NEXT GEN

เผยหลักสูตร “การเคารพในความหลากหลายทางเพศ”

2 ตุลาคม 2563…ดีแทค Safe Internet และกลุ่มเทเลนอร์ ร่วมกับองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พร้อม “ดีป้า-กองทุนสื่อฯ” พัฒนาหลักสูตร ‘การเคารพในความหลากหลายทางเพศเพื่อลดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (Cyber-bullying) ในห้องเรียน “ครูล้ำ”

หลักสูตร “การเคารพในความหลากหลายทางเพศเพื่อลดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์” มุ่งพัฒนา “ครู” ให้เป็น “โค้ช” เพื่อช่วยทำให้ “โรงเรียน” ซึ่งเป็นพื้นที่ทางสังคมแห่งแรกของเด็ก เป็นพื้นที่ที่เอื้ออาทรปลอดภัย ทุกคนเคารพความเท่าเทียมของมนุษย์ ผ่านการเรียนการสอนตั้งแต่เด็ก ให้เข้าใจถึงแนวคิด “ความแตกต่างหลากหลาย” ไม่ใช่ความผิดปกติ อันจะช่วยลดอคติและความเสี่ยงที่เด็กและเยาวชนจะกลั่นแกล้งรังแกเพื่อนและคนร่วมสังคมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน (ที่สามจากขวา) รัชญา กุลณพงษ์ ผู้อำนวยการความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค (ที่ห้าจากขวา) กรองแก้ว ปัญจมหาพร ผู้เชี่ยวชาญงานส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (ที่สองจากขวา) สิทธิชัย ดวงแสง โรงรียนเชียงใหม่คริสเตียน (ขวาสุด) สุริยา กลิ่นพาชื่น สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (ที่สี่จากขวา) และ พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท. (ซ้ายสุด) ร่วม แลกเปลี่ยนมุมมอง “LGBT” ตกเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้งรังแกทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์

ทำไมต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ อีกทั้งครูเองก็มีงานทางวิชาการมากมาย

อรอุมา เริ่มเล่าถึงความหลากหลาย และการแก้ปัญหาการถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ซึ่งมีข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในปี พ.ศ.2561” โดยความร่วมมือระหว่างคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดีแทค แสดงให้เห็นข้อลเชิงประจักษ์ว่า ร้อยละ 91 จาก 1,606 กลุ่มตัวอย่างเคยถูกกลั่นแกล้งในสถานศึกษาจนถึงขี้นเสียใจหรือเสียความรู้สึก

“ในงานวิจัยบอกว่า LGBT ตกเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้งรังแกทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยกลุ่มนักเรียนที่เปิดเผยในงานวิจัยว่า เป็น LGBT เผยว่า มีประสบการณ์โดนกลั่นแกล้งทางวาจา แกล้งทางเพศ แกล้งทางไซเบอร์ และถูกรังแกมากที่สุด เมื่อเทียบกับนักเรียนหญิงและชาย และเด็กนักเรียนร้อยละ 33.8 ระบุว่า ครูคือบุคคลที่นักเรียนต้องการแจ้งปัญหาและร้องขอความช่วยเหลือมากที่สุด เมื่อนักเรียนเผชิญกับปัญหาการถูกกลั่นแกล้งทั้งที่โรงเรียนและบนพื้นที่ออนไลน์ แต่ที่ไม่ทำเช่นนั้น เพราะเด็กนักเรียนกลุ่มตัวอย่างรู้สึก “ไม่เชื่อถือ” ในความยุติธรรมของครู เพราะครูมักเลือกที่รักมักที่ชัง และครูอาจจะไม่มีความรู้หรือทักษะที่จะช่วยแก้ปัญหาโดยเฉพาะในเรื่องการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความเสี่ยงออนไลน์ ดังนั้นนักเรียนจึงปรึกษาเพื่อน และก็จะได้คำตอบว่า ไปเอาคืนเลย”

การกลั่นแกล้งทางสังคมมีความสัมพันธ์สูงกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ นักเรียนใช้ไซเบอร์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมของพวกเขา และหากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางไซเบอร์อาจจะต้องเริ่มจากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางสังคมกายภาพจริงของพวกเขา

ดีแทคและองค์การแพลนได้พัฒนาหลักสูตรนี้ขึ้น ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างเทเลนอร์ กรุ๊ป และองค์การแพลน อินเตอร์เนชันแนล ที่มีเป้าหมายคือ ส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยในกลุ่มเด็ก และการสร้างทักษะต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเด็กๆ สู่โลกยุคดิจิทัล

รัชญาเล่าถึงผลสำรวจเล็ก ๆ จากหัวใจ กับ 3 คำถาม ของผู้ร่วมงาน “ความหลากหลายทางเพศ” โดยใช้สี แสดงถึง ชาย หญิง และอื่นๆ พร้อมตอบ

1.อัตลักษณ์ทางเพศ… ของคุณเป็นแบบไหน เกิดมาพร้อมเพศอะไร ?
2.การแสดงออกทางเพศ… ของคุณเป็นแบบไหน เช่นเพศชายต้องชอบเพศหญิง?
3.แรงดึงดูดทางกายและทางใจ… ของคุณเป็นแบบไหน ?

“จากบางตัวอย่างที่เราเห็นบนบอร์ด เพศชายมีอยู่ 5 ซึ่งโดยกรอบปกติเพศชายต้องชอบเพศหญิง ซึ่งก็ต้องมีคู่ 5 คู่ แต่ที่พบบนบอร์ด ไม่ใช่ นั่นพอจะบอกให้ทราบว่า คนคนหนึ่งมีความหลากหลาย ซึ่งเป็นเหตุที่ต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ เพราะทุกความหลาหลายคือความเป็นปกติ ต่อไปนี้เราจะไม่เรียกคนอื่นแบบบูลลี่”

ทั้งนี้ การเริ่มต้นในเรื่อง “การเคารพในความหลากหลายทางเพศ” จะต้องเริ่มที่โรงเรียน โดยดีแทคและองค์กรแพลน ได้ร่วมกันจัดอบรมครูในโรงเรียน 15 โรงเรียน ที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทสังคมของประเทศไทย ซึ่งครูสิทธิชัย จากโรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียนเป็น 1 ใน 60 คนจาก 15 โรงเรียนในเชียงใหม่มาร่วมเป็น Pilot ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563

(บน)อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน รัชญา กุลณพงษ์ ผู้อำนวยการความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดเผยงานวิจัย และการทำงานพร้อมกับ
(ล่าง) ครูสิทธิชัย ดวงแสง โรงรียนเชียงใหม่คริสเตียน กรองแก้ว ปัญจมหาพร ผู้เชี่ยวชาญงานส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

“เรื่องนี้ครูไม่เคยเรียนมาก่อนเพราะไม่มีในหลักสูตร ขณะเดียวกันครูจะถูกสอนมาอีกแบบหนึ่ง และเมื่อมาเป็นครู ครูจะมีอำนาจเหนือเด็ก แต่หลังจากได้อบรมหลักสูตรนี้ ทำให้เราฉุกใจคิดได้ว่าครูไม่ใช่ผู้มีอำนาจเหนือเด็ก ครูควรใช้อำนาจอย่างเหมาะสม นักเรียนก็ควรมีอำนาจในวงของเขา เราถูกปลูกฝังว่า โตด้วยไม้เรียว ซึ่งปัจจุบันต้องใช้วิธีอื่น นอกจากนี้โรงเรียนก็ขาดนโยบายส่งเสริมเรื่องการเคารพในความหลากหลายทางเพศ ในการเรียนการสอนจะมีแค่เพศหญิง เพศชาย แบ่งตามสรีระ เมื่อเกิดเป็นเพศชายต้องเข้มแข็ง ห้ามร้องไห้ สู้งานหนักกว่าเพศหญิง เพศหญิงต้องอ่อนแอกว่า เพราะฉะนั้นเมื่อครูหลายคนไม่มีโอกาสเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ ก็จะไม่กล้าพูดเรื่องนี้”

ครูสิทธิชัย กล่าวต่อเนื่องว่า เมื่อมีโอกาสเข้าร่วมโครงการ และผู้บริหารโรงเรียนได้ถามถึงพัฒนาการโครงการฯเมื่อนำมาใช้ในห้องเรียนวิชาของครูสิทธิชัย โดยครูเปิดห้วข้อ “ภัยออนไลน์” จากนั้นนักเรียนเป็นคนทำกิจกรรมเอง และได้เห็นผลเรื่องความหลากหลายทางเพศ ในมุมของนักเรียนที่ครูจะไม่มีโอกาสเห็น หากใช้วิธีการแบบครูสอนเช่นเดิม

กรองแก้ว ช่วยขยายความหลักสูตรการเคารพในความหลากหลายทางเพศเพื่อลดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์นั้นจะมีการนำทฤษฎีที่มีนักสิทธิมนุษยชนได้พัฒนาไว้เป็นเครื่องมือหนึ่งทางสิทธิมนุษยชนที่ใช้เป็นกรอบทางความคิด เพื่อทำความเข้าใจกับองค์ประกอบและความความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือเรียกในชื่อย่อว่า SOGIESC

“เหตุการณ์กลั่นแกล้งไม่ว่าพื้นที่ออนไลน์หรือออฟไลน์เกิดจากการที่เด็กหรือคนในสังคมไม่เข้าใจถึง “ความแตกต่าง” คนที่มีความแตกต่าง และมักจะตกเป็น “เหยื่อ” ของการกลั่นแกล้งรังแก ทั้งที่ในความเป็นจริง “ความแตกต่างหลากหลาย” ล้วนแสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมดาและธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต มนุษย์เรามีความหลากหลายทั้ง ชาติพันธุ์ สีผิว ภาษา ศาสนา รสนิยมเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ”

หลักสูตรฯ มุ่งสร้างการเคารพในความแตกต่างหลากหลาย และเคารพในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับหลักการยอกยาการ์ตา ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ว่า “มนุษย์ทุกคนย่อมเกิดมาโดยอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิต่างๆ “วิถีทางเพศ (sexual orientation) และอัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity)” คืออัตลักษณ์พื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ที่ควรได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

อรอุมากล่าวในท้ายที่สุดว่า หลักสูตร “การเคารพในความหลากหลายทางเพศ” ยังมีการแนะนำวิธีการใช้อุปกรณ์การสอนให้ครูนำไปปรับใช้เพื่อให้คำแนะนำแก่เด็กนักเรียน และแนะนำบทสนทนาให้ครูสามารถพูดคุยกับเด็กนักเรียนด้วยความเข้าใจ เป็นมิตร ซึ่งจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะภูมิใจอัตลักษณ์ของตนเอง เคารพสิทธิความหลากหลายทางเพศ และไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

 

You Might Also Like