NEXT GEN

เศรษฐา ทวีสิน “ผมว่าเรามาออกบอนด์ดีกว่า เพื่อให้กสศ.นำเด็กเหล่านี้เข้าสู่ระบบ”

9 กุมภาพันธ์ 2565…แสนสิริออกหุ้นกู้ 100 ล้านบาท ครั้งแรกของเอเชีย! หนุนกสศ. รวมพลังคนไทยเปลี่ยนการศึกษาไทย พลิกการเปลี่ยนแปลงประเทศ เด็กหลุดระบบการศึกษาต้องเป็น “ศูนย์” @Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน

เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกันกล่าวถึงความร่วมมือครั้งสำคัญในการเปลี่ยนการศึกษาไทย ครั้งแรกของเอเชีย!

“เรามีลูกหลาน เห็นซึ้งถึงปัญหาการศึกษาไทย เราจะทำอย่างไรมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของคำเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือเด็กอย่างยั่งยืน ทางออกทางแก้ค่อนข้างซับซ้อนพอสมควร แล้วก็บ่น จนพบดร.ไกรยศก็คิดว่า เลิกบ่นดีกว่า ทำงานด้วยกันดีกว่า”

โครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” วางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน เกิดขึ้นมา โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปการศึกษา ภายใต้วิสัยทัศน์และเป้าหมายเดียวกัน ในความตั้งใจที่จะ “สร้างความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา”นับเป็นพันธกิจใหญ่ของแสนสิริ ในปี 2565

ดร.ไกรยส กล่าวแสดงความยินดีที่แสนสิริเล็งเห็นถึงความสำคัญ และเข้ามาช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งแผนการสนับสนุนเงินทุนเพื่อช่วยผลักดันโครงการที่ กสศ. และ หน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชนในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ร่วมกันสนับสนุนมาตรการทั้งต่อตัวเด็กเยาวชนและสถานศึกษาโดยตรง และมาตรการการส่งเสริมการรับรู้เรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนด้วยกลไกการจัดการเชิงพื้นที่ (Area-based Education: ABE)

“นับเป็นนวัตกรรมความร่วมมือที่จะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงระบบและการแก้ปัญหายั่งยืน จะเป็นตัวแบบของประเทศสามารถต่อยอดขยายผลได้ในอนาคต ที่สำคัญคือการสร้างช่องทางให้ทุกคนสามารถเป็นหนึ่งในการช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยให้เยาวชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค สำหรับราชบุรี เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีต้นทุนการทำงานปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาร่วมกับกสศ. มีฝ่ายนโยบายที่ให้ความสำคัญ มีตัวแบบสถานศึกษา หน่วยจัดการศึกษาทางเลือก บุคลากร อาสาสมัคร ที่สามารถขยายผลการทำงานได้ทันที”  

เศรษฐาอธิบายต่อเนื่องถึงเงื่อนไข โครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน”

-เลือกจังหวัดที่ไม่มีโครงการของแสนสิริ ปั้น “ราชบุรีโมเดล” จังหวัดต้นแบบ ให้เด็กหลุดระบบการศึกษาเป็น “ศูนย์” ใน 3 ปี
-ออกหุ้นกู้ เพื่อใช้ในโครงการ Zero Dropout ครั้งแรกในเอเชีย! ระดมทุน 100 ล้านบาท
-ครั้งแรกของหุ้นกู้ ที่มากกว่าการลงทุน ไม่เพียงแต่ได้ลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนการลงทุน 3.20% ต่อปี รับดอกเบี้ยทุก 3 เดือนตลอดอายุหุ้นกู้
-แสนสิริ แต่งตั้ง ไทยพาณิชย์ เป็นผู้ดูแลเงินระดมทุน 100 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ผ่านบัญชีผลประโยชน์ของคู่สัญญา (Escrow Account)
-ลงทุนเริ่มต้น 1,000 บาท ให้คนไทยสามารถร่วมสร้างประวัติศาสตร์เพื่อเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย ให้เด็กหลุดระบบการศึกษาเป็น “ศูนย์” ไปด้วยกัน เปิดจองวันที่ 15 ก.พ.นี้ เวลา 8.30 น. ผ่าน SCB Easy App เท่านั้น

“แสนสิริต้องการจุดประกายให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ที่มีการออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนในการช่วยพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ โดยนับว่า ครั้งนี้เป็นการลงทุนที่จะได้รับประโยชน์ถึง 2 ต่อ นอกจากนักลงทุนจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนแล้ว ที่สำคัญกว่านั้น คือ นักลงทุนจะได้ลงทุนในอนาคตเด็กเพื่อให้ได้อยู่ในระบบการศึกษา สร้างรากฐานสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง”

เศรษฐากล่าวในท้ายที่สุดถึงการดำเนินธุรกิจของแสนสิริที่มีเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือสังคม คนตัวใหญ่ต้องช่วยคนตัวเล็ก และให้ความสำคัญในเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม รวมถึงเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือเด็กอย่างยั่งยืน ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา กับพันธมิตรที่ลงนามคือองค์การยูนิเซฟ โดยร่วมกันผลักดันโครงการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครอง ปกป้องสิทธิ และพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กมากกว่า 17 โครงการ

“เงิน 100 ล้านบาท ที่ได้จากการระดมทุนอาจไม่สามารถช่วยเหลือเด็กทั้งประเทศได้ แต่จะนับเป็นการจุดประกายในการสร้างความหวังให้เกิดการลงมือทำ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงของเราในครั้งนี้จะสร้างแรงกระเพื่อมให้ภาครัฐและภาคส่วนอื่น ๆ หันมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ และเมื่อถึงวันนั้นความหวังที่เด็กทั้งประเทศจะหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็น ‘ศูนย์’ คงเป็นอนาคตที่ไม่ไกลเกินไปนัก”

 

You Might Also Like