TALK

3 ปีกับกรุงศรี Gender Bond ผู้เพาะเมล็ดพันธุ์สินเชื่อ ESG ที่นับวันจะเติบโต

26 สิงหาคม 2565…กรุงศรี ถือเป็นธนาคารแห่งแรกในไทยและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ออกพันธบัตรคำนึงถึงเพศสภาพเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการหญิง (Gender Bond) และนับเป็นพันธบัตรเพื่อสังคม (Social Bond) ที่ออกเป็นครั้งแรกในตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย

3 ปีผ่านไป SD Perspectives จึงขออัพเดทกับ พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ทีมผู้คิดค้น Gender Bond โดยตรงแล้วก็พบว่าเมล็ดพันธุ์สินเชื่อ ESG ที่ธนาคารกรุงศรีหว่านไว้ในวันนั้น ได้แตกหน่อขยายกิ่งก้านสาขา นอกจากลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้แล้ว ยังเป็นการเปิดเวทีให้ผู้ประกอบการหญิงไทยได้แสดงศักยภาพในการร่วมผลักดันประเทศสู่ความเติบโตในอนาคต

พูนสิทธิ์ ย้อนความกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้วว่า ช่วงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่กรุงศรี ให้ความสำคัญกับนโยบาย ESG โดยต้องการผนวกหลักการดังกล่าวเข้าไปในกระบวนการทำธุรกิจ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับคนในสังคม ในฐานะธนาคาร กรุงศรีจึงนำไปเชื่อมโยงกับ SDGs ซึ่งประเด็นที่สถาบันการเงินพอจะทำได้ก็คือ เป้าหมายที่ 1 ประเด็นลดความยากจน ด้วยการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจประเทศขยายตัว ประเด็นลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และประเด็นลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ

“เราตั้งเป้าที่จะเป็นธนาคารแรกที่บุกผลิตภัณฑ์การเงินที่เกี่ยวกับ ESG จึงนำโจทย์เหล่านี้มาคิด และตกผลึกว่า กระบวนการทำธุรกิจอะไรที่จะส่งผลลัพธ์ครอบคลุม 3 วาระนี้ได้ เลยตั้งใจที่จะออก Social Bond โดยมีจุดประสงค์เพื่อปล่อยกู้ให้ Micro SMEs ซึ่งตามปกติการปล่อยกู้ให้กลุ่มนี้ก็เข้าข่ายเป็น Social Bond อยู่แล้ว เพราะสร้างประโยชน์ให้เศรษฐกิจ และสังคม ในฐานะกระดูกสันหลังของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งไทยมี SMEs ขนาดเล็ก 3 ล้านราย เกิดการจ้างงานในระบบ 12-13 ล้านตำแหน่ง แก้ Painpoint ให้กลุ่มนี้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่ในที่สุดกรุงศรี อยากสร้างนวัตกรรมให้มากไปกว่านั้น จึงเป็นที่มาของ Gender Bond โดยภาคเอกชนเป็นรายแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิกฟิก”

พูนสิทธิ์ ขยายความเพิ่มเติม หลักการของ Social Bond มีอยู่ว่า ผู้ออกพันธบัตรจะต้องนำเงินที่ได้รับการระดมทุนเก็บไว้ใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งกับนักลงทุนไป ดังนั้น Gender Bond ซึ่งเป็น Subset ของ Social Bond ก็มีหลักการไม่ต่างกัน คือ นอกจากนำเงินมาปล่อยสินเชื่อให้ SMEs แล้วยังเป็นธุรกิจที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของ หรือดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูง เพื่อส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในวิสาหกิจ และส่งเสริมเรื่องของความเท่าเทียม

กรุงศรี เสนอขาย Gender Bond ครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2562 ให้ผู้ลงทุนในต่างประเทศ 2 รายคือ IFC และ DEG รวม 220 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 6,000 ล้านบาท นับเป็นเงินตั้งต้นก้อนแรกที่ส่งเสริมให้ธุรกิจของ SMEs ในกลุ่มผู้หญิงขยายตัว ในวงเงินสินเชื่อหรือยอดขายไม่เกิน 50 ล้านบาท ครอบคลุม SMEs หลากหลายธุรกิจ ส่งผลให้กรุงศรีได้รับรางวัลในระดับโลก ได้แก่ Growth Sustainable Bank จาก Finance Asia ประจำปี 2020 และรางวัล UN Woman Award ประจำปี 2021

อย่างไรก็ดี คงต้องบอกว่าการออก Gender Bond จำเป็นต้องผ่านกฎระเบียบเฉพาะจากการออกพันธบัตรเพื่อสังคม โดยมี ICMA (International Capital Market Association) เป็นผู้ออกมาตรฐาน ESG Bond ,Social Bond และ Green Bond ดังนั้นในกรณีเงื่อนไขการปล่อยกู้ Gender Bond จึงต้องเป็นไปตามมาตรฐานว่าจะต้องปล่อยกู้ตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุให้กับนักลงทุนเท่านั้น นอกจากนี้ยังต้องกระจายการให้สินเชื่อไปยังพื้นที่ต่างๆ ป้องกันการกระจุกตัว และรายงาน Social KPI เพื่อแสดงให้เห็นว่าสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมอย่างไร

“กรุงศรี ทำรายงาน Social KPI เช่นกัน โดยเรามีการกระจายการปล่อยกู้พื้นที่ในกรุงเทพฯ และต่างหวัดในสัดส่วน 50:50 ซึ่งถือเป็นตัวเลขการปล่อยสินเชื่อในต่างจังหวัดเยอะมากเมื่อเทียบกับการปล่อยสินเชื่อ SMEs ทั่วไป ซึ่งในส่วนของการจ้างงานจากสินเชื่อที่เราปล่อยไปพบว่าปี 2019 มีการจ้างงานเพิ่ม 20,000 ตำแหน่ง ปี 2020 จ้าง 30,700 ตำแหน่ง และปี 2021 จ้างงาน 16,000 ตำแหน่ง แต่สิ่งสำคัญของการออก Gender Bond มากไปกว่านั้น คือเราต้องทำงานกับลูกค้าลงลึกไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจ เพื่อมั่นใจว่าธุรกิจที่เขาทำอยู่นั้นจะไม่มีการละเมิดสิทธิด้านแรงงาน และสิทธิมนุษยชน หรือทำกิจกรรมที่ส่งผลด้านลบอย่างรุนแรงกับสิ่งแวดล้อม”

ปัจจุบัน Gender Bond ก้อนแรกที่มีอายุ 7 ปีของกรุงศรี ถูกปล่อยสินเชื่อหมดแล้ว แต่กรุงศรียังคงไม่จบแค่นี้ เพราะมีการปล่อยสินเชื่อก้อนใหม่ให้กับ SMEs กลุ่มผู้หญิงอย่างต่อเนื่องปีละ 7,000 ล้านบาท รวมถึงวันนี้เกือบ 20,000 ล้านบาท

“นอกจาก Gender Bond จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับ SMEs กลุ่มผู้หญิงแล้ว ยังสร้างโมเมนตั้มให้กับผลิตภัณฑ์พอร์ตสินเชื่อกลุ่มนี้ด้วย ส่งผลให้ยอดการปล่อยกู้ให้ SMEs กลุ่มผู้หญิงเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี ในขณะที่สินเชื่อ SMEs เติบโตแค่ 3% ดังนั้นกรุงศรีจึงมีแผนปล่อยสินเชื่อ SMEs กลุ่มผู้หญิงอย่างต่อเนื่อง” พูนสิทธิ์ กล่าวในท้ายที่สุด

ข่าวเกี่ยวข้อง

You Might Also Like