NEXT GEN

สยามดิสฯ ขยายพื้นที่ Ecotopia อีกเท่าตัว รับไลฟ์สไตล์คนรักษ์โลกมากขึ้น

13 สิงหาคม 2563…จาก 500 ตรม.ที่ชั้น 4 มีเพียง 100 แบรนด์ที่วางขายเมื่อ 3 ปีที่แล้ว จากนี้เปิดพื้นที่ 1,000 กว่าตรม.ชั้น 3 ระดม 300 แบรนด์ใน 8 โซน พร้อมค้นพบ 12 Eco Co-Creators คนรุ่นใหม่ที่เป็น Influencer ที่จะช่วยขยายวิถีคนรักษ์โลกให้มากยิ่งขึ้นไป

อมร มงคลแก้วสกุล ที่ปรึกษาบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และปวีณา คชเสนี ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสินค้า บริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ร่วมกันกล่าวถึงการเปิดพื้นที่ใหม่ของ Ecotopia ที่มีสินค้าและผลิตภัณฑ์ถูกคัดสรรมาอย่างพิถีพิถันก่อนนำมาวางจำหน่าย มากกว่า 300 แบรนด์ และกว่าแสนชิ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพและรักษาสุขอนามัย ผลิตโดยไม่ใช้สารเคมี สะอาด ปลอดภัย และผ่านกระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสินค้าที่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้ มีทั้งหมด 8 โซนไฮไลท์สำคัญ ได้แก่

1.โซน Hygienic รวบรวมสินค้า household ที่ใช้ในชีวิตประจำวันและสินค้าทำความสะอาดที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ด้วยตัวเอง
2.โซน Zero Waste สามารถนำบรรจุภัณฑ์มา Refill เพื่อช่วยลดขยะให้กับโลกได้
3.โซน Green แหล่งรวมต้นไม้ฟอกอากาศ และอุปกรณ์ทำสวนที่ใหญ่ที่สุดใจกลางเมือง
4.โซน Healthy โซนอาหารเพื่อสุขภาพที่คัดเลือกวัตถุดิบออร์แกนิคจากธรรมชาติ
5. โซน Beautiful แหล่งรวม Organic skincare และ Personal care ที่หลากหลาย ทำมาจากสารสกัดจากธรรมชาติ
6.โซน Up-cycled ผลิตภัณฑ์ที่ถูกนำมารีไซเคิลใหม่ รวมถึงผลิตภัณฑ์ UPCYCLING By GC อาทิ กระเป๋า Sai Sai จากความร่วมมือร่วมกับแบรนด์ Marshall กลายเป็นกระเป๋าถือรูปทรงแปลกตา ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากใบตองห่อขนมใส่ไส้ และเสื้อโปโลลายพรางที่ GC ออกแบบและผลิตมาจากผ้ารีไซเคิล โพลีเอสเตอร์ (Recycled Polyester) 100% โดยผลิตจากขวดน้ำดื่มใช้แล้วเฉลี่ย 8 ใบต่อเสื้อหนึ่งตัว เป็นต้น และ กระเป๋ายางพารา, กระเป๋าจากถุงปูน, ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลจากฝาขวดพลาสติกโดย PRECIOUS PLASTIC
7.โซน Stylish รวมแฟชั่นที่ทำมาจากฝ้ายออร์แกนิค, เศษผ้า และมุม clothes swap ที่สามารถนำเสื้อผ้ามาแลกเปลี่ยนเสื้อผ้าดีไซน์ใหม่ได้
8.โซน Kind โซนที่รวมงานฝีมือและภูมิปัญญาชาวบ้านที่สร้างสรรค์จากวัตถุดิบธรรมชาติเพื่อสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนและชาวบ้าน ซึ่งแต่ละโซนล้วนถูกออกแบบมาให้ทุกคนได้มาร่วมสร้างโลกด้วยกันอย่างเป็นมิตร

8 โซนไฮไลท์+1 คือ 12 สุดยอด Eco Co-Creators สายกรีนตัวจริง คนรุ่นใหม่

พร้อมกันนี้ Ecotopia รวมพลัง Co-creation ทุกภาคส่วน นำโดย 12 สุดยอด Eco Co-Creators สายกรีนตัวจริง ผนึกกำลังภาครัฐและเอกชน ร่วม Creating Shared Value ซึ่งล้วนเป็นต้นแบบของการดำเนินชีวิตตามแนวคิดรักษ์โลกจาก 12 Eco Co-Creators ได้แก่

-นภนิศ อิศรางกูร ณ อยุธยา สถาปนิกหัวใจสีเขียว,
-กมลนาถ องค์วรรณดี ผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution ประเทศไทย
-เปรม พฤกษ์ทยานนท์ เจ้าของธุรกิจรีไซเคิล และเจ้าของเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป
-ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ พสุธาราและ ali ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติอย่างแท้จริง
-ธนวัต มณีนาวา นักทำดะ (TAM:DA) ผู้กู้ชีพให้กับสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วให้มีคุณค่ามากกว่าเดิม
-ดร.ชมพูนุท วรากุลวิทย์ เจ้าของเพจ นักเคมีหัวใจสีเขียว ผู้ซึ่งหยิบหลักเคมีมาทำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ
-ชารีย์ บุญญวินิจ เจ้าของฟาร์มลุงรีย์ (Uncle Ree’s farm)
-อนัฆ นวราช เจ้าของแบรนด์ Patom
-ภูวสวัสดิ์ จักรพงษ์ ประธานโครงการ Precious Plastic Bangkok
-สมศักดิ์ บุญคำ เจ้าของธุรกิจท่องเที่ยว Local Alike
-ธนารักษ์ วรฤทธานนท์ เจ้าของแบรนด์ SACKITEM Upcycle Bag
-ร่มธรรม ขำนุรักษ์, วิลาวัณย์ ปานยัง, พีรพล เหมศิริรัตน์, ณภัทร ธรรมเชื้อ, สุธินันท์ สุทาธรรม, เศรษฐวุฒ พันธ์นรา ทีมก่อตั้งเพจ Environman

“3 ปีที่ผ่านมา Ecotopia เราเห็นการเติบโตของไลฟ์สไตล์คนที่หันมาใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สินค้ามีหลายแบรนด์มากขึ้น และที่สำคัญเราก้ได้เจอคนรุ่นใหม่ที่เป็น Eco Co-Creators ถึง 12 คน ซึ่งแต่ละคนก็จะสามารถกระจายเรื่องราวเหล่านี้ไปยังคนใหม่ ๆ ได้มากขึ้น ดังนั้นจาก 500 ตรม.ที่ชั้น 4 มีเพียง 100 แบรนด์ที่วางขายเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ก็มาถึงวันนี้เปิดพื้นที่ 1,000 กว่าตรม.ชั้น 3 ระดม 300 แบรนด์ มาให้ผู้สนใจได้เลือกซื้อ ซึ่งสยามดิสฯ น่าจะเป็นห้างแห่งแรกที่ให้พื้นที่สำหรับสินค้ารักษ์โลกในพื้นที่ที่กว้างขวางมากทีเดียว”

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ Ecotopia ขยายความต่อเนื่องถึงการเลือกสินค้า เลือกแบรนด์เข้ามาขายใน Ecotopia จะอยู่ภายใต้กรอบ บัญญัติ 10 ประการที่บ่งบอกถึงผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (10 Criteria to define sustainable and environment-friendly products)

1) Durable Products with longer lifetime to reduce carbon footprint: ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถยืดระยะเวลาการใช้งาน หรือ ​ปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนที่เสียหายของผลิตภัณฑ์ได้ เพื่อยืดอายุการใช้งานและ เพื่อลดร่องรอยคาร์บอน (carbon footprint)

2) Resource reduction by using recycled/ renewable resources: ลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่ โดยการผลิตจากวัสดุที่ใช้แล้ว ทั้งวัสดุที่ผ่านการ Recycled หรือ Up-cycled (การนำวัสดุที่ผ่านการใช้งานแล้วมาทำให้มีคุณภาพและมูลค่าเพิ่มขึ้น)

3) Produced with materials which are easily disposed or recyclable​​​: ใช้วัสดุที่สะดวกในการกำจัดและรีไซเคิล

4) Produced with organic materials or non-toxic materials: ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ (Organic) เช่น เส้นใยที่มาจากการปลูกโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง และไม่ใช้สารพิษใดๆ รวมทั้ง ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ในการผลิตและใช้งาน

5) Produced with Locally-sourced materials to reduce environmental burden ​​that caused from import logistic system : เน้นการผลิตที่ใช้วัสดุจากท้องถิ่นและวัสดุที่หาได้จากแหล่งปลูกหรือแหล่งผลิตภายในประเทศเพื่อช่วยลดภาระทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการขนส่งเพื่อนำเข้ารวมถึงลดการขนส่งที่ไม่คุ้มค่าต่อการใช้งาน

6) Zero waste Production: การออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถผลิตได้โดยไม่เหลือเศษหรือสร้างเศษน้อยมากใน​​​​​​การผลิตรวมทั้งสามารถนำผลิตภัณฑ์ทั้งหมดกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยไม่เหลือเศษขยะที่จะถูกส่ง​​ไปยังหลุมฝังกลบหรือเตาเผาขยะ

7) Produced with energy efficiency or by using green energy : ผลิตโดยใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือใช้พลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่ง​​​แวดล้อม

8) Ethically Produced, taking social responsibilities into account : การผลิตอย่างมีจริยธรรม (Ethically Produced) ผลิตอย่างเคารพต่อความเป็นมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เช่น การจ่ายค่าแรงอย่างเป็นธรรม การจัดสวัสดิการและสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม การผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมและมีระบบจัดการกับของเสียจากกระบวนการผลิต เป็นต้น

9) Use Green Marketing : ทำกิจกรรมการตลาดที่ส่งเสริมแนวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, แนวคิดการอุปโภคบริโภคที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้บริโภค เพื่อสร้างความตระหนักและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ผ่านการเลือกซื้อเลือกใช้อุปกรณ์ทางการตลาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น แคมเปญรณรงค์ต่างๆ ที่ไม่สร้างขยะหรือเพื่อสนับสนุนสินค้า Eco-products ลดการใช้หลอดพลาสติกและแก้วพลาสติก จัดงานแฟร์ที่รวบรวม Eco products, กิจกรรมเวิร์คช็อปสอนคนให้ดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

10) Eco-friendly packaging : ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตจากธรรมชาติ สามารถนำกลับเข้าสู่วงจรได้ใหม่ นำกลับมาใช้ได้ใหม่ (Reuse) มีแนวโน้มที่จะย่อยสลายได้ไม่เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมตลอดจนสุขภาพของมนุษย์และสัตว์

“10 ข้อข้างต้น จะเป็นกรอบความคิดที่ได้วางไว้ให้ฝ่ายจัดซื้อพิจารณาด้านเหล่านี้ เพราะในโลกนี้ ไม่มีสินค้าที่สามารถมีครบ 10 ข้อ บางอย่างมันมีความขัดแย้งกันเอง เช่น การใช้ Organic Fibers ซึ่งดีต่อการย่อยสลาย แต่ไม่คงทนเท่าโลหะ ซึ่งคงทนถาวร ดังนั้น แต่ละผลิตภัณฑ์ต้องส่งข้อมูล และการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมพร้อมการใช้งาน ให้คณะทำงานพิจารณาก่อนคัดสรรเข้ามาใน Ecotopia”  รศ.ดร.สิงห์ อธิบายเพิ่มเติม

จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยการรวมพลังของคนรุ่นใหม่ เซเลบริตี้รักษ์โลกมากมาย

Ecotopia เป็นคอมมูนิตี้สำหรับผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างสรรค์ (Co-Create) และลงมือปฏิบัติตามแนววิถีชีวิตใหม่ โดยจัดกิจกรรมเวิร์คช้อปสไตล์อีโค่ที่หลากหลาย อาทิ การเนรมิตขยะเหลือใช้ให้กลายเป็นศิลปะที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์, การสอนทำเครื่องดื่มจากวัตถุดิบธรรมชาติ, การเรียนรู้สีธรรมชาติจากวัสดุท้องถิ่น, การทำปุ๋ยจากเศษอาหาร และประสบการณ์การปลูกต้นไม้ด้วยวิถีอินทรีย์ เป็นต้น

 

You Might Also Like