NEXT GEN

การพัฒนาอย่างยั่งยืน สะท้อนความรับผิดชอบต่อ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

9 สิงหาคม 2563…ในหัวข้อข้างต้น การรับรองจากผู้ประเมินภายนอกองค์กร (3rd Party) หรือผ่านเกณฑ์การประเมินของดัชนีที่มีความน่าเชื่อถือ หรือได้รับการคัดเลือกว่าเป็นบริษัทที่ผ่านเกณฑ์การประเมินในดัชนีชั้นนำ จะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ และน่าสนใจของบริษัท ทั้งต่อนักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสีย

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC นับเป็น 1 ในองค์กรที่ถูกประเมินจาก 3rd Party ในปีนี้ GC ได้ตอกย้ำการเป็นผู้นำในด้านการดำเนินงานที่ดี ด้วยการผ่านเกณฑ์การประเมินของ FTSE และได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิก FTSE4Good Index Series ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 โดยฟุซซี่ รัสเซล (FTSE Russell)

การได้รับคัดเลือกดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบขององค์กรที่ดำเนินธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงมีหลักธรรมาภิบาลเพื่อการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social and Governance: ESG Performance) ซึ่งทั้ง 3 ด้าน สามารถอธิบายเป็นรายละเอียดได้ ดังนี้

ด้านสิ่งแวดล้อม

GC มีนโยบายและระบบบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการทั้งด้านพลังงาน อากาศ น้ำ และของเสีย มีความตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า โดยเป็นองค์กรแรกๆ ของประเทศที่ได้ริเริ่มนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้

ตัวอย่างความสำเร็จให้เป็นที่ยอมรับคือ โครงการ Upcycling The Oceans, Thailand (UTO) ที่เป็นการร่วมมือกันของ 3 พันธมิตร ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มูลนิธิอีโคอัลฟ์ จากประเทศสเปน และ GC ในการลดปัญหาจากขยะพลาสติกในทะเล เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลไทย ด้วยการนำขยะที่เก็บขึ้นมาจากทะเล นำมาแปรรูปเป็นสินค้าแฟชั่น ได้แก่ เสื้อผ้า และกระเป๋าเป้ เป็นต้น ผ่านกระบวนการอัพไซคลิง (Upcycling) โดย GC ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ช่วยสร้างจิตสำนึกของประชาชน ให้ตระหนักถึงปัญหาขยะในทะเล เป็นการช่วยอนุรักษ์ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และรักษาระบบนิเวศทางทะเล นอกจากนี้ ผลลัพธ์ที่ได้ยังส่งผลให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้งสัตว์น้ำในทะเล มีสุขภาวะที่ดีขึ้น

ด้านสังคม

GC ยึดมั่นและบูรณาการหลักสิทธิมนุษยชนในทุก ๆ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ตลอดจนควบคุม ดูแล และป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งหลักการและการดำเนินงานทั้งหมดนี้ ครอบคลุมกลุ่มพนักงาน คู่ธุรกิจ คู่ค้าทางธุรกิจ ผู้รับเหมา ลูกค้า ชุมชนและสังคม

ตัวอย่างคือ โครงการ OUR Khung Bangkachao ซึ่งได้ปรับแนวทางการดำเนินงานของโครงการ UTO ในการพัฒนาสินค้าอัพไซคลิง โดยโครงการ OUR Khung Bangkachao นี้ ได้สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชาวบ้านและชุมชน ผ่านการตัดเย็บ จีวรรีไซเคิล ซึ่งเป็นผลผลิตจากความร่วมมือของชุมชน วัด และพันธมิตรทางธุรกิจของ GC ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างอาชีพแล้ว ชาวบ้านและชุมชนยังมีความรู้ความเข้าใจต่อการใช้ทรัพยากร ผ่านการคัดแยกขยะอย่างถูกต้องอีกด้วย

 

ด้านธรรมาภิบาล

GC มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นธรรมตามหลักการและนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี หลักจรรยาบรรณธุรกิจ และนโยบายการกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของบริษัทฯ พร้อมทั้งมุ่งสร้างคุณค่าและความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกันขององค์กร สังคม และประเทศชาติ โดย GC ถือว่าการกำกับดูแลกิจการที่ดีนี้เป็นเสมือนเกราะคุ้มภัยให้กับทั้งองค์กร พนักงาน ผู้มีส่วนได้เสียตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า เพราะความเชื่อที่ว่า การเติบโตไปพร้อมกันจะเป็นการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืน

จากที่ได้กล่าวไปข้างต้น นับได้ว่า GC เป็นตัวอย่างหนึ่งขององค์กรที่แสดงให้เห็นว่า ความสำเร็จจากการพัฒนาอย่างยั่งยืนสะท้อนให้เห็นได้จากความมุ่งมั่นตั้งใจในการรับผิดชอบการดำเนินงานในทุก ๆด้าน อีกนัยหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จใดๆ ก็ตาม ต้องตั้งต้นมาจากความเชื่อ ความเข้าใจ และการมีเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นสำคัญ ซึ่งเมื่อใดที่เป้าหมายนั้นผลิดอกออกผลแล้ว ผลลัพธ์ย่อมสวยงามเสมอ

You Might Also Like