BIODIVERSITY & REGENERATIVE

ธุรกิจกับการแก้ปัญหาโลกร้อน (ตอนที่ 11) รู้จัก Carbon Credit

17 กันยายน 2564…“คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)” ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่สามารถจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจซึ่งอาจมีธุรกิจที่บริหารจัดการให้กระบวนการทำธุรกิจสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าเป้าหมายจนคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตออกมา


ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP® รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงมูลค่าจนสามารถนำออกขายให้แก่ธุรกิจหรือหน่วยงานที่ในกระบวนการทำงานยังมีส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าเป้าหมายที่ควบคุม ก็สามารถมาซื้อคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยได้ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย การให้ความรู้และกำหนดแผนงานที่เกี่ยวข้องแก่ภาคธุรกิจไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกัน การพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน เนื่องจากการลดภาวะโลกร้อน เป็นประเด็นสำคัญและเร่งด่วนที่จะกระทบต่อธุรกิจไทยในอนาคต

1. ความหมายและความสำคัญ

จากข้อมูลของ Wikipedia คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้จากการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ CDM (Clean Development Mechanism) ได้รับการนำมาใช้เพื่อเป็นกลไกให้ประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งประสบปัญหาในการลดปริมาณก๊าซ สามารถซื้อโควต้าคาร์บอนจากผู้ประกอบการในประเทศกำลังพัฒนาที่มีโครงการพัฒนาที่สะอาดที่เรียกว่า “การค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก”

โครงการพัฒนาที่สะอาดตามพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งมีสิทธิขายคาร์บอนได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงาน การผลิตพลังงานหมุนเวียน การเปลี่ยนเชื้อเพลิง การกักเก็บและการทำลายก๊าซมีเทน การปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ การจัดการน้ำเสียและขยะ และการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมเป็นต้น

คลิกภาพเข้าเว็ปไซต์

เมื่อมีการจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. หรือ Thailand Greenhouse Gas Management Organization (TGO) ขึ้นในปี 2550 ภารกิจหนึ่งของ TGO คือ ส่งเสริมการพัฒนาโครงการและการตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) ที่ได้รับการรับรองศูนย์กลางข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจกจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่ได้รับคำรับรอง และการขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้การรับรอง

ข้อมูลจาก blog.pttexpresso.com สรุปไว้ว่าพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เป็นต้นกำเนิดของ Carbon Credit พิธีสารเกียวโตเกิดขึ้นในปี 2540 เพื่อสร้างข้อกำหนดพันธะกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้ง 4 ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และก๊าซที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ไฮโดรฟลูออไรคาร์บอน เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน โดยการปล่อยก๊าซทั้งหมด จะมีการระบุว่า จะปล่อยได้ขนาดใหนในแต่ละปีตามข้อตกลงของประเทศนั้นๆ ซึ่งแน่นอนว่าการที่ประเทศอุตสาหกรรมจะทำการหยุดปล่อยก๊าซแบบกะทันหันนี้แทบเป็นไปไม่ได้ ในพิธีสารจึงมีการระบุกลไกยืดหยุ่นขึ้นมาเพื่อรองรับให้เหล่าประเทศพัฒนาแล้ว สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย ซึ่งได้แก่

คาร์บอนเครดิตจึงเป็นการนำปริมาณการลดการใช้ก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำกว่าเป้าหมายในแต่ละประเทศหรือแต่ละหน่วยงานมาเปลี่ยนแปลงให้สามารถซื้อขายได้ เปรียบเหมือนเป็นสินค้าประเภทหนึ่งเพื่อขายให้กับประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศอุตสาหกรรม หรือแม้แต่เอกชนชนบางราย โดยประเทศหรือหน่วยงานเหล่านี้จะซื้อคาร์บอนเครดิตไปสำหรับการขยายขอบเขตในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง

ผลของการกำหนดคาร์บอนเครดิตนั้นส่งผลให้ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศจำเป็นต้องลดก๊าซเรือนกระจกไปในตัวหากไม่อยากเสียเงินเพิ่ม เพราะราคาของคาร์บอนเครดิตจะแปรผันขึ้นลงตามปัจจัยต่างๆ หากผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเรือนกระจกของปีนั้นเพิ่มสูงขึ้น ก็มีโอกาสที่ราคาของคาร์บอนเครดิดจะพุ่งขึ้นเช่นกัน

2. แนวคิดเกี่ยวกับตลาดคาร์บอนเครดิต

ข้อมูลจากบทความ “ตลาดคาร์บอนเครดิต กฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง” 26 กรกฎาคม 2564 ใน bangkokbiznews.com สรุปไว้ว่าตลาดคาร์บอนเครดิต นอกจากจะหมายถึงสถานที่ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายแล้ว ยังเป็นตลาดที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม โดยการนำสินค้าที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิตมาเป็นวัตถุในการซื้อขายแลกเปลี่ยน ตลาดคาร์บอนเครดิตจึงเป็นกลไกช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยอีกทางหนึ่ง

ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตสามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภทคือ ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคบังคับ (Regulatory Carbon Market) โดยหน่วยงานของรัฐจะเป็นผู้กำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในกรณีเช่นนี้ หากโรงงานหรือบริษัทต้องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมเกินกว่าปริมาณที่กำหนด โรงงานหรือบริษัทนั้นก็มีสิทธิที่จะซื้อคาร์บอนเครดิตจากโรงงานหรือบริษัทอื่นที่มีปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เกินปริมาณที่กำหนดได้ จากกรณีข้างต้นจะส่งผลทำให้โรงงานหรือบริษัทที่ได้รับสิทธิการซื้อคาร์บอนเครดิตกลับมามีสิทธิปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมอีกครั้ง ในปริมาณที่ไม่เกินกว่าปริมาณที่กำหนด ซึ่งการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคบังคับ สามารถเห็นได้จากระบบ EU Emissions Trading System (EU-ETS) ของสหภาพยุโรป หรือ Australian Carbon Pollution Reduction Scheme ของประเทศออสเตรเลีย และ Regional Greenhouse GAS Initiative ของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

สำหรับตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) เป็นกรณีที่โรงงาน บริษัท หรือบุคคลใดที่สมัครใจดำเนินโครงการหรือมาตรการที่มีเป้าหมายเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกออกสู่สิ่งแวดล้อม คาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการดังกล่าวสามารถนำมาขายในตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ และโรงงานหรือบริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมเกินกว่าปริมาณที่กำหนดสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตดังกล่าวเพื่อทำให้ตนเองได้รับสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมอีกครั้งในปริมาณที่กำหนด

ในปัจจุบันการพัฒนาและดำเนินโครงการเกี่ยวกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานที่กำหนดขึ้นโดยองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐเพื่อทำให้มั่นใจว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวนั้นสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมได้จริงและมีประสิทธิภาพ

คลิกภาพชมวิดีโอ

ล่าสุดข้อมูลจากกรมการค้าระหว่างประเทศ (ditp.go.th) ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนคือ สิงคโปร์ ได้เตรียมจัดตั้งตลาดคาร์บอนเครดิตขึ้นโดยแถลงข่าวเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564 ภายใต้บริษัท Climate Impact X (CIX) ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้า โดยรวมตัวของ 1) ธนาคาร DBS 2) ธนาคาร Standard Chartered 3) ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และ 4) บริษัท Temasek คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้ในช่วงปลายปี 2564

CIX จะมีแพลตฟอร์มทั้งใน ลักษณะ

1) ระบบซื้อขาย (Exchange Market) ตามภาคบังคับใช้สัญญามาตราฐานเดียว ทำให้การซื้อขายจะใช้กติกาเดียวกัน 2) ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ โดยใช้ชื่อว่า Project Marketplace โดยจะสนับสนุนผลักดันกลุ่มธุรกิจที่สนใจพยายามลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แบบสมัครใจนี้ ให้ความรู้ข้อมูลเพิ่มเติมในแนวทางการลดสภาวะโลกร้อน Natural Climate Solution (NCS) ตามข้อตกลงปารีส โดย NCS เป็นแนวทางปกป้องและฟื้นฟูสภาพระบบนิเวศทางธรรมชาติที่ใช้ต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และก่อประโยชน์ในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งยังมีส่วนช่วยเพิ่มรายได้ให้ชุมชนที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดยภูมิภาคเอเซียซึ่งถือว่าเป็นแหล่งผู้ผลิตที่สำคัญของโลก จึงคาดว่าจะสามารถขยายผลในเรื่องนี้ได้

คลิกภาพอ่านเพิ่มเติม

สำหรับในประเทศไทยก็เริ่มมีพัฒนาการที่ดีที่จะนำไปสู่การจัดตั้งตลาดคาร์บอนเครดิตขึ้นในประเทศได้ ข้อมูลจาก Bangchak.co.th ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ว่า กลุ่มบางจากจับมือกับพันธมิตร 11 องค์กร ร่วมก่อตั้งเครือข่าย Carbon Markets Club เพื่อสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและใบรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบดิจิทัลเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่าทุกวันนี้องค์กรที่เป็นผู้ผลิตหรือมีรายได้หลักจากอุตสาหกรรมหนักหรือใช้พลังงานฟอสซิล ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นผ่านการซื้อขายคาร์บอนหรือการจ่ายภาษีทางอ้อมเพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายคาร์บอนไปอุดหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ส่งผลให้เริ่มเห็นมาตราการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีหรือ Non-tariff barriers จากประเทศต่างๆ เช่น European Green Deal เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน

Carbon Markets Club ที่จัดตั้งขึ้นนี้ จะช่วยกันสนับสนุน เผยแพร่ ส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนเครดิตในระบบ T-VER โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งการซื้อขายในปัจจุบันยังเป็นรูปแบบการซื้อขายกันโดยตรง (Over-the-counter) อยู่ ซึ่งในอนาคตสามารถสร้างเป็นแพลตฟอร์มระบบดิจิทัลเพื่อความรวดเร็วและทันสมัย รองรับตั้งแต่การทำ e-registration กับหน่วยงานผู้ขึ้นทะเบียนและให้การรับรอง การทำ e-carbon trading และนำ Blockchain มาใช้ในการซื้อขายต่อไป

 

You Might Also Like