CIRCULAR ECONOMY

Plastic Footprint โดย UNEP คือสิ่งใหม่ที่บริษัท หน่วยงานภาครัฐ จะเริ่มสนใจ

29 มีนาคม 2564…SD Perspectives ได้รับการยืนยัน จาก *สมาคมการจัดการของเสีย (ประเทศไทย) เปิดตัวโครงการ SEA circular in Thailand เพื่อแสดงเจตจำนงและความมุ่งมั่นที่จะลดการปนเปื้อนของขยะพลาสติกสู่ทะเล และจะเป็นการเริ่มต้น Plastic Footprint

โครงการล่าสุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ชุดโครงการ SEA circular  ริเริ่มโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme) หรือ UNEP ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรสวีเดน

ที่ผ่านมา บริษัทต่าง ๆ กำลังรายงานการใช้คาร์บอน แต่ปริมาณพลาสติกที่ผลิตได้ล่ะ? เป็นปัญหาที่แตกต่างจากการปล่อยก๊าซคาร์บอน แต่แม้ว่าผลกระทบด้านลบของพฤติกรรมการใช้พลาสติกของมนุษยชาติจะเป็นที่ทราบกันมานานหลายปีแล้ว แต่ปริมาณการใช้ก็เพิ่มขึ้น

แต่ละปี ขยะพลาสติกราว 8 ล้านตันรั่วไหลลงสู่ทะเลและมหาสมุทร   มลพิษจากพลาสติกเหล่านี้ส่งผลกระทบทางตรงอย่างรุนแรงต่อสัตว์น้ำและสภาพแวดล้อม มีการคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2593 จะมีปริมาณพลาสติกในมหาสมุทรมากกว่าจำนวนปลา สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศของโลกอย่างประเมินค่ามิได้

สำหรับหนึ่งในเป้าหมายหลักสำคัญของโครงการ SEA circular in Thailand คือการลดการใช้พลาสติกและเพิ่มการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด สมาคมฯ จะดำเนินโครงการนี้ร่วมกับบริษัทและองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อช่วยศึกษาการใช้และทิ้งพลาสติกในปัจจุบัน บ่งชี้โอกาสในการลดผลกระทบ และสนับสนุนการลงมือปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

 

เบื้องต้น สมาคมฯ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากบริษัทและองค์กรต่างๆ จากหลายภาคส่วน เช่นอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ผลิตพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ ภาคบริการ และภาคการศึกษา ประกอบไปด้วย บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน), บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน), บริษัท คอสมอสบริวเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน), โรงแรม เดอะ สุโกศล, โรงแรมซิกเซ้นส์ รีสอร์ท สปาร์, บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด, บริษัท ซีเท็กซ์อินดัสตรีคอร์ปอเรชั่น จำกัด, เทศบาลตำบลเวียงเทิง จ.เชียงราย, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, โรงเรียนวัดสร้อยทอง และโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย

บริษัทและองค์กรต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและยินดีเป็นหน่วยงานนำร่องเพื่อร่วมศึกษาและร่วมกันพัฒนาแนวทางการลดพลาสติกฟุตปริ้นท์ ตามแนวทางของ The Ocean Recovery Alliance (ORA) องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและฮ่องกง เป็นผู้ให้ร่วมให้การสนับสนุนวิธีการศึกษาและการลดพลาสติกฟุตปริ้นท์ในโครงการนี้

“รูปแบบการทำงาน ทางโครงการฯ จะเข้าไปร่วมติดตามการทำงานในการบริหารจัดการขยะพลาสติก เพื่อช่วยในการปรับปรุงให้รีไซเคิลได้ โดยจะแบ่งเป็น 2 ฝั่งคือฝั่งใช้ และฝั่งทิ้ง โดยฝั่งใช้จะดูปริมาณสัดส่วนการใช้ประเภทพลาสติกต่าง ๆ เป็นอย่างไร ส่วนฝั่งทิ้ง หากเป็นทิ้งสู่ Landfill จะเป็นสิ่งที่แย่ที่สุด ขึ้นมาเป็นย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หากเป็นการรีไซเคิลจะดีที่สุด ซึ่งโครงการฯ เราจะไปหาว่าจุดใดที่จะต้องปรับปรุง ซึ่งข้อมูลที่เกิดขึ้นจะสามารถใส่ลงไปในรายงานความยั่งยืนได้” ภัทรพล ตุลารักษ์ ผู้จัดการโครงการฯ อธิบายการทำงาน

ศ.ดร. อรทัย ชวาลภาฤทธิ์ นายกสมาคมฯ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการนี้มีความสำคัญสำหรับการจัดการสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในประเทศไทย การเรียนรู้ร่วมกัน และการแลกเปลี่ยนแนวความคิดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของโครงการนี้ และเราจะมีการจัดงานประชุมสัมมนาเพิ่มเติมเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวในช่วงระยะเวลาของโครงการนี้คือ 31 ธันวาคม 2564

*สมาคมการจัดการของเสีย (ประเทศไทย) หรือ Solid Waste Management Association Thailand (SWAT) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2558 โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในวงการด้านการจัดการของเสียและทรัพยากรและผู้ที่ตระหนักถึงปัญหาด้านของเสีย จากหลากหลายสาขาอาชีพในประเทศไทยทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และประชาชนทั่วไป

วัตถุประสงค์หลักของสมาคมฯ ประกอบไปด้วย

1.พัฒนาและสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการของเสีย
2.ยกระดับมาตรฐานและจรรยาบรรณของหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ในการจัดการของเสียโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน
3.ประสานงานและส่งเสริมความร่วมมือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์กรภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชนและภาคประชาชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ในการขับเคลื่อนกระบวนการแก้ไขปัญหาด้านการจัดการของเสีย
4.ส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการด้านการจัดการของเสียต่อสาธารณชนและสร้างจิตสำนึกในการร่วมมือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืน

 

You Might Also Like