CIRCULAR ECONOMY

แบรนด์ต้องการปฏิบัติเรื่อง Sustainability จริงจัง เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่สนใจเรื่องนี้

17 ธันวาคม 2564… ภายใต้พันธกิจด้านความยั่งยืนระดับโลกของเนสท์เล่ ส่งผลต่อทุกแบรนด์ในกลุ่มที่จะต้องมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ

มีข้อมูลหนึ่งจาก Capgemini  ระบุว่าผลิตภัณฑ์ซึ่งมีวางตลาดอยู่ และเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเติบโต 50% ในช่วงปี 2013-2016 และเติบโตเร็วกว่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่เกี่ยวกับความยั่งยืนเลย 5.6 เท่า และ79% ของผู้บริโภคเปลี่ยนปัจจัยหลักในการซื้อ โดยพิจารณาจากความรับผิดชอบต่อสังคม ความเท่าเทียมกัน หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากภาพที่แบรนด์แสดงออกมาให้โลกเห็น ส่วนปี 2019 McKinsey กล่าวถึงการลงทุนที่เกี่ยวกับความยั่งยืนมีมูลค่ากว่า 30 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 68% นับจากปี 2014 เป็นต้นมา (SD Perspectives)

วิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า กล่าวว่า การเปิดตัวโรงงานยูเอชที เนสท์เล่นวนคร 7 แห่งใหม่ในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนพันธกิจด้านความยั่งยืน พัฒนาบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดให้สามารถรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ตลอดจนลดการใช้พลาสติกที่ผลิตใหม่ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2568 และมีแผนงานในการลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593

โรงงานยูเอชที เนสท์เล่นวนคร 7 จะผลิตเครื่องดื่มยูเอชทีภายใต้แบรนด์ไมโล และนมตราหมี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจหลักของเนสท์เล่ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดให้ผู้บริโภค พร้อมคำนึงถึงความยั่งยืนในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่แห่งคุณค่า ตั้งแต่

กระบวนการผลิต ที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ การพัฒนาเครื่องโฮโมจีไนเซอร์ ที่ใช้ในการผลิตไมโล โดยเทคโนโลยีเมมเบรน แทนระบบเก่าที่เป็นแบบลูกสูบ ส่งผลให้มีการใช้พลังงานน้อยลงและลดความถี่ในการซ่อมบำรุง

การใช้ Heat Recovery System เพื่อนำความร้อนจากไอน้ำและน้ำร้อนที่เกิดจากกระบวนการผลิตกลับมาหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อลดการใช้พลังงาน

ยังมีแผนที่จะนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในปี 2564 โดยจะติดตั้ง แผงโซลาร์เซลล์ที่หลังคาโรงงานและที่จอดรถ รวมไปถึงมีแผนจะเปลี่ยนมาใช้กาวกันกล่องลื่นทดแทนการใช้ ฟิล์มพลาสติกที่ใช้ยืดพันพาเลทในขั้นตอนการขนส่ง พร้อมทั้งลดการใช้พลาสติกผลิตใหม่ด้วยการใช้ฟิล์มหุ้มบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล 30%

นอกจากนั้น โรงงานยังเลือกใช้สารทำความเย็นที่ไม่ทำลายชั้นโอโซนในระบบการทำความเย็นของโรงงาน และยังมีการวางระบบจัดการของเสียและน้ำเสียจากการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพตามประเภทของขยะ เช่น การนำไปรีไซเคิล การนำไปสร้างเป็นพลังงานใหม่ และการนำไปทำปุ๋ย ทำให้ไม่มีของเสียไปฝังกลบ

โรงงานยูเอชที เนสท์เล่นวนคร 7 สายการผลิตผลิตภัณฑ์ไมโล ยูเอชที กระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการใช้พลังงาน ใช้หลอดกระดาษแบบโค้งงอได้กับผลิตภัณฑ์ไมโล ยูเอชที กล่องแบบ Wrap Around ช่วยลดปริมาณการใช้กระดาษลูกฟูกในการบรรจุสินค้า

การใช้นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เช่น การนำหลอดกระดาษแบบโค้งงอได้
มาใช้กับผลิตภัณฑ์ไมโลยูเอชที รวมถึงลดปริมาณการใช้กระดาษลูกฟูกในการบรรจุสินค้า ด้วยการออกแบบกล่องให้เป็นแบบ Wrap Around แทนกล่องพับฝาชนทั่วไป

“เราจะทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อเข้าสู่สังความแห่งการพัฒยาอย่างยั่งยืน แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีต้นทุนที่สูงขึ้น แต่เราสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ได้โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้บริโภค ในขณะที่ผู้บริโภคเองให้ความสำคัญ ให้น้ำหนักต่อสินค้าที่ยั่งยืนในวงกว้างมากขึ้น”

ไชยงค์ สกุลบริรักษ์ ผู้อำนวยการบริหารธุรกิจผลิตภัณฑ์นมและโภชนาการสำหรับผู้ใหญ่ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ยกตัวอย่างนวัตกรรมในโรงงานแห่งนี้ที่ใกล้ชิดผู้บริโภคในตลาดไม่น้อยกว่าที่กล่าวมาแล้วข้างต้นคือ การที่ไมโลเปลี่ยนมาใช้ “หลอดกระดาษงอได้” โดยใช้เยื่อกระดาษบริสุทธิ์ 100% เพื่อความปลอดภัย ซึ่งขณะนี้หลอดกระดาษใหม่ของไมโลมีมากกว่า 500 ล้านชิ้นที่ติดอยู่กับกล่องไมโลทุกรสชาติ ตั้งแต่รสชาติดั้งเดิม น้ำตาลน้อยกว่า และไม่มีน้ำตาล กระจายไปทั่วประเทศ โดยในส่วนซองพลาสติกที่หุ้มหลอดขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาหากระดาษที่เหมาะสม เปลี่ยนเป็น “กระดาษ”หุ้มหลอดกระดาษ

สุดท้าย การจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค ผ่านโครงการ “กล่องนมรักษ์โลก” ซึ่งเป็นกิจกรรมให้ความรู้กับนักเรียนในโรงเรียนนำร่องเกี่ยวกับการจัดการบรรจุภัณฑ์ยูเอชทีภายหลังการบริโภคอย่างถูกวิธี รวมทั้งมีกระบวนการเก็บบรรจุภัณฑ์ยูเอชทีกลับมาเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง

“จากความใส่ใจดังกล่าว ทำให้โรงงานยูเอชที เนสท์เล่นวนคร 7 แห่งนี้ช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 4,420 จิกะจูล/ปี หรือเทียบเท่าการเปิดเครื่องปรับอากาศขนาด 18,000 BTU ตลอด 24 ชม. นานถึง 77 ปี นอกจากนี้ จากการนำเสนอนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เราสามารถประหยัดกระดาษไปได้ 752 ตัน หรือเท่ากับกระดาษ A4 150 ล้านแผ่น พร้อมลดปริมาณการใช้พลาสติกได้ถึง 142 ตัน เท่ากับถุงพลาสติก 26 ล้านใบทุกปี” ไชยงค์ กล่าวในท้ายที่สุด

You Might Also Like