TALK

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย “นโยบาย HR ของ SET ไม่ใช่ One Size Fits All”

7 พฤษภาคม 2562…ตลท.มุ่งหวัง คนในองค์กรประสบความสำเร็จในแต่ละหน่วย แต่ละสายงาน มีความเป็นมืออาชีพ สามารถเจรจาโต้ตอบผู้เกี่ยวเนื่องกับตลท.ได้ในแต่ละเรื่อง โดยเป็นองค์กรเปิดรับความเปลี่ยนแปลง ไม่มีคำว่าคนใน คนนอก เพราะทุกคนมีจุดเด่นเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อสู่การเป็น Hub ตลาดทุน

องค์การสหประชาชาติ กำหนดเป้าหมายการพัฒนาโดยอาศัยกรอบความคิดที่มองการพัฒนาเป็นมิติ (Dimensions) ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้มีความเชื่อมโยงกัน เรียกว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 เป้าหมาย

ว่าไปแล้ว แนวคิดเรื่อง Sustainability หรือการเติบโตอย่างยั่งยืนสำหรับตลาดหลักทรัพย์นั้น ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับเว็ปไซต์ SD Perspectives ว่า ปัจจุบันไม่ใช่เรื่องพิเศษ เพราะเป็นสิ่งที่ต้อง Integrate หรืออยู่ในวัฒนธรรมองค์กร หรืออยู่ในแผนงานหรือในกลยุทธ์ของแต่ละองค์กรภายในด้วยเลย ซึ่งถ้าจะเรียกในคำแบบที่ SD Perspectives มักใช้เสมอ เป็นเรื่อง Lifestyle Sustainability คือวิถี เพราะฉะนั้นจะต้องคิดระยะยาว 3 เรื่อง

-เราจะพัฒนาคนของเราอย่างไร
-เราจะพัฒนา Process ของเราอย่างไร
-เราจะพัฒนาระบบของเราอย่างไรที่จะทำให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน

“เรื่องคนเราต้องสามารถพัฒนาคนให้สามารถเติบโตได้ รองรับกับสิ่งใหม่ๆได้ ส่วนขั้นตอนการทำงาน ก็เพื่อทำให้คนใหม่ๆ ที่เข้ามาปรับตัวได้เร็วขึ้นเพราะเขาเห็นกระบวนการที่ชัดเจน เปิดรับฟัง ทำงานแบบไม่มีไซโล แบบซิมุเลต ส่วนรระบบก็เช่นกัน เข้ามาครอบว่าคนและกระบวนการมีดูแลอย่างชัดเจน เพื่อให้มีการพัฒนาองค์กรเป็นไปอย่างต่อเนื่อง”

ดร.ภากร ขยายความต่อเนื่องเรื่อง การพัฒนาและบริหารทรัพยากรมนุษย์ (HRD,HRM) เพราะ “คน” เป็นผู้ขับเคลื่อน และตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็อยู่ในธุรกิจบริการ !

“การให้บริการของตลาดหลักทรัพย์ มีผลงานที่เกิดขึ้น หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการให้บริการนั้น เกิดจากความคิด ของคน เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมคนของเราให้รองรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไป หาวิธีแก้ปัญหา หาวิธีให้บริการให้ตรงกับความต้องการของผู้ร่วมตลาด ซึ่งมีความหลากหลายค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้น HR Policy ของเรา การเทรนนิ่งของเรา เราคงไม่มี One Size Fits All แต่จะขึ้นอยู่กับความจำเป็นแต่ละสายงาน ความจำเป็นของพนักงานให้เหมาะสมกับงานของแต่ละคน”

หลากหลายบริการ คนต้องมีความหลากหลาย

จากยุคแรกของการเกิดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อ 45 ปีที่แล้ว อาจจะเรียกว่าเริ่มต้นทำหน้าที่เป็น “ผู้คุมกฎ” หรือ Regulator ตัวจริงเสียงจริง ซึ่งในช่วงเวลานั้นก็ยังไม่มี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จนกระทั่งเวลาต่อมาเมื่อเกิด ก.ล.ต. แบ่งหน้าที่อย่างชัดเจนแล้ว คนของตลท.ทำหน้าที่หลากหลายเพื่องรองรับสิ่งใหม่ๆ อาทิ

– เรื่องเกี่ยวกับการการให้บริการ
– เรื่องเกี่ยวกับมาร์เก็ตติ้ง
– เรื่องเกี่ยวกับการให้ความรู้นักลงทุน
– เรื่องเกี่ยวกับการส่งเสริม Financial Literacy ต่างๆ
– เรื่องเกี่ยวกับเชื่อมโยงต่างประเทศ
– เรื่องเกี่ยวกับการออกโปรดักส์ใหม่ๆ
– เรื่องเกี่ยวกับการเข้ามาของดิจิตอลทุกรูปแบบ

“คนของเราอายุเฉลี่ยประมาณ 40 ปี มี 740 คน อัตราจริง 760 คน เรามาดูกันช่วงที่เราขยายตัวมากๆ จะเป็นช่วงก่อนหน้านี้ 10 ปีที่แล้ว เช่นเราเริ่มมีเป็น Exchange Function ทำหน้าที่ด้านหลักทรัพย์ การให้ความรู้ เรื่องเกี่ยวกับ Capital Market Development ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ขยายตัวมาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนของเรา อาจจะมีการปรับเปลี่ยน เพราะการแข่งขัน การพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี ส่งผลให้คนของเราต้องทำหน้าที่หลากหลายมากขึ้น การเทรนนิ่งต่างๆ การให้ความรู้ การปฏิบัติตัว การปรับตัวของเราต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง”

ดร.ภากร ขยายมุมมองต่อเนื่องว่า สิ่งที่น่าสนใจมาก เมื่อดิจิตอลเข้ามาจะปรับตัวอย่างไรบ้าง การสร้างธุรกิจใหม่ๆ เช่น Fund Connect , การโอนเงินในระบบตลาดทุน การทำ Digital ID เรื่องเกี่ยวกับ Digital Exchange ซื้อขายผลิตภัณฑ์ไม่ใช่เฉพาะในประเทศ แต่ข้ามประเทศ เหล่านี้คือของใหม่หมดเลย

ในอดีตตลท.ไม่เคยพูดถึงว่าจะมาโอนเงิน หรือจะเป็นตัวกลางการซื้อขายกองทุนรวม หรือทำแพลตฟอร์มให้ตลาดทุนทั้งหมดมาเขียน App บนนี้ หรือใช้เทคโนโลยีทำ STO คือ Security Token Offering ซึ่งเรื่องเหล่านี้ตลท.ต้องปรับตัวมาก

“หากถามว่าตลาดหลักทรัพย์ทำอะไรบ้าง มี Listing มีซื้อขาย มีให้บริการหลังการขาย มีเรื่องผลิตภัณฑ์การให้ข้อมูล มีเรื่องผลิตภัณฑ์การให้บริการออนไลน์ แต่ละอย่างแต่ละคนคิดเป็นชิ้นๆ หมดเลย แต่โลกอนาคตบอกแบบนี้ไม่ได้ ตลาดหลักทรัพย์เจอลูกค้าที่เป็น บล. ลูกค้าที่จดทะเบียน ให้บริการนักลงทุนผ่านบล. ให้บริการนักลงทุนผ่าน บลจ. เราต้องคิดการบริการเป็นทั้ง Flow ตั้งแต่ต้นจนจบ เราต้องคิดว่า ทำอย่างไรให้นักลงทุนใช้บริการเราได้อย่างสะดวกที่สุด ใช้ข้อมูลเราได้ดีที่สุด นำข้อมูลไปใช้ตัดสินใจในการลงทุนต่างๆ เพราะฉะนั้นจะเห็นเลยว่า ตั้งแต่จดทะเบียน ตั้งแต่ให้ข้อมูล ตั้งแต่ซื้อขาย ตั้งแต่โพสต์เทรด การให้บริการหลังการซื้อขาย ทุกอย่างต้องต่อเชื่อมกันหมด เรื่องนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว และคนต้องเปลี่ยน วิธีการทำงานร่วมกันต้องเปลี่ยน กระบวนการทำงานก็ต้องเปลี่ยน ต้องมีไอทีมาครอบ”

เสริม Hard Skill , Soft Skill ให้คนในองค์กรรู้สึกว่า “เหมือนเป็นเจ้าของกิจการ”

แม้ว่าจะเคยพอมีประสบการณ์ที่ครั้งหนึ่งประมาณ 10 ปีที่แล้ว ได้สร้างสิ่งใหม่ให้เกิด Settrade ไม่ได้เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นเลย แต่เป็น Online System ในการต่อเชื่อมนักลงทุนรายย่อยกับโบรกเกอร์ ก็ตาม ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ Settrade ช่วยทำให้คนในองค์กรรู้สึกว่า “เหมือนเป็นเจ้าของกิจการ” เพราะคือเรื่องของใหม่ๆ ขณะนั้น ส่วนปัจจุบันเริ่มมีบริการดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งอนาคตจะมีมากกว่านี้อีก เพราะตลท.อยากสร้าง ส่งเสริมให้พนักงานคิดถึงสิ่งใหม่ๆ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์เป็นแพลตฟอร์ม มีความหลากหลายมากขึ้น

ดร.ภากรขยายความต่อเนื่องในการทำให้คนในองค์กรรู้สึกว่า “เหมือนเป็นเจ้าของกิจการ” นั้นจะต้องมีเรื่องฝึกอบรม ซึ่งแบ่งเป็น Hard Skill และ Soft Skill

บางส่วนของการฝึกอบรม

– Hard Skill เช่นการบอกให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเงิน การวิเคราะห์ การลงทุน การให้ความรู้เกี่ยวกับการดีไซน์โปรดักส์ ให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างระบบใหม่ๆ ซึ่ง Hard Skill เหล่านี้ HR เป็นคนดำเนินงานทั้งแบบออนไลน์ และเข้าคอร์ส มีทั้งแบบจ้างคนข้างนอกมาสอน มีส่งคนตลท.ไปเรียนต่างประเทศ โดยทั้งให้ทุนไปเรียนต่างประเทศ เป็นการเตรียมไว้ให้เลย ซึ่งจะต้องมาดูว่า แต่ละกลุ่มแต่ละระดับ ต้องการอะไรบ้าง จะต้องมีการปรับตลอด เพราะว่าความรู้เดี๋ยวนี้ มีความต้องการหลากหลายมากขึ้น

-Soft Skill มีหลายอย่าง มีกลยุทธ์เจรจาต่อรอง ภาษา เรื่อง Leadership เรื่อง Life Coach เพื่อให้รู้วิธีคิด วิธีปฏิบัติต่อคนอื่นที่ทำงานเป็นอย่างไรบ้าง และจะทำงานร่วมกันได้ ต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง ถ้าคนเติบโตขึ้นมาหน่อย ต้องไป Negotiate ในการทำการค้า คุยตกลงกับคนข้างนอก ต้องมีการเตรียมว่า จะทำอย่างไรที่จะต้องฝึกคนแบบนี้ให้เป็นตัวแทนตลท.ออกไปพูดในงานต่างๆ ออกไปประชุม เจรจาค้าขายต้องมีหลักการต่างๆ

“เราพยายามสร้างคนของเราให้เป็นมืออาชีพ มีทั้งความรู้ และวิธีที่สามารถโต้ตอบ เจรจาต่อรองได้ อันนี้คือิ่งที่เราอยากสร้างคนของเราให้ค่อยๆ เติบโตขึ้นมา และเราไม่ได้มองว่า เขาจะต้องเก่งเฉพาะเรื่อง Knowledge หรือ Know How เขาต้องเก่งเรื่องวิธีการบริหารจัดการ และการเป็นผู้นำคนด้วย ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดในการสร้างทีมให้โตต่อไปในอนาคต เพราะตลาดทุนจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรเราไม่รู้ แต่ถ้าเราเตรียมคนของเราให้ปรับตัวได้ จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด และทำให้องค์กรอยู่รอดได้”

พร้อมสู่ยุคตัวแทนภูมิภาค และการค้าสากล

แม้ว่า ดร.ภากรได้เริ่มทำงานตามระยะเวลาซึ่งยังไม่ถึง 3 ปีดีนัก ก็อดที่จะจะถามถึงเป้าหมายเรื่อง “คนในองค์กร” ตลอดที่ยังอยู่ในระยะเวลาทำงานในตำแหน่ง ซึ่งจะส่งผลต่อคนในองค์กรนับตั้งแต่ปัจจุบันเรื่อยไป โดยผู้บริหารสูงสุดของตลท.อธิบายเรื่องนี้ให้ฟังว่า ภายในเทอมซึ่งจะจบลงประมาณต้นเดือนมกราคม 4 ปีข้างหน้า ต้องการเห็นคนตลท.ทั้งคนใหม่และคนเก่า 3 เรื่อง

1.ต้องมี Successor ในแต่ละคน แต่ละหน่วย แต่ละสายงาน ที่จะต้องมี Successor ลงไปเรื่อยๆ ว่าเรามองใครที่จะเป็นตัวแทนได้บ้าง และ Successor ของเราได้รับการฝึกอบรม ได้รับการดูแลขึ้นมาพร้อมที่จะสามารถโตขึ้นมาได้ไหม

“ผมตั้งใจไว้เลยว่า เมื่อเทอมผมจะหมด ประมาณต้นเดือนมกราคม อีก 4 ปีข้างหน้า ผมจะต้องบอกได้เลยว่า จะมีคนขึ้นมาแทนผมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนในหรือคนนอกที่เลือกขึ้นมา คนในก็จะต้องมี คนนอกก็จะต้องเปิด เพราะฉะนั้นผมมองเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก”

2.ต้องเป็น Professional จะทำอย่างไรให้คนตลาดหลักทรัพย์ เมื่อเดินไปที่ไหนแล้ว คนเห็นก็รู้ได้เลยว่า นี่คือ Professional ที่สามารถ Negotiate สามารถให้ Input ให้ Feedback คนที่เกี่ยวข้องในตลาดหลักทรัพย์ได้

“ผมมองตรงนี้เลยว่า เขาจะต้องสามารถโต้ตอบผู้ร่วมตลาดฯได้ในแต่ละเรื่อง หากตอบโต้ไม่ได้ต้องหาวิธี หรือหาข้อมูลกลับไปตอบโต้ หรือไปให้ Feedback กับผู้ร่วมตลาดฯได้”

3.ต้องการให้องค์กรของเราเปิดรับความเปลี่ยนแปลง ปรับตัวได้ สามารถนำคนใหม่คนเก่ามาผสมกันได้อย่างไร้รอยต่อ โดยไม่มีคำว่า คนใน คนนอก

“ผมมองว่า ไม่มีทางที่คนของเราจะเก่งทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นการที่เราดึงคนเก่งๆ เข้ามาอยู่ด้วยกันเยอะๆ เป็นเรื่องที่ดี แต่จะทำอย่างไรให้เขาสามารถอยู่ร่วมกันได้ และนำจุดเด่นแต่ละคนมาเสริมกัน”

ทั้ง 3 เรื่องนี้ ดร.ภากรกล่าวในท้ายที่สุดว่า ตั้งใจจะเห็นในเทอมนี้

“ผมอยากสร้างวัฒนธรรมแบบนี้ขึ้นมา ตรงนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร แต่เป็นการทำให้ชัดเจนขึ้นมากกว่า คือตลาดหลักทรัพย์เป็นมืออาชีพมาโดยตลอดอยู่แล้ว เรามี Principle เรามี Integrity ที่ชัดเจน เพียงแต่ว่าผมเน้นเรื่อง Commercial เข้ามาด้วย เพราะอนาคตโลกไม่มีพรหมแดน คนของเราต้องสามารถ Represent ตลาดหลักทรัพย์ได้ และอนาคตเราไม่ควรขายแค่ประเทศไทย เราควรจะเป็นตัวแทนภูมิภาค เป็นประเทศที่เชื่อมต่อระหว่างอาเซียนด้วยกัน ออกไปต่อเชื่อมกับต่างประเทศ หมายถึงการที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเป็น Hub ต่อไป”

 

คลิกภาพ ชมคลิปสัมภาษณ์ ทาง SD Perspectives Channel

You Might Also Like