TALK

บัณฑูร ล่ำซำ “เราไม่ปล่อยให้ใครแพ้ เราต้องหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ร่วมกัน เพื่อให้รอด”

18 กุมภาพันธ์ 2562…ใต้ถุนบ้านเจ้าสัว รองรับแขก 2 คณะคือชุมชนที่เกี่ยวข้อง และคณะ YPO (Young Presidents’ Organization) ซึ่งเจ้าของบ้าน เล่าความคืบหน้า “น่านแซนด์บ๊อกซ์ ปีที่ 2” สู่ขั้นที่ 1รัฐและชุมชนยอมรับตัวเลข 72,18 ,10 พร้อมหาองค์ความรู้ใหม่ๆ ร่วมกัน เพื่อให้รอด


จากก้าวที่ติดลบ
“ขณะนี้ต้องบอกว่าป่าต้นน้ำน่านหายไปแล้ว 28% ป่าน่านเป็นป่าใหญ่ที่สุดของประเทศไทย พื้นที่ที่ถูกกฎหมายในจังหวัดน่านมีน้อยมาก ทุกคนก็ติดอยู่ในป่าสงวนซึ่งมีถึง 85% มานานแล้ว เพราะเวลาไม่มีที่ทำกินก็ไปตัดป่า เพราะฉะนั้นเป็นความสูญเสียทุกฝ่าย และก็ใช่ว่าจะได้รายได้อะไรมากมาย ส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าวโพด ซึ่งไม่ได้รายได้มาก แต่สิ่งที่แลกไปคือ ป่าชั้น 1 ของประเทศไทย อันนี้ต้องหาทางว่า ทำอย่างไรป่าก็กลับมาคืนได้จำนวนหนึ่ง และประชาชนมีวิธีการทำมาหากินที่ดีขึ้นกว่าเดิม จะได้ไม่มีความกดดันที่จะไปตัดป่าสงวน”

 

มีเงินมีทองส่งลูกเรียนจนจบปริญญาตรี ก็เพราะปลูกข้าวโพดในพื้นที่ แทบจะทุกเส้นทางที่ข้าวโพดอยู่กับป่า

โจทย์ของบัณฑูร ล่ำซำ ในฐานะคนมีทะเบียนบ้านอยู่จังหวัดน่าน เคยบอกกับชุมชนที่มีถิ่นกำเนิดจังหวัดน่าน และยังมีวิถีเกษตรกร เมื่อปีที่แล้ว พร้อมย้ำว่า

ไม่อยากเล่นเกมส์เล็ก ไม่อยากให้คิดแค่เล็กๆ อยากให้คิดใหญ่ เพราะเป็นพื้นที่ที่คนมีชีวิตที่ดี มีอนาคตที่ดีสำหรับลูกหลานในการทำมาหากิน และรักษาความยั่งยืนของธรรมชาติ ของนิเวศน์วิทยาที่มีคุณูปการของความเป็นไปต่อดินฟ้าอากาศในประเทศด้วย อยากตั้งโจทย์อย่างนี้

โจทย์ดังกล่าวต้องหาคำตอบให้ได้ว่าทำอย่างไรที่ภาครัฐและชุมชนจะสรุปพื้นที่ที่ตกลงกันได้ ระหว่างพื้นที่ป่าไม้ และที่ทำกิน ซึ่งการดำเนินการที่จะให้เกิดความรวดเร็วได้นั้น ได้รูปแบบการทำงานอย่างมีบูณาการผ่าน “น่าน Sandbox” การบริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษเพื่อการเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน :พื้นที่จังหวัดน่าน โดยผู้รับผิดชอบคือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและประธานกรรมการภาคเอกชน (บัณฑูรล่ำซำ)

โครงการที่รัฐบาลอนุมัติเพื่อให้ภาคประชาชนภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันแก้ปัญหาทรัพยากรป่าไม้จังหวัดน่านและสร้างอาชีพการเกษตรอย่างยั่งยืนให้ราษฎรโดยรัฐบาลมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 48/2561 ลงวันที่14 กุมภาพันธ์ 2561 เรื่องการบริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน : พื้นที่จังหวัดน่าน

ภาพบน ปีที่ 2561 หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดน่าน และร่วมประชุมที่บ้านเจ้าสัว …ภาพล่าง รายงานนายกรัฐมนตรี 17 มกราคม 2562

สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดปี 2561 หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดน่าน และร่วมประชุมที่บ้านเจ้าสัว คือ ตัวเลขการใช้ประโยชน์ที่ทำกินในเขตป่าทั้งจังหวัดน่าน ตัวเลขคืนป่าบางส่วนเพื่อปลูกคืนกลับเป็นต้นไม้ใหญ่ ความต้องการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร สร้างฐานข้อมูลจังหวัดน่าน เจรจากับตณะกรรมการนโยบาย และกำกับดูแลประเด็นสิทธิที่ทำกิน

สู่ขั้นที่ 1

 

    (คลิกภาพ เพื่อดูภาพขยายทั้ง 2 ภาพ)

จากภาพข้างต้น การจัดสรรที่ดินป่าสงวนจังหวัดน่านเพื่อแก้ปัญหาหลักประเด็นสิทธิที่ทำกินของเกษตรกรให้มีความชอบด้วยกฎหมายโดยโครงการ

น่านแซนด์บ๊อกซ์ จะบริหารจัดการพื้นที่เขตป่าสงวนตามสัดส่วนดังนี้

72% = พื้นที่ป่าสงวนในปัจจุบันทุกคนช่วยกันรักษาป่าต้นน้ำนี้ให้คงอยู่ตลอดไป
18% = พื้นที่ทำกินในเขตป่าที่เกษตรกรน่านยินดีฟื้นฟูกลับมาเป็น
10% = พื้นที่ที่จัดสรรให้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้เต็มที่ (แต่ยังคงเป็นป่าสงวนโดยกฎหมาย)

ตัวเลขข้างต้น เป็นตัวเลขที่ได้รับการยอมรับทั้งจากภาครัฐ และชุมชนแล้ว สิทธิที่เกษตรกรจะได้ทำกินในพื้นที่เขตป่าสงวนในสัดส่วน 18% และ 10% เป็นสิทธิรูปแบบการทำกินในเขตป่าสงวนแบบแปลงรวม ซึ่งจะเรียกว่าภาคนโยบายเปิดไฟเขียวสำหรับ “น่านแซนด์บ๊อกซ์” แล้วก็ไม่ผิด และยิ่งไม่ผิดเลยหากจะกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปรากฎการณ์ครั้งแรกของประเทศในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำกันให้กับประชาชนในพื้นที่ด้วยรูปแบบเช่นนี้

บัณฑูรขยายความเพิ่มเติมถึงวันนี้ ที่ชุมชนที่เกี่ยวข้องกับน่านแซนด์บ๊อกซ์ทั้งหมดคือ 15 อำเภอ 99 ตำบล 924 หมู่บ้านโดยเฉพาะพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินในเขตป่าสงวนคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1, 2, 3, 4, และ 5 มี “คู่มือผู้นำชุมชน” แสดงพื้นฐานแต่ละคน พื้นที่รายแปลงของแต่ละคน อีกทั้งแสดงข้อมูลอื่นๆ หนี้สินที่มี สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญในการเดินหน้าน่านแซนด์บ๊อกซ์

“ไม่ได้บอกว่าจะต้องมีกี่ไร่แล้วชีวิตจะอยู่รอด ไม่ใช่ ต้องมีพื้นที่จำนวนหนึ่งต้องมีความสามารถในการทำกินบนพื้นที่นั้น และในความเป็นชุมชนเกษตรของจังหวัดน่านที่เป็น ย่อมหมายถึงพืชเกษตรที่มีคุณภาพสูง มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ขายได้ราคาดีๆ ส่งผลกลับมายังเกษตรกรทั้งหลายที่เป็นผู้ปลูกให้มีรายได้ที่ดี เพียงพอให้ชีวิตนั้นมีความเจริญ”

เรื่องของเงินทุนจะมีมูลนิธิรองรับ ตอนนี้เรามีกระบวนการว่า จะเสนอเรื่องน่านอย่างไร ถึงจะมีพลังงานในการนำเงินทั้งในและนอกประเทศมาช่วย เพราะการแก้ปัญหาน่าน เราไม่ได้แก้ปัญหาวิถีชีวิตพี่น้องประชาชนเท่านั้น แต่เราแก้แก้ปัญหาสภาพแวดล้อมของโลกด้วย เพราะที่นี่ถือเป็นป่าต้นน้ำใหญ่ ซึ่งจะต้องดูขั้นตอน

แลกเปลี่ยนข้อสงสัย

หนึ่งในผู้นำชุมชนที่มาร่วมงานได้ ได้ถามเพื่อความแน่ใจว่า “ถ้าผมกลับไปบ้าน ก็จะมีชาวบ้านถามว่าที่ไปประชุมมาขั้นตอนไปถึงไหนแล้ว ไม่ทราบว่าผมเข้าใจถูกไหมว่า ตอนนี้โครงการอยู่ในช่วงหาเงินสนับสนุน เมื่อได้รับการสนับสนุนอาจจะเป็นส่วนชดเชยรายแปลง หรือจะเป็นทางหาอาชีพทางเลือกให้กับชาวบ้านเพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น”

บัณฑูร และดร.วิจารย์ ร่วมรับฟัง และเปลี่ยนมุมมองกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมีตัวแทน YPO ร่วมสังเกตการณ์

บัณฑูร ตอบคำถามเรื่องนี้ว่า

-ที่ทำมาสำเร็จคือ มีข้อตกลงทั้งจังหวัดในหลักการตัวเลขว่า จะตกลงกันแบบนี้ ตามที่รัฐบาลอนุมัติแล้ว 72:18:10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงทรัพย์ฯ พร้อมที่จะลุย ข้อมูลเก็บมาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นไปดูสถานที

-เมื่อตัดสินสิทธิ์ จัดสรรกันใหม่แล้ว ก็ถึงจุดที่ว่า เลิกปลูกพืชแบบเดิม ก็ต้องคำนวนว่าของเดิมมีรายได้เท่าไหร่ อยู่ดีๆ ให้เขาเลิก ไม่มีเงินไปชดเชยนเขาก็ไม่ได้ นี่คือความจริง เพราะถ้าไม่ได้ปลูกพืชอันนี้ และยังไม่มีพืชใหม่มาให้ปลูก แล้วมีเงินที่ไหนมาหล่อเลี้ยง ต้องคำนวน ซึ่งนี่คือสิ่งที่จำทำ แต่ละคนต้องเท่าไร่จึงจะสมน้ำสมเนื้อยอมทดลองไม่ทำแบบเดิม

ภาพบนเมื่อปีที่แล้ว ระหว่างการหาน่านแซนด์บ๊อกซ์ รอบแรกๆ กับชุมชน ภาพล่าง เมื่อ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 พร้อมลุย

กำนันที่อำเภอ ศิลาแลง ได้สะท้อนปัญหาในพื้นที่หลังทำน่านแซนด์บ๊อกซ์ ซึ่งเป็นปัญหามาก่อนหน้านี้ผ่านมา 4 ผู้ว่าราชการจังหวัด 5 นายอำเภอ เหตุการณ์คือ ในพื้นที่ปาอนุรักษ์ของอำเภอศิลาแลง 125 ไร่ มีส่วนหนึ่งที่พี่น้องชาวม้งทำสวนลิ้นจี่ ในที่นี้ผมไม่ได้หมายถึงไปปิดกั้นสิทธิ์การดำเนินชีวิตของเขา เราพูดคุยได้ข้อสรุปชัดเจน แต่หาที่ลงไม่ได้ เพราะที่นั่นบอกว่าหากทางการชดเชยให้เขา ในพื้นที่ 100 กว่าไร่ ขอค่าชดเชย 140 ล้านบาท ผมหารือในเวทีระดับอำเภอ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ พอมาคุยกับคทช.บอกว่ามีพื้นที่รองรับ ซึ่งทางม้งยื่นข้อเสนอว่า ต้องเป้นพื้นที่ที่อยู่อำเภอปัวด้วย มีน้ำใช้ตลอดปี ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่อำเภอศิลาแลงหาได้ยาก พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่า ซึ่งก็อยากให้หน่ยงานภาครัฐไปติดตามหาข้อมูล หาข้อสรุป เพื่อขอคืนพื้นที่ป่าตรงนี้

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่า ต้องดูว่า มาอยู่เมื่อไหร่ ซึ่งตอนนี้เราก็ปรับปรุงกฏหมายเรื่องคนอยู่กับป่า ได้ทั้งสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งเปนแนวทางที่เราทำพร้อมกับอุทยานแห่งชาติด้วย ส่วนเรื่องเงินที่รัฐที่จะเข้ามาไม่มี แต่จะเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานไฟ น้ำ ซึ่งน้ำมีอยู่แล้ว  เราจะไปจัดเป็นงบประมาณ ที่จะมาหนุนแต่ละพื้นที่

คณะทำงานน่านแซนด์บ๊อกซ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องเงินชดเชยแล้วเราจะได้เงินสดเข้ากระเป๋า ไม่ใช่เงินชดเชย แต่เป็นเงินสนับสนุน และไม่ใช่ว่าเดิมมีรายได้จากปลูกพืชข้าวโพด 2,000 บาทต่อเดือน แต่เมื่อไม่ได้ปลูกจะรอรับเงิน 2,000 บาทคงไม่ใช่

ส่วนเรื่องพืชที่จะปลูกทดแทน มีงานวิจัยเพิ่งทำเสร็จพบว่า มีกลุ่มไม้ผลที่จะได้ราคาดี กาแฟ โกโก้ ไผ่ แต่หัวใจที่จะตัดสินคือระบบตลาด ถ้ามีคนมารอรับซื้อมีลอจิสติกรองรับพืชกลุ่มใหม่จึงจะไปได้ ซึ่งข้าวโพดไปได้เพราะมีระบบลอจิสติกมารองรับเลยซึ่งชาวบ้านไม่ต้องจัดการ…แต่ประเด็นหนึ่งที่จะต้องเลยตรงนี้คือ การจะเปลี่ยนเป็นพืชอะไรได้ต้องมีน้ำ ซึ่งเราต้องดูเรื่องแหล่งน้ำว่าอยู่ที่ไหนบ้าง

ปลูกกาแฟอินทรีย์ กาแฟสกาด น่าน คั่วแบบเข้มกลาง ขายเป็นพรีเมี่ยม ซึ่งกาแฟดังของน่านอีกสายพันธุ์คือ “เกอิชา” ดอยมณีพฤกษ์ ขาย 8,000 บาท/กก. อีกพื้นที่น่าน ปลูกโกโก้ อินทรีย์ และทำเป็นโกโก้แท้แท้ 100% ลิ้มรสได้ที่ COCOA VALLEY ว่ากันว่าโทสต์นี้ อร่อยกว่าร้านชื่อดังในเมืองกรุง แล้วจะรู้ว่ารสชาติโกโก้100%เป็นอย่างไร

 

ผู้นำชุมชนยังขอสะท้อนปัญหา น่านแซนด์บ๊อกซ์ เมื่อลงไปทำเรื่องเอกสารสิทธิ์ครบทุกหมู่บ้าน แล้วได้พื้นที่ที่ชัดเจนออกมาแล้ว เหลือแต่ว่าพื้นที่ที่อยู่อาศัยที่เรายังไม่ได้สำรวจ และยังไม่ได้รวมที่น่านแซนด์บ๊อกซ์ แต่เมื่อคทช.ลงทำหน้าที่เก็บรายแปลง มีปัญหาขัดกับความที่เราทำน่านแซนด์ บางส่วนหายไป บางส่วนเหลื่อมล้ำ จึงเกิดปัญหาอย่างยิ่งที่ตำบลอินหลวง ถ้ายึดของน่านแซนด์บ๊อกซ์ที่เราทำกันจนสำเร็จมาแล้ว ก็เป็นความสุขของพี่น้องประชาชน เพียงแต่เราเพิ่มที่อยู่อาศัยที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น คงเป็นความสุขของชาวบ้าน

อีกหนึ่งผู้นำชุมชน แสดงความเห็นว่า หลายท่านที่ถูกดำเนินคดีอยู่นั้น จะมีวิธีการใดสื่อสารให้ฝ่ายต่างๆ เขาทราบ และให้ชาวบ้านว่ารอสักนิดเขาจะได้หลุดพ้นจากตรงนั้น สิ่งที่เรากำลังทำเป็นการเปลี่ยนแลงความรู้สึกครั้งยิ่งใหญ่ว่า เขาไม่ใช่คนผิด แต่เขาจะได้รับโอกาส

บัณฑูร รับทั้ง 2 เรื่องไว้เพื่อดำเนินงานต่อไป พร้อมกล่าวเรื่องความเหลื่อมล้ำ พื้นที่ไม่ตรงกันนั้น จะต้องเก็บให้ครบ ไม่มีใครแขวนอยู่บนความไม่ถูกต้อง เรารับเรื่องนี้ไป เช่นเดียวกับในเรื่องการสื่อสาร กำลังทำเรื่องนี้อยู่ เพราะไม่ได้ผิดกัน 3-4 ราย แต่เยอะ แล้วทำไมคนนี้โดน คนนี้ไม่โดน  ไม่เข้าใจเหมือนกัน

บัณฑูรกล่าวในท้ายที่สุดว่า วันนี้จะเป็นการช่วยกันที่ทำให้ชุมชน “รอด” ไม่ใช่การตั้งคำถามว่า “จะได้ที่ดินจำนวนเท่าไหร่” เพราะไม่ได้เอาที่ดินไปขาย ซึ่งก็ขายไม่ได้เพราะเป็นป่าสงวน ซึ่งการ “รอด” ของน่าน จะแตกต่างจากโครงการหลวง หรือดอยตุง ซึ่งกำลังซื้อทั้งสองสามารถฉุดชุมชนได้ แต่น่านใหญ่ มีหลายดอยมาก ไม่มีใครฉุดขึ้นมาแบบนั้นได้

ชุมชนน่านแซนด์บ๊อกซ์
จะ “รอด” ได้
ต้องอาศัยตลาดจริงๆ
ต้องสู้ได้ในตลาดจริงๆ

หนึ่งในผู้ชุมชน ได้แสดงมุมมองตอนท้ายของการประชุมว่า “ขอบคุณที่สอนให้ชาวบ้านทำงานข้อมูล รู้จักสอบถามเพื่อให้ได้ข้อมูล ซึ่งจะอยู่กับชุมชนตลอดไป  โดยผู้นำมีศักยภาพ จะนำพาพวกเราแก้ปัญหาได้ ”

ล่าสุด กสิกรไทยเดินหน้าสนับสนุนโครงการ “น่านเพาะพันธุ์ปัญญา” โดย ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย (ขวา) รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย และ รศ.ดร.เสมอ ถาน้อย (ซ้าย) รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมลงนามสัญญาสนับสนุนการวิจัยและดำเนินโครงการ “น่านเพาะพันธุ์ปัญญา” ในการส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรหรือชุมนุมเพาะพันธุ์ปัญญาให้กับโรงเรียนในเขตจังหวัดน่านที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อผลักดันให้เกิดเป็นเครือข่ายถ่ายทอดการเรียนรู้ตลอดชีวิต บนหลักคิดที่น้อมนำปรัชญาของ“เศรษฐกิจพอเพียง” คาดจะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการศึกษา และเป็นกลไกนำไปสู่การตระหนักรู้และความเข้าใจ ในการร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นหลักใหญ่ของโครงการ “รักษ์ป่าน่าน”

 

หมายเหตุ :
ประเทศไทยได้ประโยชน์อย่างไร?
1. ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำน่านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมป่าไม้ที่สำคัญของประเทศจำนวน 1,401,434 ไร่ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญในสัดส่วนร้อยละ 45 ของแม่น้ำเจ้าพระยา
2. การบริหารจัดการที่สะท้อนความร่วมมือของภาคประชาชนภาครัฐและภาคเอกชนที่เป็นรูปธรรม
3. บทเรียนการแก้ปัญหาป่าต้นน้ำน่านและอาชีพการเกษตรที่ยั่งยืนเพื่อนำไปปรับใช้กับจังหวัดอื่นๆของประเทศไทย

เนื้อหาเกี่ยวเนื่อง

You Might Also Like