SUSTAINABLE BANGKACHO

สุกิจ พลับจ่าง “หิ่งห้อยเป็นอัตลักษณ์บางกะเจ้า คนบางกะเจ้า นักท่องเที่ยวที่จะมาก็ต้องช่วยกันอนุรักษ์ด้วย”

9 ตุลาคม 2561…ชุมชนบางกะเจ้าถือได้ว่าเป็นชุมชนตัวอย่างที่เกิดการผนึกกำลังของคนในชุมชนเพื่อปกป้องพื้นที่สีเขียวอันเป็นอัตลักษณ์และสามารถยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวสีเขียวที่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด

สุกิจ พลับจ่าง หนึ่งในผู้นำชุมชนบางกะเจ้า และผู้ริเริ่ม/บริหารโครงการลำพูบางกระสอบ ย้อนกลับไปถึงสาเหตุที่ทำให้คนในชุมชนลุกขึ้นมาร่วมมือร่วมใจในการ Redesign the Good Life ว่า มาจากความต้องการร่วมกันของคนในชุมชนที่จะหวนคืนกลับไปสู่ความเป็นบางกะเจ้าในวิถีเดิมๆ

“เรื่องของการรักษาพื้นที่สีเขียว ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเรา เพราะเดิมทีบางกะเจ้าเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่สภาพที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ทำให้เราพยายามย้อนกลับไปสู่วิถีที่เป็นการเกษตรสวนพืชผลไม้นานาพันธุ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพ คนในชุมชนอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างมีความสุข เราอยากกลับไปสู่จุดนั้นมากกว่า ดังนั้นการรักษาพื้นที่สีเขียวจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ จริงๆ เรากังวลกับสิ่งที่เข้ามาใหม่มากกว่า”

สุกิจ กำลังหมายถึง การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ไม่สอดคล้อง จนเกิดความแปลกแยกกับพื้นที่ รวมถึงการถมที่ ตามความนิยมของคนสมัยนี้ที่เข้ามาปลูกบ้านอยู่ที่บางกะเจ้า ก็จะเอาวิธีการปลูกบ้านแบบถมที่ก่อนปลูกบ้าน ซึ่งไม่เหมาะกับพื้นที่แห่งนี้

“แบบบ้านดั้งเดิมของคนบางกะเจ้าจะปลูกบ้านใต้ถุนสูง เพื่อให้น้ำลอดข้างใต้ได้ อันนี้เป็นไปตามลักษณะของพื้นที่ที่คนมาอยู่ใหม่ต้องตระหนัก แม้ว่าตอนนี้มันดูจะสายเกินไปหากจะย้อนกลับไปสู่ปลูกบ้านใต้ถุนสูงเหมือนเดิม แต่อย่างน้อยผมอยากให้หยุดการถมที่ เพื่อน้ำจะได้ไหลแผ่ลงสวนได้เหมือนเดิม หรือออกแบบสิ่งปลูกสร้างให้กลมกลืนกับพื้นที่ นี่คือสิ่งที่เราพยายามทำ”

นอกจากนี้ เหตุการณ์วิกฤตผังเมืองฉบับที่ประกาศล่าสุด ยังกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญหลังจากเกิดความกังวลในผังเมืองฉบับใหม่ที่อนุญาตให้มีการจัดสรรที่ดินทำให้คนในชุมชน หันมารวมตัวกันขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมร่วมกัน และวิกฤตผนังกั้นน้ำที่รัฐบาลมีแผนที่จะสร้างรอบชุมชนบางกะเจ้า เมื่อชาวบ้านบางกะเจ้ารวมตัวกันคัดค้าน มีผลทำให้โครงการนี้ถูกระงับไป กรณีหลังนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่จุดประกายให้คนในชุมชนมองเห็นภัยคุกคาม

“เช่นเดียวกับความหลากหลายชีวภาพ ซึ่งในอดีตมีความอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยทรัพยากรมากมายมหาศาล ก็ควรรักษาให้มันยังคงมีอยู่เท่าที่จะรักษาได้ เพื่อส่งทอดไปถึงคนรุ่นหลังให้เห็นความสำคัญในสิ่งที่คนในยุคปัจจุบันกำลังหาทางทะนุบำรุง”

สุกิจ ยกตัวอย่าง “หิ่งห้อย” ในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่ม/บริหารโครงการลำพูบางกระสอบ ที่ผ่านมาเขาพยายามสร้างเครือข่ายเยาวชนท้องถิ่น และเยาวชนที่อาศัยภายนอก เข้ามาช่วยกันดูแลน้ำตามลำคลอง เพราะหากน้ำดีแล้ว นอกจากจะส่งผลดีต่อการเกษตร ก็ยังส่งผลทำให้หิ่งห้อยเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากการรณรงค์เรื่องการรักษาน้ำแล้ว สุกิจ ยังมีความเป็นห่วงการท่องเที่ยวชุมชนว่าจะส่งผลกระทบต่อหิ่งห้อยด้วย เพราะมีผลการวิจัยออกมาแล้วนะครับว่าแสงกระพริบสีแดงของจักรยานไปรบกวนการสื่อสารของหิ่งห้อย เรามีการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวจูงจักรยานเข้าไปแทนการปั่นจักรยาน และอยากให้การท่องเที่ยวขี่จักรยานเป็นการท่องเที่ยวสีเขียวอย่างแท้จริง แต่ไม่มีกำลังพอที่จะไปบอกนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม เพราะหลังๆ มานี้ นักท่องเที่ยวก็มาเที่ยวกันเองโดยไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้

@บางกะเจ้า ปัจจุบันที่ยังรักษา และมีการนับหิ้งห้อยกันอยู่

นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ สุกิจ ก่อตั้งโครงการลำพูบางกระสอบ เพื่อที่จะทำหน้าที่ให้ความรู้กับการท่องเที่ยวที่ถูกต้องกับนักท่องเที่ยว เน้นให้ความรู้เรื่องหิ่งห้อย โดยก่อนจะพาไปดูหิ่งห้อย จะมีห้องเล็กๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของหิ่งห้อย ปูพื้นความสำคัญของพื้นที่บางกะเจ้า ว่าทำไมจำเป็นต้องช่วยกันรักษาเอาไว้ และบอกเล่าเรื่อกลุ่มลำพูของว่าก่อตั้งมาทำไม หลังจากนั้นจะพานักท่องเที่ยวไปดูเป็นกลุ่มเล็กๆ กลุ่มละไม่เกิน 15 คน ซึ่งแต่ละวันเราสามารถรองรับได้แค่ 3 กลุ่มเท่านั้น และเป็นการจูงจักรยานไปดูหิ่งห้อยโดยไม่เปิดแสงไฟ

สุกิจ เสริมว่า หิ่งห้อยถือได้ว่าเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของชุมชน เมื่อหิ่งห้อยเลือกที่จะมาอยู่ในชุมชนบางกะเจ้า คนบางกะเจ้า และนักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวก็ต้องช่วยกันอนุรักษ์หิ่งห้อยด้วย

“หลักๆ เราดูแลเรื่องน้ำไม่ให้น้ำอุดตันเน่าเสีย แค่นี้หิ่งห้อยก็อยู่สบายแล้ว แล้วบางกะเจ้ามีคลองหลัก 18 คลอง รวมกับคลองเล็กคลองน้อยอีกรวมเป็น 45 คลอง ถ้าเราทำให้คลองทุกสายมีน้ำขึ้นลงตามธรรมชาติในแต่ละวัน คิดดูว่าหิ่งห้อยจะกระจายไปทั่วบางกะเจ้ามากขนาดไหน ผมคิดว่ามันเป็นไปได้ หากทุกคนเห็นความสำคัญว่าหิ่งห้อยเป็นสินทรัพย์ที่มีค่า ถึงตอนนั้นถ้าเราจัดการการท่องเที่ยวอย่างยิ่งยืนจนมันเป็นเกาะหิ่งห้อย ผมว่ามันก็จะดึงเงินตราต่างประเทศได้อีกมหาศาลผมมักจะขายแนวคิดนี้ เพราะมองว่าบางกะเจ้าสามารถเป็นตัวแทนกรุงเทพฯ ในอดีตได้เลย หากหลายคนพูดว่า กรุงเทพฯ ในอดีตเปรียบเหมือนเวนิสตะวันออก ผมว่าบางกะเจ้ามีศักยภาพที่จะเป็นแบบนั้นได้ สุดท้ายแล้วมันจะเกิดการท่องเที่ยวที่งดงาม นี่คือความฝันของผม”

สุกิจ ยังให้แง่คิด Redesign the good life ในอีกทางหนึ่งว่า เขามองเห็นความสำคัญของการปลูกเมล็ดพันธุ์ให้กับเยาวชนผ่านกลุ่มเยาวชนต้นกล้าลำพู ทั้งเยาวชนในบางกะเจ้า และเยาวชนจากภายนอก แม้ว่าทุกวันนี้ยังไม่เห็นเมล็ดพันธ์รุ่นใหม่กลับมาพัฒนาบ้านเกิดมากนัก แม้จะหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์กับเยาวชนจำนวนมาก ถึงจะไม่งอกเงย แต่ก็ต้องหว่านต่อไป เพราะเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ถึงไม่งอกที่นี่ แต่ไปงอกที่อื่น ก็ถือเป็นคุณของแผ่นดินเช่นกัน อีกเรื่องที่ต้องการเห็นเยาวชนในพื้นที่เข้ามาทำแล้วประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เพื่อที่จะจุดประกายให้กับคนรุ่นหลังต่อไป

สุดท้ายนี้ สุกิจ ฝาก Tips ดีๆ ไปยังชุมชนอื่นที่ต้องการ Redesign the Good Life ว่า

“ผมอยากยกตัวอย่างในที่สิ่งที่ผมทำ ผมริเริ่มโครงการหิ่งห้อยมา 10 ปีที่แล้วหลายคนถามว่าจะอนุรักษ์ไปทำไมจนตอนนี้มีองค์กรภายนอกและเครือข่ายอนุรักษ์เริ่มเห็นความสำคัญผมคิดว่าควรทำตัวให้เป็นต้นแบบ แต่ก็ยอมรับนะครับว่าต้องอดทนสูงพอสมควร อีกเรื่องต้องช่วยการปลูกฝังคนรุ่นใหม่ โดยใช้สื่อโซเชียลให้เป็นประโยชน์”

เรื่องเกี่ยวข้อง

ดร.สุทัศน์ รงรอง “เทคโนโลยี คน ชุมชน และทรัพยากร ต้องทำ Redesign พร้อมกัน ต้องใช้เวลาต่อเนื่อง ”

อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี “ของที่มีพอหรือเปล่า ถ้าพร่องต้องเติม ถ้าเกินต้องปัน ถ้าพอก็ต้องรู้จักหยุด”

ศรีภัทรา จันทร์แสงสุก “เพียงคนในครอบครัวนัดกันอาทิตย์ละ 1 มื้อ ล้อมวงกินข้าวมีแกงจืด ผัด ของทอด น้ำพริกและผักจิ้ม ก็เกิดRedesign the Good Life”

ศิรษา บุญมา “Redesign the Good Life ด้านการท่องเที่ยว เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี”

ดั่งใจถวิล อนันตชัย “จากผลสำรวจ เราจะ Redefine อะไรก็ตาม แต่ละคนมองเป็นเรื่องของตัวเอง ไม่มีภารกิจร่วม ดังนั้น สิ่งที่มองจ ะRe อะไรก็ตามแต่ สิ่งสำคัญคือตัว R และตัว E”

อเล็กซ์ เรนเดล “ความยั่งยืนไม่ได้เกิดจากทิ้งขยะให้เป็นที่ แต่เป็น Lifestyle ต้อง Redesign สิ่งใหม่ๆให้กับโลกนี้”

คำตอบระดับโลก Redesign the Good Life @ SB’18 Bangkok บางกะเจ้า

 

You Might Also Like