CSR

มูลนิธิกรุงศรีเชื่อมนักศึกษา-ชุมชนเปิดตัว “บันทึกข้าวหลามหินรุ่ย”

29 ธันวาคม 2564…เป็นผลงานงานของกลุ่มนักศึกษาจากสาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศภายใต้โครงการ “กรุงศรีอุดมศึกษาอาสาพัฒนา” ประจำปี 2563 เพื่อร่วมอนุรักษ์อาชีพและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน

พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยเลขานุการ มูลนิธิกรุงศรี กล่าวว่าโครงการ กรุงศรีอุดมศึกษาอาสาพัฒนา” เป็นหนึ่งในพันธกิจด้านการศึกษาที่สำคัญของมูลนิธิฯ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561อยู่ภายใต้แนวคิด ESG หรือ สิ่งแวดล้อม สังคม บรรษัทภิบาล

“มูลนิธิฯเน้นที่ ES โดยในส่วนของสิ่งแวดล้อม เราทำเรื่องสร้างฝายกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ช่วยให้พื้นที่แถบดอยตุงลดไฟป่าช่วงฤดูร้อนได้ โดยทุกปีจะพาพนักงาน และลูกขึ้นไปที่ดอยตุงเพื่อสร้าง Awareness นอกจากนี้เราทำเรื่องปลูกป่าชายเลนมา 10 ปี จะมีพนักงานร่วมโครงการ ล่าสุดเราร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในโครงการ Care the Wild ให้ชุมชนช่วยปลูกป่า และดูแล มีอัตราการรอด 70-80% ซึ่งเราจะใช้แอปของโครงการติดตามงาน เป็นเรื่องของคาร์บอน แคปเจอร์ ซึ่งอนาคตจะมีการซื้อขายมากขึ้น”

พูนสิทธิ์ อธิบายต่อเนื่องมาถึงตัว S มูลนิธิฯ เน้นเรื่องการศึกษา รอบรู้เรื่องเงิน ให้ความรู้การจัดการเรื่องเงินตลอด 6 ปี ในฐานะที่กรุงศรีเป็นธนาคาร พนักงานรู้เรื่องการเงิน ซึ่งในส่วนนี้ทำกับเยาวชน ป.5-ป.6 ในปีเริ่มต้น 70 โรงเรียน และยังทำต่อเนื่อง ถึง 400 โรงเรียน ล่าสุดมูลนิธิฯขยายไปเรื่องนี้ที่เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา

“มาถึงโครงการ “กรุงศรีอุดมศึกษาอาสาพัฒนา” เราอยากโปรโมทมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยราชมงคล เพื่อสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันและเสริมสร้างจิตสาธารณะให้กับเยาวชนในระดับนี้ ส่งเสริมการนำทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาที่ศึกษาไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมอาสาพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ของชุมชนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

ทั้งนี้ ผลการตัดสินในปี 2563 มูลนิธิกรุงศรีได้คัดเลือกโครงการกิจกรรมอาสาพัฒนาจำนวน 9 โครงการ จากสถาบันการศึกษา 6 แห่งทั่วประเทศ โดย “บันทึกข้าวหลามหินรุ่ย” ของนักศึกษาจากสาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้รับรางวัลชนะเลิศตามเงื่อนไข

1.ผลงานให้ประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
2.ผลงานสอดคล้องกับวิชาเรียนของนักศึกษา
3.ผลงานเพิ่มทักษะการสื่อสาร

อารุณ ภาคสมบูรณ์ ผู้แทนคณะทำงานโครงการ “บันทึกข้าวหลามหินรุ่ย” จากสาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต กล่าวถึงสาเหตุที่เลือกส่งผลงาน “บันทึกข้าวหลามหินรุ่ย” เพราะเมื่อสืบค้นพบว่า สุภาพ-ยุพิน ศรีเพชรพูล ผู้ประกอบอาชีพผลิต “ข้าวหลามหินรุ่ย” ในชุมชนหินรุ่ย หมู่ 1 ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต นับเป็นต้นแบบในพื้นที่ผลิตมานาน เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ก็หาข้อมูลลำบาก จะต้องคุยกับ สุภาพ-ยุพิน เท่านั้น

ขั้นตอนการผลิต“ข้าวหลามหินรุ่ย”

คำถามในกลุ่มเกิดขึ้น “ทำอย่างไรให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นดังกล่าว ถูกสื่อสารได้อย่างก้างขวางมากกว่านี้” เมื่อได้พูดคุยกับผู้ผลิต “ข้าวหลามหินรุ่ย” จึงเป็นที่มาของการ

1.ทำให้พื้นที่บ้านแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ขนาดเล็ก “ข้าวหลามหินรุ่ย” ตั้งแต่ต้นจบพร้อมที่นำออกขายที่ตลาดตอนเช้า
2.ทำหนังสือ “บันทึกข้าวหลามหินรุ่ย” ให้กับผู้สนใจ และกระจายไปยังห้องสมุดในจังหวัดภูเก็ตให้ได้มากที่สุด
3.ทำสื่อ “บันทึกข้าวหลามหินรุ่ย” ผ่าน E-book เพื่อให้ผู้สนใจโหลด QR Code อ่านได้

สุภาพ-ยุพิน กล่าวว่า ปัจจุบัน มีผู้ประกอบอาชีพทำข้าวหลามหินรุ่ยเหลือเพียง 5 หลังคาเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ หากไม่มีการสืบทอด อาชีพนี้คงจะหมดไปจากชุมชนหินรุ่ยอย่างแน่นอน

“การที่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ตได้แจ้งความประสงค์ว่าต้องการนำองค์ความรู้และภูมิปัญญาในการทำข้าวหลามหินรุ่ยไปเก็บไว้เป็นคลังความรู้เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาหรือต่อยอดเป็นเรื่องที่น่ายินดี แสดงให้เห็นว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ยังเห็นความสำคัญในอาชีพนี้ จึงพร้อมให้ความรู้อย่างเต็มที่เพื่อคนรุ่นหลังจะได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป”

อารุณกล่าวถึงโครงการนี้ในท้ายที่สุด นับว่าเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้นักศึกษาได้ใช้ความรู้ความสามารถในสาขาวิชาที่เรียนมาเพื่อนำไปปฏิบัติได้จริง อีกทั้งยังเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์สำหรับชุมชุน

“การได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิกรุงศรีเป็นเสมือนแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ความมุ่งมั่นของพวกเราในการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ นอกจากนี้ ยังช่วยปลูกฝังให้นักศึกษาที่ร่วมโครงการให้มีจิตสำนึกด้านงานอาสาและการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในผลงานและสร้างประสบการณ์ชีวิตนอกห้องเรียนที่มีความหมาย รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม”

You Might Also Like