NEXT GEN

หุ่นยนต์ 5G จาก AIS ROBOTIC LAB ช่วยเซฟทีมแพทย์ ลดความเสี่ยง ลดการสัมผัส #COVID19 ร่วมสร้าง New Normal

18-19 เมษายน 2563…ROBOT FOR CARE เดินตามแผนในต้นเดือนพ.ค.นี้ ส่งมอบทั้งหมด 23 ตัว ให้ 22 โรงพยาบาล ซึ่งต้องการ Feature ในหุ่นยนต์แตกต่างกันไป นับเป็นการสัมผัส 5G แบบจับต้องได้ ปูพื้นฐานเพื่ออนาคตให้บริการผู้ป่วยด้วย Telemedicine มีประโยชน์ และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพให้กับประชาชน

วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส และอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายงานขับเคลื่อนนวัตกรรม เอไอเอส ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล “เจาะภารกิจเอไอเอสสร้างหุ่นยนต์ผู้ช่วยคุณหมอ 5G ดูแลผู้ป่วย COVID-19”

สำหรับ เอไอเอสแล้วเรื่องการนำหุ่นยนต์ 5 G มาใช้ในภารกิจต่าง ๆ ทั้งที่เป็น Used Case หรือ Real Case เพื่อความปลอดภัย เพื่อความสะดวกรวดเร็วในงานต่าง ๆ นั้น คงไม่ใช่เรื่องใหม่เท่าใดนัก เพราะจาก AIS NEXT หน่วยงาน Innovation ที่ออกแบบระบบ 5G Robot Platform ขึ้นเอง ผสมผสานระหว่าง เทคโนโลยี เครือข่าย 5G ให้ทำงานกับหลายธุรกิจ แม้กระทั่งเตรียมไว้ใช้งานบริการของ AIS เอง และแน่นอนว่าต้องรวมถึงด้านการแพทย์ด้วย

“หุ่นยนต์ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่ตัวใหม่ของเอไอเอส หุ่นยนต์มีความเกี่ยวข้องกับ 5G เพราะ 5G มีคุณสมบัติ Massive IoT , DATA ความเร็วสูง มีความหน่วงต่ำ หรือ Low Latency ซึ่งในทดสอบจะมีเรื่อง Health Care ด้วย ตั้งแต่ที่เราทำกับจุฬาฯ หุ่นยนต์เจาะกระดูก แล้วก็เป็นเรื่องการนำ 5G มาใช้กับหุ่นยนต์กายภาพบำบัด และเราก็คุยกับทางจุฬาฯเรื่องการนำ 5G ใช้กับหุ่นยนต์ที่ดูแลผู้ป่วยด้านโลหิตสมอง จากนั้นก็แปลงมาเป็นหุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วย COVID-19 ซึ่งหุ่นยนต์นินจากว่า 10 ตัวก็กระจายตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่ง AIS ได้ Provide ในเรื่องสื่อสาร รวมถึงหุ่นยนต์ปิ่นโตหรือหุ่นยนต์อื่น ๆ ที่เรายังร่วมดูแลด้านการสื่อสารอยู่”

วสิษฐ์ เห็นว่า เมื่อเกิดสถานการณ์ COVID-19 นับเป็นภารกิจของเอไอเอส ที่จะต้องนำเรื่องเหล่านี้มาตอบโจทย์สังคมขณะนี้

AIS Robotic Lab by AIS NEXT ผู้อยู่เบื้องหลัง

อราคิน ขยายความต่อเนื่องในการนำสิ่งที่อยู่ใน AIS NEXT มาตอบโจย์สังคมโดย AIS Robotic Lab ซึ่งมีหุ่นยนต์มากมายหลายประเภท จากหลายประเทศทำการทดลองต่าง ๆ ซึ่ง 1ในเรื่องนี้คือ การตอบโจทย์ใช้ช่วยเหลือแพทย์และพยาบาลดูแลผู้ป่วย COVID-19 อย่างเร่งด่วน!

“แม้ว่าทางทีมจะมีประสบการณ์บางส่วน แต่เมื่อโจทย์การช่วยเหลือลดความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ของบุคลากรทางการแพทย์ ดูแลผู้ป่วย COVID-19 เราก็ต้องเข้าไปสอบถามข้อมูลความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลมีความต้องการไม่เหมือนกัน เช่นบางแห่งบอกว่าวัดอุหภูมิอย่างเดียวไม่พอ อยากได้การวัดค่าอ๊อกซิเจนในเลือด ซึ่งความหนาแน่นในเลือดเป็นตัวบ่งชี้ว่าปอดยังทำงานอย่างปกติหรือไม่ หรือต้องการ ส่งยาให้ผู้ป่วยถึงเตียง, บริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือเคลื่อนที่ เหล่านี้เรานำมาใช้ในการพัฒนากลไกหุ่นยนต์ต่าง ๆ ให้สอดรับกับการทำหน้าที่ แล้วเขียนซอฟต์แวร์เพิ่มเติม เพื่อให้ประมวลผลที่คลาวโดยการวิ่งผ่าน 5G เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว”

อราคินขยายความต่อเนื่องถึงสิ่งที่มีใน AIS NEXT คือ AIS Robot Platform มีความสามารถในการเข้าถึง Library หุ่นยนต์แต่ละยี่ห้อที่นำมาทดสอบได้ ซึ่งจะมีฟังก์ชั่นพื้นฐานเช่น เดินไป หมุนตัว แต่ละยี่ห้อก็แตกต่างกัน อีกทั้งโดเมนต่างกัน ทีมเอไอเอสได้ทำให้เป็นแพลตฟอร์มเดียวกันในการใช้งาน และในที่สุดเอไอเอสพัฒนาหุ่นยนต์ผู้ช่วยคุณหมอ 5G “ROBOT FOR CARE” ขึ้นมาเองมีฟีเจอร์อัจฉริยะ เช่น

-เทคโนโลยีอินฟราเรด ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายได้อย่างแม่นยำ โดยส่งผลข้อมูลผ่านเครือข่าย 5G ไปให้แพทย์ที่ให้การรักษาได้อย่างทันที
-เทคโนโลยี 3D Mapping กำหนดแผนที่เส้นทางเดินของหุ่นยนต์ ให้เคลื่อนที่เข้าหาผู้ป่วยได้โดยอัตโนมัติ อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และยังสามารถบังคับหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้ตามต้องการผ่านเครือข่าย 5G
-Telemedicine ระบบปรึกษาทางไกลระหว่างแพทย์และผู้ป่วยผ่านวิดีโอคอล เพื่อให้แพทย์ที่อยู่ด้านนอกห้อง ใช้สมาร์ทดีไวซ์ เชื่อมต่อมาที่ตัวหุ่นยนต์ เพื่อพูดคุยและดูอาการคนไข้ภายในห้องพักได้ ช่วยหลีกเลี่ยงการเข้ามาสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรงได้
-เทคโนโลยี Cloud computing ในการประมวลผลจัดเก็บข้อมูลการรักษาพยาบาลผู้ป่วย

การทำงานจริงของหุ่นยนต์ จะอยู่บนเครือข่าย 5G เพื่อใช้ในการประมวลผลในหลายส่วน ไม่ว่าค่าอุณหภูมิและ Face Signature ของผู้ถูกตรวจจะถูกถ่ายและส่งผ่าน 5G ไปเก็บที่ AIS DATA CENTER, สามารถ Video Call จากศูนย์ควบคุมมาที่หุ่นยนต์เพื่อให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ แก่ผู้ปฏิบัติการ, สามารถอัพเดทความสามารถใหม่ ๆ ให้กับหุ่นยนต์จากศูนย์ควบคุมได้โดยอัตโนมัติ

เมื่อทีมแพทย์ ได้ทำงานร่วมกับ ROBOT FOR CARE

วสิษฐ์ กล่าวต่อเนื่องว่า วันนี้ ROBOT FOR CARE ทยอยประจำการบางโรงพยาบาลแล้ว ซึ่งโรงพยาบาลทั้ง 22 แห่งที่จะมีหุ่นยนต์เข้าไปช่วยทำหน้าที่นั้น เป็นโรงพยาบาลที่ประกาศตัวว่าเป็นโรงพยาบาลรับตรวจ และรักษาผู้ป่วย COVID-19

นายแพทย์สุกรม ชีเจริญ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวถึง ROBOT FOR CARE

 

“สามารถช่วยลดการติดต่อระหว่างคนไข้ติดเชื้อ กับบุคลากรทางการแพทย์ ได้ใน 3 ประเด็นหลัก ๆ ทั้งในด้านการลดภาระในการใช้อุปกรณ์เครื่องป้องกันที่โรงพยาบาลประสบปัญหาขาดแคลนอย่างหน้ากากอนามัย และชุด PPE ซึ่งหุ่นยนต์สามารถเข้าไปตรวจวัดเบื้องต้นแทนได้ การลดความเสี่ยงและช่วยสนับสนุนมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ลดการติดต่อใกล้ชิดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และยังสามารถช่วยส่งยาให้กับผู้ป่วยถึงเตียงได้อย่างแม่นยำเพียงแค่ตั้งค่าพิกัด หรือบังคับทางไกล ซึ่งคนไข้ยังสามารถติดต่อสอบถามเมื่อมีข้อสงสัยในการทานยาผ่านกล้องหุ่นยนต์ได้ทันที”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงการติดตามและเฝ้าดูอาการผู้ป่วย COVID-19 อย่างต่อเนื่องมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันอาการทรุดลงและทำการรักษาตามอาการได้อย่างทันท่วงที

“สิ่งที่ทีมแพทย์และพยายาลทำสม่ำเสมอคือการตรวจวัดอุณหภูมิเป็นระยะ ๆ ดังนั้น ROBOT FOR CARE ถือว่าสามารถช่วยการทำงานได้อย่างตรงจุด โดยทางโรงพยาบาลได้นำมาใช้งานในการเฝ้าดูอาการผู้ป่วย COVID-19 ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิและระดับออกซิเจนในเลือด ซึ่งมีความแม่นยำและช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ”

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวถึงจุดคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสำหรับโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษามีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญว่า โรงพยาบาลจะรองรับผู้ป่วยในระหว่างที่เข้ามารับการตรวจ ไม่ให้เกิดการติดต่อแพร่เชื้อเพิ่มสู่บุคลากรทางการแพทย์ หรือระหว่างแพทย์สู่ผู้ป่วย และผู้ป่วยสู่ผู้ป่วยด้วยกันเอง

“การใช้หุ่นยนต์ 5G Telemedicine จะช่วยคัดกรองและเพิ่มระยะห่าง เท่ากับเป็นการลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ซึ่งไม่ใช่แค่การใช้ช่วงวิกฤตการณ์ครั้งนี้เท่านั้น แต่ในอนาคตการให้บริการผู้ป่วยด้วย Telemedicine ถือว่ามีประโยชน์และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพให้กับประชาชน ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล การมีสัญญาณเครือข่ายที่ดี ส่งข้อมูลได้เร็ว ให้ภาพที่คมชัด จะช่วยให้การรักษามีความแม่นยำ เสริมศักยภาพให้การทำงานของแพทย์และหน่วยงานสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น”

วสิษฐ์กล่าวเสริมว่า ROBOT FOR CARE ได้ถูกขยายไปใช้งานยังโรงพยาบาลสนามแล้ว โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้งบประมาณการทำ R&D 100 ล้านบาทของทีม AIS ROBOTIC LAB ที่ทำงานคู่ขนานในการเตรียมพัฒนาขยายขีดความสามารถของหุ่นยนต์ให้รองรับบริการทางการแพทย์ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น สั่งหุ่นยนต์ให้ทำงานผ่านทางเสียง, การทำความสะอาดด้วยตัวเอง ผ่าน Ozone และ UV, มีความสามารถจดจำเส้นทาง และจดจำใบหน้าได้ หุ่นยนต์จะสามารถทำภารกิจอื่น ๆ ได้ เช่น การตรวจเยี่ยม, นำทางผู้ป่วยไปรักษาในแผนกต่าง ๆ อีกด้วย

โลกของ IoT และ 5G ที่จะมีการติดต่อกันเองของอุปกรณ์ต่าง ๆ ข้อมูลจากหุ่นยนต์ และเครื่องมือตรวจวัดที่โรงพยาบาลหรือ Wearable จะนำมาประมวลผลร่วมกัน เช่น เมื่อเกิดความผิดปกติใดๆ ที่ตรวจจับได้จากเครื่องมือวัด หุ่นยนต์ก็สามารถจะมาเยี่ยมถึงเตียงได้โดยทันที เป็นต้น

การนำหุ่นยนต์ 5G ออกมาช่วยบุคลากรทางการแพทย์ทำงานจริงที่หน้างานของการตรวจ และรักษาผู้ป่วย COVID-19 นั้น ไม่ต่างอะไรกับการร่วมสร้าง New Normal ให้วงการแพทย์ ภายใต้โครงข่ายดิจิทัลพื้นฐาน 5G ซึ่งได้เห็นประโยชน์อย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรมที่สุด ที่นำ 5G เข้ามาช่วยดูแลรักษาชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น และผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน

 

You Might Also Like