TALK

ไทยพาณิชย์มอบ Bai Po Business Awards by Sasin ชูต้นแบบ SMEs ไทย พร้อมรับกฎใหม่ของโลก

16 มีนาคม 2566…SMEs มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจอย่างที่ไม่มีใครปฎิเสธ ตลอดเวลาที่ผ่านมาธนาคารไทยพาณิชย์จึงไม่เพียงสนับสนุนด้านการเงิน แต่ยังส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในมิติอื่น ๆ ควบคู่กันไป เพราะความแข็งแกร่งของ SMEs ย่อมหมายถึงความแข็งแกร่งของประเทศ

ดังนั้น ปีนี้ถือเป็นเวลา 18 ปีแล้วที่ธนาคารไทยพาณิชย์มีการมอบรางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจของ SMEs ไทย “Bai Po Business Awards by Sasin” ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อยกย่องผู้ประกอบการไทยที่ประสบความสำเร็จในมิติที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจเพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่ SMEs รายอื่นๆ ได้มีโรลโมเดล และนำวิธีคิดไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนเอง เพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขันไม่เฉพาะแค่ในประเทศแต่ในเวทีระดับโลก

เพราะต้องยอมรับว่าความอยู่รอดในเวลานี้ของ SMEs ต้องสอดคล้องกับเมกะเทรนด์โลก โดยในหลายปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล แต่แค่การซื้อเทคโนโลยีมาทำธุรกิจไม่พอ ต้องเป็นเทคโนโลยีที่สร้างความได้เปรียบและความแตกต่างได้ด้วย

ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลกกำลังมาแรง และทั่วโลกให้ความสนใจคือ ด้านสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน รวมถึงคาร์บอนเครดิต ดังนั้น SMEs จำเป็นต้องใช้แนวคิด ESG มาเป็นกรอบในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

ผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมด้วยผู้บริหาร สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ SMEs ที่ได้รับรางวัลครั้งที่ 18

อัญญรัตน์ จริยาสมานฉันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอกราชอุตสาหกรรมกระดาษ จำกัด และ CEO ClickBoxes หนึ่งใน SMEs เจ้าของรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ปีล่าสุด คือตัวอย่างของ SMEs ที่ปรับตัวให้เท่าทันกับกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี

อัญญรัตน์ เป็นทายาทรุ่น 2 ที่มารับสานต่อกิจการเอกราชอุตสาหกรรม ผู้ออกแบบและผลิตกล่องกระดาษ ซึ่งในระยะแรกเน้นกลุ่มลูกค้าผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ และกลุ่มผู้ส่งออกผลไม้ ต่อมาได้สร้างจุดเปลี่ยนให้กับธุรกิจด้วยกันผันตัวเองเป็นผู้ให้คำปรึกษา รับออกแบบ และผลิตกล่องกระดาษแบบครบวงจร ยกระดับการบริหารงานภายในองค์กรโดยทรานส์ฟอร์มระบบงานข้อมูล นำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพงานหลังบ้าน เพิ่มระบบการพิมพ์ออฟเซท ระบบอิงค์เจ็ท และดิจิตัล จนสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากถึง 24 ล้านกล่องต่อปี พร้อมกับสร้างแบรนด์ Click Boxes รองรับความต้องการพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์

ในเวลาเดียวกันอัญญรัตน์ ก็ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การเลือกใช้สี Food Grade ปลอดภัยสำหรับบรรจุภัณฑ์สินค้าที่เป็นอาหาร และสีประเภท Water Base ไม่มีกลิ่น เพื่อป้องกันปัญหาด้านสุขภาพให้กับพนักงาน ทั้งยังมีระบบการบำบัดน้ำเสียภายในโรงงาน

“ด้วยตัววัตถุดิบกระดาษที่เรานำมาผลิตบรรจุภัณฑ์สามารถรีไซเคิลได้ 100% อยู่แล้ว ดังนั้นเราพยายามคิดนอกกรอบให้กระดาษเป็นมากกว่าการนำมาห่อสินค้า เพื่อให้กระดาษเข้ามาทดแทนพลาสติกให้ได้มากที่สุด ที่ผ่านมาเราจึงพัฒนาเครื่องจักรเพื่อรองรับตลาดที่กว้างกว่าบรรจุภัณฑ์และพัฒนางานดีไซน์บรรจุภัณฑ์หรืองานดีไซน์ต่างๆ ที่สามารถชดเชยด้วยกระดาษ ล่าสุดเรามีโอกาสได้ออกแบบที่แขวนรองเท้าด้วยกระดาษแทนพลาสติกให้กับโรงงานผลิตรองเท้าที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังทวีปยุโรป นับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่เราเข้าไปมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้ลูกค้าของเราสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้”

ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์บางส่วน

การได้ทำงานกับลูกค้าที่ให้โจทย์ยาก ๆ ถือเป็นความชอบของอัญญรัตน์ เพราะเปิดโอกาสได้คิดและทำงานร่วมกับลูกค้าไปด้วยกัน เมื่อประสบความสำเร็จแล้วไอเดียเหล่านั้นก็จะกลายเป็นสินค้าใหม่ของบริษัทไปโดยปริยาย

สิ่งสำคัญของโจทย์ที่เราได้รับแต่ละครั้งจากลูกค้า ถือเป็นการเปิดโลกการเรียนรู้ว่ายังมีอะไรอีกเยอะที่สามารถทำได้ด้วยกระดาษ ดังนั้นตลาดของเราก็กว้างและไปได้อีกไกล อย่าจำกัดตัวเองว่าทำได้แค่กล่อง”

อัญญรัตน์ กล่าวในท้ายที่สุด ถึงการเป็นคู่คิดให้กับลูกค้า ทำให้ติดตามความเคลื่อนไหวของ CBAM เช่นกัน เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่ผลิตสินค้าส่งออกในตลาดยุโรป โดยที่ผ่านมาพบว่าลูกค้ามีดีมานด์การใช้เยื่อกระดาษจากแหล่งปลูกป่าทดแทน จึงจะคัดเลือกซัพพลายเออร์ที่มีใบประกาศรับรองให้กับลูกค้าเพื่อมั่นใจได้ว่าจะสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งวัตถุดิบได้อย่างแม่นยำ

 

You Might Also Like