NEXT GEN

ดีแทคย้ำ ใบอนุญาต “ทางสังคม” ไม่สามารถประเมินค่าได้ ลดคอร์รัปชันเป็นศูนย์ถือเป็นหัวใจสำคัญ

9 ธันวาคม 2563…บทความโดย ชารัด เมโรห์ทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

โดยส่วนใหญ่แล้ว ในการดำเนินธุรกิจประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทสถาปนิก โรงพยาบาล หรือแม้แต่ร้านอาหารขนาดใหญ่ก็ดี จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตเฉพาะในการประกอบธุรกิจ ซึ่งในฐานะซีอีโอของดีแทค หนึ่งในผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมของไทย ผมทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับใบอนุญาตในทุกกระบวนการดำเนินธุรกิจ นับตั้งแต่การตั้งเสาสัญญาณ ไปจนถึงการขอใช้สิทธิในคลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรของชาติ อย่างไรก็ดี ใบอนุญาตที่ดีแทคให้ความสำคัญที่สุดนั้นคือ ‘ใบอนุญาตทางสังคม (Social License)’ และผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการลดคอร์รัปชันเป็นศูนย์ถือเป็นหัวใจสำคัญยิ่งต่อสิทธิในการดำเนินธุรกิจของดีแทค

ใบอนุญาตที่ไม่สามารถประเมินค่าได้

ใบอนุญาตทางสังคมนั้นแตกต่างจากใบอนุญาตที่ออกให้โดยรัฐ เนื่องจากไม่สามารถจับต้องได้เหมือนใบอนุญาตโดยทั่วไปที่อยู่ในรูปของกระดาษ และจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อบุคคลหรือบริษัทนั้นๆ ได้รับการยอมรับนับถือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้มีสิทธิในการดำเนินธุรกิจในสังคมนั้นๆ อาทิ สาธารณชน ลูกค้า สื่อมวลชน หน่วยงานภาครัฐ ผู้ถือหุ้น พนักงาน และเนื่องในโอกาสวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (9 ธ.ค. 2563) ผมขอแบ่งปันวิธีการและความมุ่งมั่นของดีแทคในการรักษาใบอนุญาตทางสังคมนี้ผ่านนโยบายอันเข้มงวด เพื่อต่อต้านการทุจริตและการใช้อิทธิพลอันมิชอบในทุกรูปแบบ

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ดีแทคลงทุนเพื่อได้มาซึ่งใบอนุญาตในการใช้คลื่นความถี่ รวมมูลค่าแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ขณะเดียวกัน ดีแทคได้มีการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตทางสังคม ผ่านแนวนโยบายและหลักปฏิบัติต่างๆ ซึ่งเป็นใบอนุญาตที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ เป็นใบอนุญาตเพื่อให้ได้มาซึ่งความไว้วางใจจากสาธารณชน และจะถูกเพิกถอนก็ต่อเมื่อเกิดการกระทำที่บิดพลิ้วต่อการได้มาซึ่งความไว้วางใจนั้น การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบจึงเป็นราคาค่างวดที่ธุรกิจต้องจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตทางสังคมดังกล่าว

ในประเทศอินเดีย บ้านเกิดของผม ผู้บริโภคเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ยอมที่จะจ่ายเงินแพงขึ้นเพื่อซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทที่พวกเขาไว้วางใจมากที่สุด ตามข้อมูลของบริษัทวิจัย Cognizant นอกจากนี้ ผู้บริโภคราว 53 เปอร์เซ็นต์ จะหยุดการสนับสนุนสินค้าและบริการจากบริษัทที่พวกเขาสูญเสียความไว้วางใจอีกด้วย

ในทำนองเดียวกัน จากข้อมูลของบริษัท Qualtrics ระบุว่า ผู้บริโภคไทยราว 75 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญที่แบรนด์ต่างๆ จะต้องดูแลพนักงานและลูกค้าของตน และดำเนินธุรกิจให้สูงกว่ามาตรฐานความปลอดภัยที่กฎหมายกำหนด

นอกเหนือไปจากสินค้าและบริการซึ่งเป็นแกนหลักของธุรกิจแล้ว การสร้างความไว้วางใจยังเป็นตัวแปรสำคัญในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ในกรณีของดีแทค ผมเชื่อว่าลูกค้าและประชาชนทั่วไปไม่ได้มองหาเพียงประสบการณ์การใช้งานที่ราบรื่นเท่านั้น ทุกคนยังคาดหวังการดำเนินงานของบริษัทที่สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสูงทั้งในมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

นโยบาย Zero Tolerance

หนึ่งในอุปสรรคสำคัญต่อการได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งใบอนุญาตทางสังคมนั้นคือการคอร์รัปชัน อันเป็นการกระทำที่ทำลายทุกความเชื่อมั่น บั่นทอนความเสถียรภาพทางความมั่นคง นำไปสู่การสูญเสียซึ่งทรัพยากร และสร้างความเสียหายต่อทุนมนุษย์ ซึ่งท้ายที่สุดอาจนำมาซึ่งการสูญเสียความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ

ด้วยเหตุนี้ ดีแทคจึงให้ความสำคัญกับนโยบายและมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันที่มาในรูปแบบต่างๆ ตัวอย่างเช่น นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกกรณี (zero tolerance) ซึ่งได้กำหนดข้อห้ามในการแลกเปลี่ยนของขวัญทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม บริษัทได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ในกรณีที่ของขวัญมีมูลค่าที่ไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจทางธุรกิจ หรือเป็นของพรีเมียมที่มีตราสัญลักษณ์ของดีแทค อาทิ เสื้อยืดหรือตุ๊กตาของดีแทค

กีฬากอล์ฟนั้นเป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนถึงวิธีการที่เราประยุกต์ใช้นโยบายดังกล่าว แม้ว่าการเล่นกอล์ฟจะถูกมองว่าเป็นการแลกเปลี่ยนไมตรีจิตทางธุรกิจโดยทั่วไป แต่เรามีข้อห้ามไม่ให้พนักงานดีแทคเล่นกอล์ฟกับคู่ค้า โดยคู่ค้าเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แต่อาจมีข้อยกเว้นได้ในบางกรณี หากดีแทคเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในส่วนของดีแทคเอง แต่ทั้งนี้ ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารระดับ C-level อย่างผม เป็นต้น อย่างไรดี ในกรณีที่คาดว่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าร่วมวงกอล์ฟนั้นๆ ด้วย โอกาสที่คำขอดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติจะยิ่งน้อยลงไปอีก

นอกจากนี้ ดีแทคยังได้กำหนดให้มีการตรวจสอบภูมิหลังคู่ค้า หรือ Integrity Due Diligence (IDD) ซึ่งเป็นกระบวนการตรวจสอบอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับธุรกิจหรือบุคคลก่อนที่จะมีการทำสัญญาระหว่างกัน โดยคู่ค้าทั้งหมดจะต้องปฏิบัติตามหลักปฏิบัติของคู่ค้า (Supplier Conduct Principles) ซึ่งมีสาระสำคัญว่าด้วยจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจและการต่อต้านคอร์รัปชัน ตลอดจนการให้สำคัญต่อสิทธิแรงงานที่เท่าเทียมและหลักอาชีวอนามัยของคู่ค้า

ในทุกๆ ปี เรายังให้พนักงานของเราทุกคนทำการอบรมและทดสอบเกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาลของดีแทค ผ่านสถานการณ์สมมุติที่ยากต่อการตัดสินใจทางจริยธรรม แบบทดสอบเหล่านี้เป็นการลับคมให้พนักงานของเราเข้าใจต่อหลักคิดและสามารถปรับใช้ในสถานการณ์จริงได้ และเมื่อพนักงานผ่านการอบรมหลักธรรมาภิบาลของดีแทคแล้ว พวกเขาสามารถร่วมลงนามในขั้นตอนสุดท้ายเพื่อแสดงความยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลดังกล่าว และเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากลในปีนี้ เราได้เปิดตัวคอร์สเรียนออนไลน์หลักสูตรใหม่อีกด้วย

ความพยายามต่างๆ ของดีแทคในการต่อต้านคอร์รัปชันได้รับการรับรองโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ซึ่งได้มอบประกาศนียบัตรให้ดีแทคเป็นหนึ่งในบริษัทภายใต้โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตในปี 2562 ที่ผ่านมา โดยการรับรองดังกล่าวนั้นมีอายุ 3 ปีนับจากวันที่มีมติให้การรับรอง กระนั้น รางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเราก็คือการได้รับใบอนุญาตทางสังคมให้ดำเนินธุรกิจนี้เอง

ที่ดีแทค ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงตัวเลขหรือเป้าหมายเชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการได้มาและรักษาไว้ซึ่งความไว้วางใจจากลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน พันธมิตรทางธุรกิจ และสังคมที่เราดำเนินธุรกิจอีกด้วยครับ

 

You Might Also Like