ACTIVITIES

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อว่า ผู้ประกอบการทางสังคม คือ นักธุรกิจของยุคหน้า

25 กุมภาพันธ์ 2565…ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งเชื่อมโยงความร่วมมือกับภาคสังคมและภาคธุรกิจ ด้วยการสร้างพื้นที่แห่งโอกาสให้ธุรกิจเพื่อสังคม นำเสนอแผนธุรกิจในการแก้ไขปัญหาสังคมแก่ภาคธุรกิจ ในงาน “Social Business Matching Day: The Impact Opportunity#1” ครั้งแรก 24-25 กุมภาพันธ์ 2565 ผนึกกำลังสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ (Business Co-Creation) ขยายผลลัพธ์ทางสังคม

ดร.ภากร  ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเน้นสร้างความสมดุลของการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และบรรษัทภิบาล (ESG) ให้เป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจ เพื่อการเติบโตได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการดูแลผู้มีส่วนได้เสียรอบด้าน

ปัจจุบัน บริษัทจดทะเบียน และ หน่วยงานภาคธุรกิจต่าง ๆ ได้มีการใช้แนวทาง ESG ในการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน และมีการทำงานร่วมกับภาคสังคมมากขึ้นในด้านการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม  ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินงานผ่าน SET Social Impact Platform เชื่อมโยงภาคธุรกิจที่มีทรัพยากรและประสบการณ์ กับภาคสังคมที่มีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม

ในปี 2565 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขยายผลลัพธ์ทางสังคมให้ทวีคูณด้วยการทำหน้าที่ขยายเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจ (Business Co-Creation) ระหว่างภาคธุรกิจและธุรกิจเพื่อสังคม ผ่านงาน “Social Business Matching Day: The Impact Opportunity #1” ที่จัดขึ้นปีนี้เป็นครั้งแรก ร่วมกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย

ผู้ประกอบการทางสังคมบางส่วน อธิบายถึงผลิตภัณฑ์ และบริการในแต่ละแบรนด์

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อว่า ผู้ประกอบการทางสังคม คือ นักธุรกิจของยุคหน้าในการแก้ไขหรือหาทางออกให้แก่สังคมผ่านการออกแบบนวตกรรมทางสังคมที่ยั่งยืนด้วยกลไกทางธุรกิจ งาน Social Business Matching Day: The Impact Opportunity #1  จึงคัดเลือกผู้ประกอบการทางสังคมใน SET Social Impact Platform ที่มีธุรกิจอยู่ในขั้น Growth Stage คือสามารถสร้างผลลัพธ์ทางสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านพัฒนาเกษตรกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านพัฒนานวัตกรรมบริการแก่ผู้สูงวัย มานำเสนอแผนธุรกิจ แผนการทำงาน เพื่อนำไปสู่แนวทางการหาทางออกร่วมกันในการแก้ไข และ พัฒนาสังคม ให้แก่ภาคธุรกิจที่สนใจ ซึ่งประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียน หน่วยงานภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา รวมถึงหน่วยงานที่สนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม”

คาดว่าภายในงานจะเกิดการเชื่อมโยงทางธุรกิจ และ การดำเนินงานแก้ไขปัญหาสังคมร่วมกัน ไม่น้อยกว่า 30% จากจำนวนองค์กรภาคธุรกิจที่เข้าร่วมทั้งหมด ซึ่งการสร้างเครือข่ายลักษณะนี้ยังตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทจดทะเบียนที่ปัจจุบันบริษัทส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของการดำเนินงานโดยคำนึงถึง ESG และบริษัทที่ต้องการสร้างพันธมิตรใหม่ รวมถึงบริษัทที่สนใจในการประกอบธุรกิจเพื่อสังคมด้วย

 

You Might Also Like