองเท้า Circular ที่มาจากการรีไซเคิล ทั้งหน้าผ้า และมีซัพพลายเออร์ที่ทำพื้นรีไซเคิลเช่นกัน

“เราต้องการให้ทุกคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาในอนาคตผ่าน Circular Brand เพื่อสร้างบันดาลใจให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นว่าสามารถสร้างแฟชั่นที่ยั่งยืนได้ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำเศษด้าย เศษผ้า และของเสียแฟชั่นมาปรับใช้นำไปรีไซเคิลใหม่”

ถ้ามีเสื้อยืดที่ไม่ได้ใช้เพราะขาด เพราะย้วย เพราะสีซีดอย่างหนัก นำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล แถมได้ลดราคา 100 บาท เมื่อซื้อสินค้า Circular ตัวใหม่

การเจาะกลุ่มลูกค้า B2C Circular Brand ออกโครงการ Circular t-shirt club เพื่อให้ลูกค้านำเสื้อตัวเก่าที่ไมได้ใส่มาให้ทางร้าน ทุก 1 ตัวสามารถนำมาใช้เป็นส่วนลด 100 บาทในการซื้อสินค้า Circular Brand ซึ่งเสื้อเก่าเหล่านั้นจะถูกนำกลับมาเป็นวัตถุดิบในการรีไซเคิลเสื้อผ้า Circular Brand ในรอบการผลิตถัดไป

สำหรับลูกค้า B2B ได้มีการทำโครงการ Circular OEM เป็นการรีไซเคิลผ้าในลักษณะ Close Loop ภายในโรงงาน SC Grand Circularโดยรับเสื้อผ้าเก่า ยูนิฟอร์มเก่า หรือผ้าเก่า ที่ไม่ใช้แล้วจากลูกค้าองค์กรเพื่อนำมารีไซเคิลผลิตเป็นเสื้อผ้า ยูนิฟอร์มแบบใหม่ หรือผ้าตกแต่ง ตลอดจนเฟอร์นิเจอร์ของบริษัทเหล่านั้น ซึ่งการสร้างความมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ลดการฟอกย้อม ลดการใช้สี ลดขยะ และลดการใช้พลังงานดังกล่าว

เสื้อทำงานของหลายบริษัทที่เลือกใช้ผ้ารีไซเคิลทุกตัว จะมี QR Code สแกน ตรวจสอบข้อมูลในการใช้พลังงาน น้ำ ได้ ซึ่งผ้าที่ใช้ในแต่ละบริษัท จะมีข้อมูลดังกล่าวแตกต่างกัน

ในโครงการ Circular OEM ได้ว่าจ้าง Third Party จากประเทศแคนาดาในการคำนวนค่าความยั่งยืนออกมาให้บริษัทต่าง ๆ สามารถนำไปเป็นข้อมูลในรายงานความยั่งยืนด้าน ESG ของบริษัทลูกค้าต่อไป

“เรามีการทำ Life cycle analysis (LCA) คำนวณวงจรชีวิตของสินค้าเสื้อรีไซเคิลกับเทียบกับผลิตจากวัสดุทั่วไปว่า ลดผลกระทบในด้านไหนบ้าง ซึ่งตอนนี้บริษัทขนาดใหญ่ในหลายๆ อุตสาหกรรม และบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เวลาผลิตยูนิฟอร์ม หรือเสื้อสำหรับใช้ในกิจกรรมภายใน เริ่มหันมาใช้วิธีนำเสื้อเก่ามารีไซเคิลเป็นเสื้อใหม่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”

คววามร่วมมือระหว่าง SC GRAND CIRCULAR กับหลายแบรนด์เพื่อเป็นผ้าสำหรับการตกแต่งได้ดำเนินการแล้ว

ล่าสุด Circular Brand พยายามเจาะกลุ่มแฟชั่นแบรนด์ SMEs โดยเปิดโอกาสให้เจ้าของแบรนด์สามารถซื้อผ้าจากโรงงานได้ไม่มีขั้นต่ำ เพื่อให้กลุ่มนี้สร้าง Positive Impact ให้กับวงการแฟชั่นไปด้วยกัน นอกจากนี้ Circular Brand ยังสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่องด้วยการ Collaboration กับแบรนด์ต่าง ๆ ทั้งในส่วนของการออกแบบร่วมกัน หรือนำวัตถุดิบจากโรงงาน SC Grand Circular ไปใช้ในการออกแบบคอลเลคชั่น โดยที่ผ่านมามี Collaboration ร่วมกับ CARNIVAL และ Vouge Magazine รวมถึงจับมือกับ “โยธกา” ในการออกแบบลายผ้า เป็นต้น

มีเรื่องเล่าที่มาของเสื้อผ้าหลายอย่างในร้าน Circular สยามสแควร์ซอย 2

“เราต้องการให้ Circular Brand มีความแข็งแกร่งในฐานะแบรนด์ Sustainable Textile หากคิดถึง Recycle Hub แล้วนึกถึงเรา ให้เราเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ หรือมองเราเป็น Supply Chain Partner หรือ Strategic Partner ในส่วนของสิ่งทอ ในส่วนของผู้บริโภค เราพยายามบอกว่า Sustainable Fashion Brand เป็นอีกทางเลือกสำหรับคุณในการลดการใช้ทรัพยากร หรือใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าให้มากที่สุด เพื่อโลกของเรา” จิรโรจน์กล่าวในท้ายที่สุด

 

ภาพจาก Circular Brand

You Might Also Like