BIODIVERSITY & REGENERATIVE

My Sis แชทบอท เพื่อนที่ปรึกษาด้านความรุนแรงในครอบครัว

17 มิถุนายน 2562…หวังช่วยเหยื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมากขึ้น ตอกย้ำบทบาทพาร์ทเนอร์เทคโนโลยีดิจิทัลต่อการพัฒนาสังคม ต่อยอดโครงการ “พลิกไทย” โดยดีแทค อย่างเป็นรูปธรรม

พัชรากรณ์ ปันสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด พ.ต.ท.หญิงเพรียบพร้อม เมฆิยานนท์ อาจารย์ด้านการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และแผน สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกันแลกประสบการณ์ งานที่เกี่ยวเนื่องกับเพศหญิงที่ได้รับความรุนแรงในครอบครัว และเรื่องของ My Sis

พ.ต.ท.หญิงเพรียบพร้อม ผู้ริเริ่มโครงการแชทบอทจากโครงการ “พลิกไทย” ดีแทค เพื่อลดความรุนแรงผู้หญิงและเด็กในครอบครัว ผู้เสียหายส่วนใหญ่เลือกที่จะเก็บเงียบ ไม่ประสงค์จะแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพราะมองว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว หากแจ้งความก็ยอมรับว่ากระบวนการตำรวจมองเรื่องนี้เป็นการทะเลาะเบาะแวง

“การถูกข่มขืน เมื่อแจ้งความ ตำรวจอาจจะต้องขอดูผลแพทย์ เพื่อดูว่าผู้หญิงยินยอมหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ผิดมาก เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ผู้หญิงบางคนสู้สุดชีวิต จะมีร่องรอยบนร่างกาย แต่ผู้หญิงบางคนช๊อค! เลยอยู่นิ่งๆ ซึ่งจะเห็นว่าปฏิกิริยาการตอบโต้ทางร่างกายไม่เหมือนกัน”

พ.ต.ท.หญิงเพรียบพร้อม ขยายความเพิ่มเติมว่า หลายคนกลัวการไปแจ้งความ ดังนั้นการได้ปรึกษากับแชทบอท My Sis ก่อนจะช่วยให้ผู้เสียหายได้มองเห็นช่องทางที่จะติดต่อ และลู่ทางในการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนเนื้อหาที่ป้อนให้กับแชทบอทนั้นเป็นข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและสากล ซึ่งหลีกเลี่ยงคำถามที่อาจซ้ำเติมผู้ประสบเหตุ และทำให้เรื่องของกฎหมายเข้าใจง่ายมากขึ้น

“สิ่งที่ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวต้องการ ไม่ใช่ความคิดเห็นหรือคำตัดสินว่าสิ่งที่กระทำนั้นถูกหรือผิด แต่ต้องการเพื่อนที่สามารถรับฟังเรื่องราว ให้คำปรึกษาและช่วยหาทางออกต่อสถานการณ์ที่พบเจอมากกว่า ซึ่งเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าแชทบอทจะเข้ามาช่วยให้เหยื่อเข้าถึงกระบวนการทางยุติธรรมมากขึ้น ถือเป็นอีกบทบาทหนึ่งของเทคโนโลยีในงานด้านยุติธรรม”

พ.ต.ท.หญิง เพรียบพร้อม เมฆิยานนท์,ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์,พัชรากรณ์ ปันสุวรรณ (จากซ้ายไปขวา)

ดร.อณูวรรณ เล่าถึงอัตราการเกิดความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดย 80-90% ของเหยื่อเลือกที่จะไม่แจ้งความหรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

“สำหรับเหยื่อหรือผู้ประสบเหตุความรุนแรงในครอบครัวมีอายุตั้งแต่ 5-90 ปี แต่ 60% ของผู้ประสบเหตุความรุนแรงในครอบครัวมีอายุ 5-20 ปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าว สะท้อนได้ว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องของทุกคน ดังนั้น การทำให้ผู้ประสบเหตุเข้ากระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง”

TIJ ให้ความสำคัญในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งการเข้าถึงหลักยุติธรรมสำคัญมาก และเป็นธรรมที่จะเกิดได้จริงโดยแชทบอทเข้ามาทำงาน ถือเป็นปรัชญาหนึ่งที่ TIJ สนับสนุนสร้างเครื่องมือบางอย่างที่เป็น First Age โดย My Sis ถือเป็นแชทบอทแรก(ที่ไม่ได้ขายสินค้า)ของอาเซียน ที่เป็นตัวช่วยคิด มีข้อมูลถูกต้อง และลิงก์กลับไปสู่อำนาจรัฐเช่นสายด่วน พม.ช่วยเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวได้

พัชรากรณ์ กล่าวว่า My Sis เป็นแชทบอทที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการช่วยให้เหยื่อหรือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเข้าถึงข้อมูลที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละบุคคล เปรียบเหมือนกับพี่สาวหรือเพื่อนที่พร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม. โดยทำหน้าที่รับฟังและให้คำปรึกษาในเบื้องต้น ใช้งานง่าย เนื้อหาจะครอบคลุม 4 ประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวคือ

1.การถูกทำร้าย
2.การถูกล่วงละเมิดทางเพศ
3.การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมหรือไม่ได้ตั้งใจ
4.การมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องและการให้ความรู้เบื้องต้น โดย พ.ต.ท.หญิงเพรียบพร้อม

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการให้กำลังใจ ซึ่งช่วยทำให้ผู้ประสบเหตุสามารถเอาตัวรอดได้และมีที่พึ่ง

“โอเพ่นดรีมมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการใช้ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างและปรับใช้เครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาในประเด็นสุขภาพ การศึกษา และชีวิตความเป็นอยู่ โดยมุ่งหวังให้เป็นรากฐานหรือตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่ง My Sis เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มุ่งหวังในการนำเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาสังคม”

สุนิตย์ เชรษฐา แห่ง Change Fusion ซึ่งเป็นเครือข่ายในการเริ่มต้นพัฒนา My Sis ตั้งแต่วันที่เริ่มเกิดในโครงการ “พลิกไทย” ช่วยขยายความต่อว่า เมื่อเหยือได้คุยกับแชทบอท จะมีความรู้ทางกฎหมายมากขึ้น เช่นในแชทบอท จะถามเมื่อบอกว่าถูกข่มขืน    เพิ่งเกิด หรือเกิดมาแล้ว 3 วัน ต้องแจ้งความภายใน 72 ชั่วโมง หรือข่มขืนแบบไม่ได้ยินยอม แต่โดนแฟนขืนใจ จะไปแจ้งความต้องมีหลักฐานะอะไรบ้างเมื่อถูกทำร้ายร่างกาย และยังเป็นเรื่องขอเงินชดเชยคู่กรณี ทดแทนความเสียหายจากรัฐ กองทุนยุติธรรม แม้ว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่ใหม่ แต่คนจำนวนไม่น้อยไม่รู้ว่าจะเข้าถึงข้อมูลได้อย่างไร

“ส่วนหนึ่ง My Sis ยังต้องเก็บข้อมูล คำต่างๆ มากมายในช่วงที่มีการพัฒนา ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายให้เข้าไปช่วยตั้งคำถามต่างๆ เพื่อที่บอทจะได้จดจำ โดยที่ผ่านมาคำที่เราเจอมากที่สุดคือ แฟนตบ คำถามคือ ทำอะไรได้บ้าง อีกคำหนึ่ง ลวนลาม ซึ่งบอทจะเก็บข้อมูลได้มากขึ้น ส่วนการตอบจะเป็นหลักวิชาการในการตอบ ไม่ใช่อารมณ์”

ความท้าทายของการพัฒนาแชทบอท My Sis คือ ฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมยังไม่แพร่หลาย การออกแบบบทสนทนาและคำตอบต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อน ซึ่งต้องได้รับคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ หากมีผู้ใช้งานมากขึ้นเท่าใดก็จะยิ่งเพิ่มความแม่นยำของคำตอบด้วย

ทั้งนี้ การใช้งานจะมุ่งไปสู่การหาทางออกให้แก่ผู้รับคำปรึกษา (Solutions) โดยจะเริ่มทดลองใช้งานในสถานีตำรวจพัทยา เพราะมีเรื่องคุกคามทางเพศมาก ไม่ว่าจะเป็นหญิง หรือชาย รวมถึงเด็กชายด้วย นอกจากนี้เป้าหมายที่น่าสนใจคือกลุ่มที่จังหวัดระยอง เพราะเป็นกลุ่มเปราะบาง มีแรงงานต่างชาติมาก เรื่องนี้จะเกี่ยวพันกับสิทธิมนุษยชนด้วย

วันนี้ My Sis แชทบอท ยังต้องการเครือข่ายอีกหลายสาขาที่มีแนวคิดเดียวกัน เพื่อเป็นเพื่อนที่ปรึกษาด้านความรุนแรงในครอบครัว

ปัจจุบัน My Sis ยังอยู่ในขั้นการทดลอง (BETA) ซึ่งยังเป็นในรูปแบบการเลือกคำตอบ ซึ่งต่อไปจะพัฒนาสู่การถามตอบแบบข้อความ (Free Text) ซึ่งจะทำให้การสนทนาระหว่างเหยื่อและ My Sis เป็นธรรมชาติและตรงประเด็น

พ.ต.ท.หญิงเพรียบพร้อม เสริมว่านอกจากการพัฒนาแชทบอท My Sis แล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็กำลังรณรงค์เปลี่ยนแปลงทัศนคติและมุมมองปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัวผ่านแคมเปญ #standbyme เพื่อสร้างการตระหนักรู้ว่า ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องของคนในครอบครัวเท่านั้น แต่เพื่อนหรือผู้พบเห็นก็สามารถร่วมแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้เช่นเดียวกัน

สำหรับผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว สามารถเข้ามาใช้งาน MySis โดยปรึกษาผ่าน Facebook  “มายซิส My Sis bot” Messenger  http://m.me/mysisbot โดยคาดหวังว่าภายใน 3 เดือนจะมีคนเข้าถึงมากกว่า 3 แสนคน

เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คุณคิด

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ได้เล่าถึงเรื่องจริง “เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก”

 เพราะเคยเกิดกับตัวเองเมื่ออายุ 16 ปีขึ้นรถเมล แล้วก็ถูกผู้ชายคนหนึ่งมายืนด้านหลังใกล้ตัวมาก และก็รู้ในเวลานั้นทันทีว่าถูกละเมิด จับกระโปรงขึ้นมาดูก็เห็นกระโปรงเปียก…นาทีนั้นช๊อค! ยืนนิ่ง ก่อนจะรีบลงจากรถ ซึ่งอาการช๊อค เป็นเหมือนที่พ.ต.ท.หญิงเพรียบพร้อมอธิบายไว้ และเวลานั้น ไม่รู้จะเล่าจะคุยให้ใครฟัง ซึ่งพ่อและแม่ก็รู้ไม่ได้ ดังนั้นการมี My Sis แชทบอททำหน้าที่เป็นปรึกษาแบบนี้ จะช่วยผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศได้ในเบื้องต้น

“เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คุณคิด”

เนื้อหาเกี่ยวเนื่อง

 

You Might Also Like