TALK

เปิดมุมมอง ESG กับฝ่ายการเมือง ตัวแทน เพื่อไทย  ก้าวไกล พลังประชารัฐ

14 มีนาคม 2566…SD Perspectives  ตั้งคำถามประเด็น ESG ถ้าเป็นรัฐบาลจะมีนโยบายอย่างไร? เพราะสิ่งแวดล้อมเราอยู่กับ PM2.5 เรื่องไฟป่า ความเหลือมล้ำทางสังคม  ขณะที่ SMEs ที่ต้องส่งออก หรืออยู่ในซัพพลายเชนบริษัทใหญ่ที่มีตลาดต่างประเทศ  ต้องพบกฎเกณฑ์ที่นำ ESG มาใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้า เช่นเรื่องคาร์บอนผ่าน CBAM บางตัวอย่างเช่นนี้ได้รับคำตอบจากสัมมนา ที่สนับสนุนโดย ธนาคารกรุงไทย 

กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย  ศิริกัญญา ตันสกุล  รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์  กรรมการยุทธศาสตร์เศรษฐกิจและการเเมือง พรรคพลังประชารัฐ  ได้แสดงมุมมองต่อประเด็นคำถามข้างต้นดังนี้

กิตติรัตน์ ณ ระนอง

ESG สำหรับผมถือเป็นคำใหญ่ Environment หรือสิ่งแวดล้อม  Social คือสังคม Governance คือการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ  จะทำอย่างไร ต้องเริ่มจากจิตสำนึกจากคนที่มีทบาทต่าง ๆ ว่าท่านเห็นความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมมากขนาดไหน  เห็นความสำคัญของสังคมมากขนาดไหน  หรือจะมัวอยากได้ความร่ำรวยทางเศรษฐกิจแล้วมีภาวะรวยกระจุกจนกระจาย  จนลืมนึกไปว่า  จริง ๆ แล้วสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบกระเทือนหรือไม่

Governance  คือการจัดการให้มีการบริหารงานโปร่งใส  อะไรต่ออะไรที่ถูกหมกเม็ดเป็นปัญหา   ดังนั้นเมื่อนึกถึงคำนี้ผมสะท้อนใจนะครับ  ผมคิดว่าปัจจุบันทักษะของทั้ง 3 ตัวเรายังอยู่ในระดับที่ไม่ดีเลยทั้ง 3 ตัว ซึ่งองค์กรภาคเอกชนที่ทำงานร่วมกันได้หารือเรื่องนี้อยู่แล้วก็เป็นเรื่องที่ดี  ภาครัฐจะทำงานตรงนี้สำเร็จได้ ต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน และภาคประชาชนด้วย

การทำแบบปุบปับสิ่งแวดล้อมที่ดี ระบบนิเวศน์ที่ดีอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก  เราบอกว่าเรามีระบบนิเวศน์ เรามีป่าไม้ มีเกษตรกรไปร่วม  ถ้าหากว่าเราคิดเรื่องนี้ไม่เข้าที่เข้าทาง ป่าจะหายไปเรื่อยๆ เหมือนช่วง 10 ปีที่ผ่านมา  ซึ่งจะหายไปอีก 5-6 ล้านไร่   ถ้าเรามีระบบคิดตามทัศนคติ ว่าเราอยากจะมีป่านะ  แล้วเป็นป่าของรัฐหรือเปล่า  ถ้าเป็นการปลูกต้นไม้ในที่เอกชน ที่ของประชาชน ที่ของราษฎร  มันก็เป็นต้นไม้เหมือนกันใช่ไหม  หากเราคิดแบบนี้ออก การทำงานร่วมกันระหว่างราษฎรกับรัฐจะเกิดขึ้น แทนที่จะต่อสู้กันเป็นคดีความ

หากเราทำงานร่วมกันแบบนี้ ราษฎรอาจจะได้รับโฉนดแบบมีเงื่อนไขว่า การที่ท่านได้ไปอยู่ที่ตรงนั้นมาก่อนปีอะไร พื้นที่ลุ่มน้ำที่ไม่ได้สำคัญมาก มีต้นไม้ที่อาจจะไม่มากมายนัก   แต่ถ้าท่านมาอยู่ที่หลังในพื้นที่สำคัญหน่อย  เงื่อนไขที่จะต้องมีต้นไ้ม้ยืนต้นมากขึ้น  ผมเชื่อว่าราษฎรเข้าใจ ถ้าเขารู้ว่าต้นไ้ม้ยืนต้นคือ ยางพาราก็ได้  หรือพืชเศรษฐกิจใดก็ได้ ขอให้เป็นไม้ยืนต้น  และพร้อมที่จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป ลดภาวะโลกร้อนได้ ผมว่าเขาอยากให้ความร่วมมือ  แทนที่จะต้องมาต่อสู้กัน   ฝุ่น PM 2.5 อาจจะลดลง เพราะคงไม่มีใครยอมให้ใครมาเผาที่ดินที่ตัวเองที่มีโฉนดแบบนี้ได้  อันนี้เป็นตัวอย่างอย่างหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ผมขอเรียนว่า  การที่จะทำให้คอนเซ็ปต์ประสบความสำเร็จ  มันอาจจะต้องเริ่มที่ทัศนคติ  ถ้ารัฐยังบอกว่าป่าเป็นของรัฐ  เกษตรบอกว่า ถ้าฉันมีที่ดินทำกิน จะไม่มีวันปลูกไม้ยืนต้น จะปลูกเฉพาะพืชไร่ที่ขายได้ทันทีในช่วงสั้น ๆ  โอกาสที่จะเกิด Environment ก็ยากแล้ว   ดังนั้นเมื่อแก้เป็นเปลาะ ๆ ไป ผมเชื่อว่าในที่สุดแล้ว เราจะมีสังคม ESG ที่มีมาตรฐานสูงขึ้น

ศิริกัญญา ตันสกุล

ขอเสริมสิ่งที่ท่านกิตติรัตน์พูดไปแล้ว ความเสี่ยงที่มาเคาะประตูหน้าบ้านคือ Climate Change  ไม่ใช่แค่เรื่องผลกระทบ แต่กำลังจะกลายไปเป็นการกีดกันทางการค้า   โดยที่ตั้งกำแพงภาษี หรือค่าคาร์บอนเครดิตต่าง ๆ ที่จะต้องมีการออฟเซทกัน  ดังนั้นภาครัฐนอกจากจะต้องทำตามที่สัญญากับนานาชาติตามเป้าหมายว่าจะต้องเป็น Net Zero 2065   เราต้องช่วยเหลือประคับประคองผยุงให้ธุรกิจภายในประเทศปรับตัวให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

ก้าวไกลมีนโยบาย Cap and Trade คือการกำหนดเพดานการปลดปล่อย  ซึ่งจะเปิดโอกาสให้มีการเทรดคาร์บอนเครดิตได้  ซึ่งเมื่อจ่ายในประเทศแล้วก็สามารถทีจะนำไปหักกลบลบหนี้ได้ในกรณี CBAM ในสหภาพยุโรป  ถ้าคุณเป็นSMEs ที่อยู่ในซัพพลายเชนของบริษัทปิโตรเคมี ปูนซิเมนต์ เหล็กกล้าต่าง ๆ ก็จะปรับตัวได้

แต่อีก 1 เรื่องที่อยากให้เกิดขึ้นคือ Green Finance   เสียดายที่ประธานสมาคมธนาคารไทยกลับไปแล้ว ก็อยากจะให้มีการปล่อยกู้กับภาคธุรกิจที่อยากปรับตัวให้ลดการใช้คาร์บอนลง ใช้เทคโนโลยีที่เป็น Carbon Reducton มากขึ้น โดยภาครัฐสามารถที่จะสนับสนุนดอกเบี้ยเป็นซอฟต์โลน 0% สำหรับธุรกิจกลุ่มนี้

ตรงนี้จะเป็นอีก 1 ส่วนที่คิดว่าจะช่วยให้SMEsที่อยู่ในซัพพลายเชนปรับตัวได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น  โดยเป็นกลไกสนับสนุนจากภาครัฐ

สนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์

เรื่อง ESG เป็นเรื่องที่เราปฏิเสธไม่ได้ บริษัทขนาดใหญ่ผมไม่ค่อยกังลใจเท่าไหร่ ปรับตัวได้  แต่ที่คุณศิริกัญญาพูดถึงนั้น ว่าบริษัท SMEs ที่ต้องไปอยู่ใน Valuechain ของการต่อสู้โดยใช้กฎกติกาตัวนี้  ซึ่งการใช้ ESG มีความขัดแย้งกับความอยู่รอดของ SMEs เพราะมีความยากขึ้นของกติกาใหม่

สิ่งนี้เป็นความเชื่อมั่นของรัฐบาลที่มีความเชื่อมั่นมากในการเปลี่ยนใช้ SMEs  ซึ่งรัฐบาลต้องใช้แรงจูงใจหรือ Incentives  เข้าไปเพื่อให้เขาหันมาสู่ ESG  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทิศทางนโยบายรัฐบาลเอง  เช่น ถ้าเราส่งเสริมให้เกิด Green Energy    โดยให้ภาคเกษตรนำเศษวัสดุภาคเกษตรที่เผาในป่า นำมาแปรรูปด้วย Green Energy  เป็นพลังงานไฟฟ้า  ถ้ามีนโยบายอย่างนี้เราก็สามารถนำสินค้าเกษตรแปรรูปหรือยกระดับมาตรฐานราคาสินค้าขึ้นได้มูลค่าเพิ่มมากขึ้น

การใส่แรงจูงใจถือเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนเข้าสู่ ESG  นอกจากนี้สิ่งที่สองที่คุณศิริกัญญาพูดชัดเจนคือ นโยบายสินเชื่อ  การจะให้คนตัวเล็กเข้ามาต้องมีทุนสนับสนุนให้เขา  ไปต่างประเทศเรื่อง Green Loan ได้ถูกนำมาใช้ และใช้กันมากขึ้น   การที่เราจะให้ SMEs   เข้ามาสู่ ESG นั้น จะต้องมีแต้มต่อการเข้าสู่ Green Finance ให้มากขึ้น มีแรงจูงใจให้ SMEs ปรับทิศทาง

ต้องยอมรับนะครับว่า ESG เป็นเรื่องกดดันเราแน่นอน  โดยเฉพาะการส่งออก ยุโรปเริ่มแล้ว   สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าเราส่งเสริมได้บนจุดแข็งของประเทศไทย คือ ราคาไฟฟ้าเราต้องมี 2 ราคา  ราคาไฟฟ้าที่เป็น Green Energy  จะต้องแพง เพื่อให้เกิดการลงทุนตรง เพราะคนที่นำไฟฟ้าจาก Green Energy ไปใช้ในการผลิต จะได้รับเครดิตคาร์บอน  เพื่อลดปัญหาการส่งออก ลดการเสียภาษีระหว่างที่จะข้ามแดนไปยุโรป เป็นต้น

ดังนั้นเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องนโยบายรัฐ การซัพพอร์ต ต่าง ๆ ด้วยการให้แต้มต่อ หรือการให้ ประโยชน์จากไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อเป็นหัวใจสำคัญของเรื่องนี้

 

You Might Also Like