CIRCULAR ECONOMY

Upcycling the Oceans, Thailand สอดคล้องมาตรฐานสากลเศรษฐกิจหมุนเวียน BS 8001: 2017 เป็นโครงการนำร่องแรกของไทย และในภูมิภาคอาเซียน

31 กรกฎาคม 2563…การที่โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand (UTO) ของ GC ได้พัฒนา “มาตรฐานโครงการแปรรูปขยะพลาสติกเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ที่สอดคล้องกับมาตรฐานระดับโลก BS8001:2017” เป็นรายแรกในภูมิภาคอาเซียน เป็นต้นแบบโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น ในกระบวนการบริหารจัดการ รวมถึงผลิตภัณฑ์ Circular อันจะเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศต่อไป เพราะพื้นฐานการดำเนินโครงการอยู่ภายใต้องค์ประกอบ Smart Operating, Responsible Caring และ Loop Connecting ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการดำเนินธุรกิจของ GC ที่ตอบโจทย์ “ผู้นำความยั่งยืนในธุรกิจเคมีภัณฑ์”

ดร. คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวถึง โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand หรือ UTO ของ GC เป็นโครงการแรกของประเทศไทย ที่ได้รับการประเมินว่ามีการดำเนินโครงการสอดคล้องตามมาตรฐาน BS 8001:2017 ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โครงการ UTO ได้สร้างเครือข่ายองค์กรและผู้ที่สนใจในเรื่อง Circular Economy เป็นจำนวนมาก ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นพื้นฐานการทำงาน และสิ่งที่ GC ทำมาโดยตลอด

Upcycling the Oceans เป็นโครงการที่ประสบผลสำเร็จในประเทศสเปน ด้วยการสร้างจิตสำนึกให้กลุ่มประมงเรือเล็กและประชาชนทั่วไปให้ตระหนักถึงปัญหาขยะในทะเลและร่วมกันเก็บขยะดังกล่าว เพื่อนำมา Upcycle สร้างมูลค่าเพิ่มเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นภายใต้แบรนด์ Ecoalf จากความสำเร็จดังกล่าวนำมาสู่การริเริ่มโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand โดยความร่วมมือของ 3 องค์กร ได้แก่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และมูลนิธิ Ecoalf โดยมีเป้าหมายเพื่อบริหารจัดการขยะในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและชายหาด อนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล และใช้ประโยชน์จากพลาสติกอย่างคุ้มค่า โดยการเก็บขยะพลาสติกในทะเล และใช้นวัตกรรมและการออกแบบเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการแปรรูปวัตถุดิบ ให้สามารถพัฒนาและออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นที่มีคุณภาพได้

ดร. ดงกระพัน อินทรแจ้ง สวมเสื้อสูทที่เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ Upcycling จากโครงการ UTO
สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะขวดพลาสติก

“ความสำเร็จของ UTO มาจากการสร้างแนวร่วม คนที่มาร่วมกับเรา พวกผู้นำทางความคิด ภาคเอกชน ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นักศึกษาที่มาร่วมกันทำ ทำให้เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ก็เอาไปขยายผลต่อ ตอนที่เริ่มทำโครงการเราไม่รู้ว่ามีมาตรฐานนี้ ไม่ได้มาดูมาตรฐานนี้เป็นเกณฑ์ แต่เราทำด้วยนโยบายที่จะต้องยกระดับความยั่งยืน ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy และเราก็มีความเชื่อว่า ความสำเร็จของเราคือการสร้างแนวร่วม แต่เมื่อทำแล้วเป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าวนับว่าเป็นสิ่งที่ดี ทำให้ GC เข้าใจแล้วว่า บางครั้ง บางโครงการใหม่ ๆ ทำแล้วอาจจะยังไม่ครบองค์ประกอบ ดังนั้นการดำเนินโครงการในอนาคต เราจะมุ่งมั่นทำให้ครอบคลุมทุกองค์ประกอบมากขึ้น”

Step Up นโยบายเติบโตอย่างยั่งยืน

“Step Up คือการยกระดับความยั่งยืน GC เห็นความสำคัญของการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน เพราะทำให้เกิดความสมดุล ระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงกำหนดให้เรื่องความยั่งยืนเป็นกลยุทธ์และตัวชี้วัดขององค์กร ภาคธุรกิจบางองค์กร หรือบางประเทศที่เราเห็นอยู่ เน้นเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ได้สร้างสมดุลในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม จะทำให้ภาพรวมไม่เกิดความยั่งยืน ยิ่งหลังโควิด-19 ยิ่งทำให้เห็นความสำคัญเรื่องความยั่งยืน”

ดร.คงกระพัน กล่าวต่อว่า เมื่อ GC ตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนแล้ว Circular Economy จะเป็นกลไกลหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวคิด วิธีการ และเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยให้บริษัทสามารถสร้างความยั่งยืนได้สำเร็จ ดังนั้น เราจึงนำหลักการ Circular Economy เข้ามาปรับใช้ในการดำเนินงาน รวมทั้งใช้ในชีวิตประจำวันด้วยวิถี GC Circular Living เพื่อสร้างความยั่งยืนสูงสุด และต่อยอดบูรณาการให้เกิดความยั่งยืน ในทุกธุรกิจและตลอดกระบวนการของทั้งบริษัท ยกระดับยุทธศาสตร์องค์กรด้านความยั่งยืน ผ่าน GC Circular Living ด้วยกลยุทธ์ 3 เรื่องสำคัญ

1.Smart Operating

มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ เกิดของเสียในกระบวนการน้อยที่สุด ลดการใช้พลังงาน และยืดอายุผลิตภัณฑ์ตามแนวทาง Circular Economy โดยมีหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ทั้งห่วงโซ่อุปทาน หรือ Life Cycle Assessment ตั้งการการใช้วัตถุดิบ กระบวนการผลิตจนได้ผลิตภัณฑ์ออกมา รวมทั้งการจัดการหลังการใช้ของลูกค้า อาทิ การ Recycle ขยะพลาสติกจะช่วยลดภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas: GHG) จากการเผาทำลาย หรือ ฝังกลบ เป็นบทพิสูจน์ว่า Circular Economy สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ควบคู่กับ การลดต้นทุน พร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อม

2.Responsible Caring

สร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นเลิศ โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานในเรื่องนี้จะต้องบูรณาการตั้งแต่การออกแบบ การผลิต การใช้ และการจัดการหลังการใช้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของ GC เป็นผลิตภัณฑ์ตัวอย่างความสำเร็จของ Circular Economy ที่ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ได้ยาวนานยิ่งขึ้น ใช้ซ้ำได้ นำกลับมาสร้างประโยชน์ใหม่ได้ หรือเมื่อจำเป็นต้องทิ้งก็สามารถย่อยสลายได้ เช่น ไบโอพลาสติก สำหรับเรื่องนี้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีมาตรฐานรองรับ โดยทุกผลิตภัณฑ์ของ GC ได้รับการรับรอง Carbon Footprint ทุกผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่า GC สร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นเลิศให้กับประเทศ

3.Loop Connecting

การเชื่อมโยงทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ผ่านการสร้างความร่วมมือ นับเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะเรื่องนี้ไม่สามารถทำคนเดียว ต้องมีแนวร่วม โดยเริ่มจากแนวร่วมเล็ก ๆ และขยายออกสู่วงกว้าง ระดับประเทศ ระดับโลก ก็สามารถมาร่วมมือช่วยกันทำ

“ตอนเริ่มต้นทำ UTO เราก็ทำตามระบบของเราผ่านกลยุทธ์ 3 เรื่องดังกล่าว ซึ่งเรามาทราบภายหลังว่า มีมาตรฐาน BS 8001:2017 ซึ่งขณะนี้ถือว่าค่อนข้างใหม่ โดยเป็น British Standard แต่ใช้ทั่วโลกในเรื่อง Circular Economy พอเรารู้ว่ามีมาตรฐานนี้ เราก็ยังคงเดินหน้าโครงการ UTO อย่างต่อเนื่องตามระบบของเรา”

UTO เริ่มต้นเก็บขยะพลาสติกในทะเลระยอง

UTO ขยายผลด้วย Loop Connecting

โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว กล่าวได้ว่าเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย จึงมีความท้าทายสำคัญสำหรับ GC

“ความท้าทายมาจากการหาคนที่มีแนวคิดเหมือนกันมาร่วมกันทำ ความท้าทายอีกเรื่องเป็นเรื่องเทคนิคต่าง ๆ ขณะนั้นคนไม่ได้ตระหนักรู้เรื่อง Circular Economy มากนัก พลาสติกที่อยู่ในทะเลก็ไม่ได้มากขนาดนี้ ความยากตอนนั้นคือการขายไอเดีย Loop Connecting โดย GC เริ่มจากทะเลในระยอง เกาะเสม็ด บริษัทต่างๆ ซึ่งจะต้องทำให้ทุกคนเข้าใจว่า เรื่องนี้ทำไปเพื่ออะไร มีประโยชน์อะไร และบางคนเป็นส่วนเล็ก ๆ ในภาพใหญ่ต้องทำให้เขาเข้าใจว่า สิ่งที่เขาทำแม้ว่าจะเล็กก็จริง แต่มีประโยชน์ในภาพใหญ่อย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายในเวลานั้น”

ดร.คงกระพัน เล่าถึงความท้าทายด้านเทคนิค เพราะการนำพลาสติกมา Recycle หรือ Upcycle นั้นไม่ง่าย อีกทั้งการเก็บขยะบนบกก็ว่ายากแล้ว แต่ในทะเลนั้นยากกว่ามาก นอกจากนี้การนำขยะพลาสติกมา Recycle และ Upcycle ต้องผ่านกระบวนการมากมาย แต่ GC มีความมุ่งมั่นจนทำได้สำเร็จ เพื่อจะนำไปเป็นต้นแบบในการจัดการครั้งต่อ ๆ ไป

“ตอนนั้นเป็นความยากในการสร้างองค์ความรู้ทุกฝ่าย ทั้งชาวบ้าน และทุกส่วน ซึ่งเราจะต้องทำให้เขาเข้าใจ เพราะการเก็บขยะทำมานานแล้ว แต่ว่าเก็บแล้วเอาไปทำอะไร เมื่อเราเชื่อในความยั่งยืน เราต้องทำให้เขารู้เลยว่าปลายทางจะเกิดอะไรขึ้น จะกลายเป็นผลิตภัณฑ์อะไร คนที่อยู่ปลายทางก็จะรู้ว่า กว่าจะเก็บมาได้แบบนี้ยากแค่ไหน เพราะฉะนั้นจะต้องบริหารจัดการทุกขั้นตอนอย่างดีที่สุด และต้องมีความเข้าใจ คนที่มีความเชื่อเหมือนเราจะทำได้อย่างยั่งยืน สามารถไปขยายผลที่อื่นได้ในอนาคต ตอนนั้นเริ่มจากเกาะเสม็ด วันนี้เราขยายผลไปหลายแห่งในทะเลไทยแล้ว”

จากการเริ่มต้น UTO จนกระทั่งถึงปัจจุบัน คงจะเป็นการกล่าวไม่ผิดนัก หากจะบอกว่า UTO ทำให้มุมมองคนเปลี่ยนไป ว่า ของที่ใช้แล้ว สามารถ Upcycle สร้างมูลค่าเพิ่มกลับมาเป็นของใหม่ๆ ที่มีนวัตกรรม มีดีไซน์สะดุดตา มี Story ของผลิตภัณฑ์ที่ช่วยรักษ์โลก ทำให้คนยินดีจ่ายเพื่อซื้อหา เช่น เสื้อ กระเป๋าของ GC ที่มีขวดพลาสติกเป็นส่วนผสมด้วยจำนวนที่แตกต่างกันออกไป แตกต่างจากสินค้า Recycle ที่หลายคนไม่อยากใช้ เช่น กระดาษรีไซเคิล เพราะสีไม่สวย เนื้อกระดาษไม่ดี

เสื้อยืด และกระเป๋าเป้ที่มีส่วนผสมของขยะขวดพลาสติก

“UTO จากวันนั้นถึงวันนี้สถานะแตกต่างกันมาก ตอนเราเริ่มทำเราก็ต้องชวนคนเยอะ วันนี้ UTO เป็นโมเดลต้นแบบให้เราไปขยายผลในโครงการอื่น ๆ ซึ่งมีสเกลใหญ่กว่ามาก หากเราไม่ได้ทำ UTO ให้สำเร็จ ไม่ได้เรียนรู้การมีพาร์ทเนอร์มาเป็น Loop Connecting แล้ว โครงการอื่น ๆ ที่ตามมาภายใต้ GC Circular Living เราจะทำไม่สำเร็จแบบนี้ ดังนั้น UTO จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ”

ความสำเร็จจากโครงการ UTO ช่วยสร้างการตระหนักในเรื่องการเลือกใช้พลาสติก โดย GC เองก็มีโซลูชั่นให้กับคน 2 กลุ่มคือ

กลุ่มที่ 1 คนที่รักษ์โลกมาก ๆ ไม่อยากให้มีขยะตกค้างในธรรมชาติ GC มีผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก หรือ พลาสติกชีวภาพ ให้เป็นทางเลือก มี 2 ชนิดที่ใช้กันมากในโลก เรียกว่า พอลิแลกติกแอซิด (Polylactic-acid: PLA) และ พอลิบิวทิลีนซัคซิเนต (Polybutylene succinate: PBS) ทั้ง 2 อย่างทำมาจาก อ้อย ข้าวโพด ซึ่ง GC มีโรงงานหนึ่งอยู่ในสหรัฐอเมริกา ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก อีกโรงงานหนึ่งอยู่ที่ระยอง ทั้ง 2 โรงงานผลิตไบโอพลาสติก หากฝังกลบให้ถูกต้องจะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยได้

กลุ่มที่ 2 คนที่ใช้ขวดพลาสติกก็มีทางเลือก คือ ทิ้งให้ถูกที่และนำมา Recycle โดยจะได้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลกลับมาเป็นวัตถุดิบเพื่อนำไปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อไป สำหรับ GC เรากำลังสร้างโรงงาน Recycle ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเม็ดพลาสติกที่ได้จะเป็น Food Grade สามารถนำกลับมาทำบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารได้ เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และอีกประเภทคือนำมา Upcycling เปลี่ยนรูปแบบไปเลย โดยนำมาทำเป็นเส้นใย ผนวกกับงานดีไซน์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า ไม่ว่าจะเป็น จีวร เสื้อยืด เสื้อโปโล เสื้อเชิ้ต เสื้อสูท เนคไท กระเป๋า รองเท้า พรม เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน ฯลฯ

ปัจจุบัน UTO ยังเดินหน้าต่อเนื่อง เก็บขยะพลาสติกในทะเลนำมาผ่านกระบวนการ Recycle และทำเป็นผลิตภัณฑ์ Upcycling เพื่อช่วยสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยเรือนกระจก โดยทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขยายไปเรื่อย ๆ ให้ขอบเขตใหญ่ขึ้น มองไปถึงการจัดการในทะเลอื่น ๆ ด้วย โดยก็ยังต้องค่อย ๆ ทำไป เรียนรู้ข้อดีข้อเสียจาก UTO แล้วนำมาเป็นต้นแบบโครงการอื่น ๆ ที่อาจจะขยายเป็นการจัดการขยะในแม่น้ำในอนาคตอันใกล้ ซึ่งทุกโครงการของ GC ที่ดำเนินงานอย่างครบวงจร ครอบคลุมทุกมิติ ก็มีโอกาสที่จะได้มาตรฐานแบบนี้อีก ทำแล้วต้องสำเร็จ

ความท้าทายของ GC เมื่อมี BS 8001:2017

นับจากนี้ต่อไป หลังจาก โครงการ UTO ของ GC ได้รับมาตรฐาน BS 8001:2017 ดร.คงกระพัน กล่าวถึงความท้าทายสำคัญประกอบด้วย 2 เรื่อง

1.GC จะพยายามทำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ครบวงจรมากขึ้น เช่นเรื่องขยะพลาสติก จะทำให้ครบ Loop Connecting โดยจะต้องจัดการเรื่องการทิ้งก่อน จากนั้นต้องมีความสะดวกเรื่องการคัดแยกไปอยู่ที่ไหนบ้าง ต้องมีที่ให้ไป เพราะหากทิ้งเสร็จแล้วรถขยะมารับไปรวมกันหมดก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นต้องทำระหว่างทางที่เขาแยกมาอย่างดีแล้วไปต่อที่ปลายทาง

“เมื่อก่อนเราเหมือนเป็นคนบริหารทั้งโครงการ ถ้าเป็นชุมชนใหญ่ ๆ การทิ้งขยะตรงกลาง เราก็ต้องไปหาพาร์ทเนอร์ หรือไปร่วมทำอะไรก็ตามเพื่อให้แน่ใจว่า ขยะมีที่ไปต่อ เช่น โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน ก็ต้องมีพาร์ทเนอร์ โดยรายหนึ่งเก็บพลาสติกแข็ง และรายหนึ่งเก็บพลาสติกยืด”

2.เราจะขยาย Loop Connecting นำคนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น ของเดิมเราทำระดับชุมชน ทำกับวัด ขยายไปยังการทำงานกับหมู่บ้าน เมืองใหญ่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่อให้คนอื่น ๆ ไปทำต่อได้

โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน อีก 1 งานใหญ่ที่ GC เดินหน้าทำพร้อมกับพาร์ทเนอร์

“ต้องถือว่ามีความยากทั้ง Loop แต่ต้องอยู่ที่ Mindset และมีการทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละขั้นตอนมีความยากแตกต่างกัน เราต้องก้าวข้ามความยากนี้ โดยคนที่เกี่ยวข้องต้องทำด้วยความเข้าใจและรู้ว่าทำไปเพื่ออะไร สุดท้ายเมื่อตลาดต้องการมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ GC ต้องทำงานกับเจ้าของแบรนด์ต่าง ๆ หลากหลายประเภท ซึ่งเขาจะเข้าใจความต้องการในตลาดของเขา ผลิตภัณฑ์ที่ทำออกมาจึงตอบโจทย์ทั้งด้านการใช้งาน รูปลักษณ์ที่น่าสนใจ และช่วยโลกในเวลาเดียวกัน ทำให้สินค้ามีมูลค่า ขายได้ ”

พร้อมกันนี้ ดร.คงกระพัน ได้ฝากข้อคิดให้กับบริษัทขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่ต้องการจะนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มาเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ซึ่งช่วยลดต้นทุนธุรกิจ และยังช่วยสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

1.อย่าคิดโครงการโดยไม่มีความเชื่อ ซึ่งความเชื่อต้องเกิดจากความเข้าใจ ว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนคืออะไรบ้าง ทำอะไรบ้าง ทำแล้วดีอย่างไร ต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ดีก่อน จากนั้นจะนำไปสู่ความเชื่อว่าต้องทำ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นพื้นฐาน

2.เมื่อเชื่อแล้วต้องทำให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เช่น GC มี Circular Living เป็นทั้งธุรกิจและชีวิตประจำวัน เป็นการใช้ชีวิตของคน GC

3.ทำแล้วอย่าคิดใหญ่เกินไป ต้องประเมินตัวเราเองว่าทำได้เพียงใด อย่าไปคิดว่าเล็กแล้วไม่ดี สิ่งที่ GC ทำก็เริ่มที่เล็ก ๆ ทั้งนั้น โครงการ UTO ขยายใหญ่ได้เพราะเรียนรู้จากการทำเล็ก 1 กลายเป็น 10 และกลายเป็น 100 ซึ่งก็เหมือนเรื่อง Loop Connecting โดย UTO เองก็เริ่มจากพื้นที่เล็กๆ ที่ระยองเท่านั้น เพราะเป็นบ้านของ GC

“สำหรับคนทั่วไป สามารถนำหลักการ Circular Living ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ คล้าย ๆ กับ Smart Operating, Responsible Caring, Loop Connecting ถ้าเป็นโรงงานก็ต้องทิ้งของเสียให้น้อยที่สุด คนก็เหมือนกัน ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ประหยัดพลังงาน ใช้รถสาธารณะ ทิ้งให้น้อยที่สุด ถ้าจะทิ้งก็ทิ้งให้ถูกที่ สำหรับ Responsible Caring ถ้าเป็นโรงงานจะออกแบบสินค้าให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คนก็เหมือนกัน ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ที่ Recycle ได้ หรือใช้ไบโอพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสำหรับเรื่อง Loop Connecting ก็มีแนวร่วมเป็นคนในครอบครัว เพื่อน เช่น สั่งอาหารมา กินเสร็จก็แยกประเภทและทิ้งบรรจุภัณฑ์ให้ถูกที่ หรือไปชวนเพื่อนบ้านแยกขยะ และนำไปทิ้งที่เดียวกัน ณ จุด Drop Point ต่างๆ ใช้หลักการเดียวกันได้เลย”

ดร.คงกระพัน กล่าวต่อเนื่องในท้ายที่สุดว่า ในฐานะที่ GC เป็น Chemistry for Better Living ซึ่งบริษัทฯ ไม่ได้ทำพลาสติกอย่างเดียว แต่ทำเคมีภัณฑ์หลากหลายมาก เพื่อให้ความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น ทำให้โลกดีขึ้น การสร้างสมดุลของ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นไปโดยธรรมชาติ ซึ่งการได้รับการประเมินว่ามีการดำเนินโครงการ UTO ที่สอดคล้องตามมาตรฐาน BS 8001:2017 เป็นโครงการแรกของประเทศไทย จึงช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน คู่ค้า และ Stakeholder อื่นๆ เพราะฉะนั้นธุรกิจต่างๆ จึงต้องเริ่มมีความเข้าใจ สนใจ และมีความเชื่อในความยั่งยืน

…มาตรฐาน BS 8001:2017 มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนฉบับแรกของโลก (BS 8001:2017) มีหลักเกณฑ์ในการประเมิน
เกณฑ์การประเมินจะจัดอยู่ใน 6 หลักการประเมิน คือ
1. System Thinking
2. Innovation
3. Stewardship
4. Collaboration
5. Value Optimization
6. Transparency (Traceability, Quantifiable)

 

You Might Also Like