CSR

ไทยพัฒน์ เผย CSR ปี 65 ชูแนวคิด Social Positive ธุรกิจที่สร้างผลบวกต่อสังคม

24 กุมภาพันธ์ 2565…ปัจจัยความท้าทายใหม่ ๆ ในปี 2565 ทั้งปัญหาการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและปัญหาหนี้สินในภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ล้วนส่งอิทธิพลต่อการเติบโตทางธุรกิจและความก้าวหน้าทางสังคม นอกเหนือจากผลพวงของสถานการณ์โควิดที่ยังส่งผลสืบเนื่องต่อในปีนี้

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ ได้กล่าวถึงการพัฒนาแนวคิดในการปรับปรุงพัฒนารูปแบบธุรกิจ ที่เรียกว่า “ธุรกิจที่เป็นบวกต่อสังคม” หรือ Social Positive Business ซึ่งเชื่อว่า จะเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการสร้างผลกระทบต่อสังคมในเชิงบวกไปพร้อมกันกับการเติบโตของธุรกิจ ด้วยการยกระดับจากการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมในรูปแบบของการบริจาคเงิน/สินค้า/บริการ ฯลฯ และการเพิ่มระดับการกระจายมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านกิจกรรมทางธุรกิจแก่ผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าอย่างเป็นธรรม ไปสู่การใช้ขีดความสามารถหลักทางธุรกิจในการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมส่วนตลาดที่ยังมิได้รับการตอบสนอง (Unserved) หรือที่ยังตอบสนองได้ไม่เต็มที่ (Underserved) เพื่อเติมเต็มคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี เกิดเป็นผลบวกต่อสังคมกลุ่มเป้าหมาย

ทั้งนี้ 6 ทิศทาง CSR ปี 2565 คือ

1. Regenerative Agriculture & Food System
ระบบอาหารและการเกษตรแบบเจริญทดแทน

เป็นธุรกิจการเกษตรที่เน้นการคืนสภาพของหน้าดิน การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ การปรับปรุงวัฏจักรของน้ำ การเพิ่มพูนบริการจากระบบนิเวศ การสนับสนุนการกักเก็บคาร์บอนด้วยวิธีการทางชีวภาพ การเพิ่มภาวะพร้อมผันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกี่ยวข้องตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูป การขนส่ง การจัดจำหน่าย การบริโภค ไปจนถึงกระบวนการกำจัดของเสีย รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมการผลิตอาหารที่เป็นผลบวกต่อธรรมชาติ (Nature-Positive Production)

2. Biotechnology
เทคโนโลยีชีวภาพ

เป็นธุรกิจที่จะไปเสริมหนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy) ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเสริมสร้างจุดแข็งของประเทศไทย อาทิ พันธุวิศวกรรม (การดัดแปลงยีน) การผลิตสารเวชภัณฑ์ (เช่น ยา วัคซีน โปรตีนเพื่อการบําบัด) การผลิตชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ การเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อม การผลิตที่ใช้เซลล์จุลินทรีย์ เซลล์พืช และเซลล์สัตว์ในการผลิตสารชีวโมเลกุล สารออกฤทธิ์ชีวภาพ การผลิตวัตถุดิบและ/หรือวัสดุจําเป็นที่ใช้ในการทดลองหรือทดสอบด้านชีววิทยาระดับโมเลกุล รวมทั้งบริการตรวจวิเคราะห์และ/หรือสังเคราะห์สารชีวภาพ

Cr.freepik

3. Renewable Resources & Alternative Energy
ทรัพยากรหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก

เป็นธุรกิจที่สอดรับกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน เช่น การใช้เชื้อเพลิงสะอาด การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า และการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน สำหรับรองรับการยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ตามที่ประเทศไทยประกาศในเวทีประชุม World Leaders Summit ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (UNFCCC COP26) ที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน ค.ศ. 2065

4. Electric Vehicles & Components
ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนประกอบ

เป็นธุรกิจที่สอดรับกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่ง และร่วมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ตามนโยบาย 30/30 คือการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030

5. Social Digital Assets
สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อสังคม

เป็นธุรกิจการเงินแบบหลากหลาย (Diversified Finance) ที่ไม่ได้มีเพียงธนาคาร เงินทุนและหลักทรัพย์ หรือธุรกิจประกัน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างศึกษาการออกใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางในระดับรายย่อย (Retail CBDC) เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนในการใช้จ่ายและชำระเงินที่ปลอดภัย ลดต้นทุนต่อหน่วยของการใช้เงินสดในระบบ เอื้อประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม อีกทั้งได้เริ่มมีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งที่เป็นศูนย์ซื้อขาย (Exchange) นายหน้า (Broker) ผู้ค้า (Dealer) ที่ปรึกษา (Advisor) และผู้จัดการเงินทุน (Fund Manager) ดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ที่ ก.ล.ต. เพิ่มมาเป็นประเภทธุรกิจใหม่ภายใต้การกำกับดูแลในปัจจุบัน

6. Metaware for Vulnerable Groups
เมตาแวร์เพื่อกลุ่มเปราะบาง

เป็นธุรกิจที่นำเทคโนโลยีในโลกเมตาเวิร์ส มาพัฒนาอุปกรณ์หรือเมตาแวร์สำหรับเสริมสร้างคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง อาทิ กลุ่มคนพิการในกลุ่มที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ติดบ้านและติดเตียง แต่ประสาทสัมผัสทั้งห้ายังเป็นปกติ เนื่องจากเมตาเวิร์ส สามารถช่วยจำลองให้บุคคลไปอยู่ในสถานที่ต่างๆ ได้ โดยอาศัยการสวมใส่อุปกรณ์ที่สร้างการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสในรูปแบบของภาพและเสียง เช่น อุปกรณ์สวมศีรษะ VR (Virtual Reality) และสามารถมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่อยู่ในเมตาเวิร์สเดียวกันผ่านการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เปิดโอกาสให้กลุ่มเปราะบางดังกล่าว สามารถใช้ประโยชน์จากเมตาเวิร์ส มาทดแทนข้อจำกัดในการทำกิจกรรมที่ต้องเดินทางหรือต้องออกจากบ้าน

ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประเมินทิศทางธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า 6 ทิศทาง CSR ปี 2565: From ‘Net Zero’ to ‘Social Positive’ สำหรับหน่วยงานและองค์กรธุรกิจในการใช้พัฒนาแนวทางการสื่อสารข้อมูลผลกระทบทางบวกที่มีต่อสังคมให้เกิดประสิทธิผล สมตามเจตนารมณ์ของกิจการ

พร้อมกันนี้ วรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการ และฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์ กรรมการ สถาบันไทยพัฒน์เสวนาเรื่อง Social Positive: Business as New Normal เพื่อนำเสนอรูปแบบการดำเนินงานที่เป็นบวกต่อสังคม (Social Positive: SP) ใน 3 หมวด ได้แก่

1.การให้ความช่วยเหลือที่เกิดเป็นผลบวกต่อสังคมขึ้นภายหลังกระบวนงานทางธุรกิจ (SP-after-process) และเป็นกิจกรรมที่อยู่นอกเหนือธุรกิจแกนหลักของกิจการ
2.การกระจายมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดเป็นผลบวกต่อสังคมขึ้นในกระบวนงานทางธุรกิจ (SP-in-process) ครอบคลุมตั้งแต่ผู้มีส่วนได้เสียในองค์กรไปจนถึงผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของกิจการ
3.การขยายขอบเขตการดำเนินงานไปเป็นกระบวนงานทางธุรกิจ (SP-as-process) ในวิถีปกติใหม่ที่ให้ผลบวกต่อสังคมจากธุรกิจแกนหลักของกิจการ

 

You Might Also Like