CSR

เคทีซีรุกหมวด “บริจาค” กับองค์กรการกุศลกว่า 60 แห่ง สร้างแพลตฟอร์มใหม่สอดคล้อง ESG

7 กันยายน 2564…ปรับแผนธุรกิจหมวดบริจาครับวิถีใหม่ ด้วยบัตรเครดิตผ่าน QR Pay และแลกคะแนนผ่าน QR Point ทางแอปฯ KTC Mobile เพื่อให้สมาชิกเข้าถึงการบริจาคได้ง่ายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น หลีกเลี่ยงการเดินทางและลดการแพร่ระบาดจากไวรัสโควิด-19

ภาคการเงินในฐานะเป็นตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนในระบบเศรษฐกิจ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของประเทศ โดยปัจจุบันหน่วยงานในภาคการเงินได้เริ่มนำแนวคิดการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) มาผนวกในกลยุทธ์การทำธุรกิจซึ่งคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในทุกกระบวนการอย่างจริงจัง

สิรีรัตน์ คอวนิช ผู้อำนวยการ   ธุรกิจบัตรเครดิต “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เคทีซีเข้าใจและตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยหวังว่าจะมีส่วนช่วยสร้างสังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยได้ดำเนินการช่วยเหลือสังคมในหลากหลายรูปแบบ โดยหนึ่งในนั้นคือ การสบทบทุนในโครงการต่าง ๆ ซึ่งตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เคทีซีได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์สนับสนุนโครงการและกิจกรรมต่างๆ ระหว่างมูลนิธิกับสมาชิก พร้อมทั้งเปิดช่องทางรับบริจาคผ่านบัตรเครดิตให้กับสมาชิกเคทีซี เพื่อส่งต่อให้กับมูลนิธิหรือองค์กรการกุศลต่างๆ กว่า 60 แห่ง โดยปี 2563 มียอดบริจาคผ่านบัตรเครดิตเคทีซีด้วยคะแนน KTC FOREVER กว่า 50 ล้านคะแนน ยอดเงินบริจาครวม 300 ล้านบาท”

สิรีรัตน์ ขยายความต่อเนื่อง แม้ว่าในปี 2564 สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 รุนแรงและขยายวงกว้าง ส่งผลต่อเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ รวมถึงการบริจาคช่วยเหลือ ทำให้ยอดเงินบริจาคถึงสิงหาคมที่ผ่านมาจะอยู่ประมาณ 200 ล้านบาท แต่เคทีซียังคงเดินหน้า ให้ความร่วมมือกับมูลนิธิต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อให้เข้าถึงผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในหลากหลายรูปแบบได้อย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้กักกันตน โรงพยาบาลที่ขาดแคลนเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือการสร้างศูนย์พักคอยรองรับผู้ป่วยสีเขียวในต่างจังหวัด โดยถือเป็นภาระเร่งด่วนที่สุดในการประสานกับมูลนิธิต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเปิดช่องทางให้สมาชิกเคทีซีสามารถเข้าถึง เพื่อเสริมแรงสนับสนุน และช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

ดร. บรรจงเศก ทรัพย์โสภา ผู้อำนวยการมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ขรรค์ ประจวบเหมาะ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย จุฑารัตน์ วิบูลสมัย ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาแหล่งทุน มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม อรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการแผนกส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชน UNHCR โดยทั้งสี่ เป็นองค์การกุศลที่ผู้ใช้บัตรเคทีซี “หมวดบริจาค” สามารถบริจาคตรงช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเงินที่ลูกค้าเคทีซีบริจาคเข้ามาในช่วงนี้ 4 องค์กรที่ยกตัวอย่าง จะนำเงินไปใช้กับเรื่องโควิด-19 ที่ต้องรับผิดชอบ

ดร. บรรจงเศก : เงินบริจาคที่เข้ามา ซี.ซี.เอฟ. จะนำไปใช้ในศูนย์ผู้พักคอยชุมชนและแยกกักกันในต่างจังหวัดเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะส่วนใหญ่ศูนย์พักคอยมักจะอยู่ในเขตกรุงเทพฯ หรือในเขตเมือง ปัจจุบันเรามีศูนย์ฯ ที่สนับสนุนอยู่ในต่างจังหวัดทั้งหมด 37 แห่ง และกำลังจะสนับสนุนเพิ่ม 16 แห่ง แต่ยังขาดแคลนด้าน เวชภัณฑ์ อาหาร และสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยมาก ซึ่งเรื่องง่าย ๆ ที่อาจจะคิดไม่ถึงเช่นเรื่องเครื่องนอนก็มีความจำเป็นไม่น้อยไปกว่ากันที่จะดูแล

ขรรค์ : สภากาชาดไทยเน้นเรื่องการบริจาคถุงธารน้ำใจ 1 แสนกว่าถุง ถุงละ 600 กว่าบาท ซึ่งเงินที่ได้รับบริจาคเข้ามาจะเข้ามาช่วยในส่วนนี้ ให้ผู้กักตน ผู้สูงวัยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ผู้ติดเชื้อโควิด และดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิดของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมถึง Hospitel และ Home Isolation เฉลี่ยวันละ 800-900 ราย รวมถึงสร้างหอผู้ป่วยสนามเร่งด่วนและจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด

จุฑารัตน์ : เนื่องภารกิจมูลนิธิฯ ปกติจะต้องไปพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อผ่าตัดเด็กที่มีโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ปีหนึ่งจะมีการวางแผนออกหน่วย 4 ครั้งต่อปี ใน 4 จังหวัด ครั้งหนึ่งประมาณ 7 วัน โดยไปทำการผ่าตัดให้ผู้ป่วยเด็กเฉลี่ย 80 – 100 คน ซึ่งเงินที่ได้รับบริจาคจะถูกนำมาทำงานตรงนี้ แต่เมื่อเกิดโควิด-19 เดินทางไม่ได้ แต่ยังมีเด็กที่เป็นโรคนี้ต้องได้รับความช่วยเหลือ จึงยังมี “โครงการผ่าตัดแบบต่อเนื่อง” โดยให้งบสนับสนุนกับโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ ที่มีศัลยแพทย์ ผ่าตัดผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ได้ต่อเนื่อง และเรายังมีโครงการ “Smile Box” กล่องแห่งรอยยิ้ม ซึ่งบรรจุผ้าอ้อมเด็ก นมผง หน้ากากอนามัย อุปกรณ์การเรียน แผ่นพับที่ให้ความรู้ในการดูแลเด็ก และขวดนมที่มีลักษณะยาวพิเศษสำหรับเด็ก ปากแหว่งเพดานโหว่ เพื่อส่งให้กับผู้ป่วยเด็กที่เราเคยผ่าตัดไปแล้ว กับผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการผ่าตัด โดยส่งไปแล้วประมาณ 200 กล่อง

อรุณี :โควิด-19 พิสูจน์แล้ว ไม่ได้แบ่งเชื้อชาติ ศาสนา หรือกลุ่มคน กลุ่มผู้ลี้ภัยก็มีการแพร่ระบาดของไวรัสเช่นกัน และอยู่ในความเสี่ยงสูงมากจากข้อจำกัดต่างๆ UNHCR ได้ระดมกำลังเพื่อเข้าช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและบุคคลในความห่วงใยทั้งในและนอกค่ายทั่วโลกให้ได้รับความเท่าเทียม โดยไม่เลือกปฏิบัติ เพิ่มจุดแจกจ่ายน้ำให้มากขึ้น จุดล้างมือ จุดแจกจ่ายสบู่ หรือหน้ากากอนามัย และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การอบรมให้ทราบถึงการเว้นระยะห่าง การรักษาพยาบาลเพิ่มเติม กรณีมีเคสผู้ป่วย กลุ่มแพทย์และพยาบาลต้องรับรู้เคสและสามารถรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ รวมทั้งสร้างพื้นที่ในการคัดแยกผู้ป่วยอีกด้วย

คลิกภาพอ่านรายละเอียด

“โควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์มากมาย ส่งผลกระทบให้มูลนิธิและองค์กรการกุศลต่าง ๆ ได้รับการสนับสนุนจากสังคมลดน้อยลง เคทีซีจึงตั้งใจพัฒนาแพลตฟอร์มช่องทางการบริจาค ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ และโมบายแอปพลิเคชั่น โดยล่าสุดได้พัฒนาช่องทางออนไลน์ ด้วยฟังก์ชันการบริจาคผ่านบัตรเครดิตด้วย QR Pay การบริจาคด้วยคะแนนผ่าน QR Point โดยแลกคะแนนผ่านแอปฯ KTC Mobile เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกเคทีซีสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมได้ง่ายขึ้น และสามารถบริจาคเพื่อการทำบุญได้อย่างต่อเนื่องทุกเดือน” สิรีรัตน์ กล่าวในท้ายที่สุด

 

You Might Also Like