NEXT GEN

โปรตีนจากพืช กำลังมาแรงสุดๆ โอกาสเศรษฐกิจไทย +ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

13 พฤศจิกายน 2567…บริษัท Madre Brava ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญของโปรตีนจากพืชในประเทศไทย โดยระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสู่การบริโภคโปรตีนจากพืชไม่เพียงแต่ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและสังคมที่มีสุขภาพดีมากขึ้น โดยโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และเมล็ดพืชต่าง ๆ ใช้ทรัพยากรน้อยกว่าในการผลิตเมื่อเทียบกับโปรตีนจากสัตว์ โปรตีนจากพืชไม่เพียงเป็นอาหารทางเลือก แต่เป็นแนวทางที่เราต้องมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน

วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้อำนวยการ Madre Brava ประเทศไทย กล่าวว่า ในขณะนี้ ประเทศไทยยังคงพึ่งพาการนำเข้าสัตว์และวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในด้านราคาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“การเปลี่ยนไปใช้โปรตีนจากพืชอาจลดการพึ่งพาวัตถุดิบที่นำเข้า ลดการตัดไม้ทำลายป่า และบรรเทาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการศึกษานี้จำลองสถานการณ์สามแบบ ได้แก่ การดำเนินการตามปกติ การใช้โปรตีนจากพืชแทนโปรตีนจากสัตว์ร้อยละ 30 และร้อยละ 50 ภายในปี 2050 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่สามารถเกิดขึ้นในด้านสภาพภูมิอากาศ การใช้ที่ดิน และการสร้างงาน”

 

 

โปรตีนจากพืช
ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ

 

“จากการศึกษาโดย Madre Brava พบว่าการเพิ่มสัดส่วนการบริโภคโปรตีนจากพืชในประเทศไทยถึง 50% ภายในปี 2050 จะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาประเทศและการสร้างโอกาสในอุตสาหกรรมอาหารใหม่ ๆ โดยการลดการใช้ทรัพยากร เช่น พื้นที่และน้ำในการผลิตโปรตีนจากพืช ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 35.5 ล้านเมตริกตัน การบริโภคโปรตีนจากพืชช่วยลดการใช้พลังงานอย่างมหาศาล และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ”

 

 

ในหลายประเทศ การส่งเสริมโปรตีนจากพืชเริ่มเป็นที่แพร่หลาย เช่น ในเนเธอร์แลนด์ บริษัทผลิตโปรตีนจากพืชหลากหลายชนิดเพื่อใช้แทนเนื้อสัตว์ รวมถึงการใช้ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา และเมล็ดพืชต่าง ๆ ที่นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมโปรตีนที่ครบถ้วน ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลายกว่าเดิม นอกจากนี้ ในซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในเยอรมนี มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชในพื้นที่เฉพาะของร้าน เช่น เนื้อเทียมที่ผลิตจากถั่วลันเตา หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเมล็ดทานตะวันและข้าว ที่ช่วยส่งเสริมการบริโภคโปรตีนจากพืชในกลุ่มคนรักสุขภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

โอกาสสร้างงาน
พัฒนาสังคมผ่านโปรตีนจากพืช

“การส่งเสริมการผลิตโปรตีนจากพืชจะสร้างงานในภาคการผลิตได้กว่า 1.15 ล้านตำแหน่ง ซึ่งช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและช่วยพัฒนาสังคมไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การผลิตโปรตีนจากพืชยังช่วยลดความต้องการพื้นที่เกษตรสำหรับเลี้ยงสัตว์ถึง 21,700 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเทียบเท่ากับพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมา การขยายการผลิตโปรตีนจากพืชช่วยให้เราสร้างงาน เพิ่มรายได้ และยกระดับสังคมในทุกมิติ”  วิชญะภัทร์กล่าว

 

การปรับตัว
สู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน

 

 

การผลิตโปรตีนจากพืชถือเป็นทางเลือกที่ส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม โดยโปรตีนจากพืชช่วยลดการใช้น้ำ พื้นที่ และพลังงาน อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าโปรตีนจากสัตว์ เช่น วัว หมู ไก่ และสัตว์ทะเล โปรตีนจากพืชเป็นก้าวสำคัญในการสร้างระบบอาหารที่ปลอดภัยและยั่งยืน

ผู้อำนวยการ Madre Brava ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่ฐานะศูนย์กลางอาหารจากพืชแห่งทวีปเอเชีย จำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการส่งเสริมโปรตีนจากพืชแทนโปรตีนจากสัตว์ร้อยละ 50 ภายในปี 2050 โดยสามารถดำเนินการได้ดังนี้:

1.สร้างความเท่าเทียมในตลาด: รัฐบาลควรพิจารณานโยบายภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจในการจำหน่ายโปรตีนจากพืช และทำให้อาหารจากพืชเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพื่อสนับสนุนการเลือกอาหารที่มีสุขภาพดีและยั่งยืน

2.การจัดซื้อของภาครัฐ: ส่งเสริมการจัดเมนูอาหารที่เน้นพืชในกิจกรรมของหน่วยงานรัฐบาล และเพิ่มตัวเลือกเมนูอาหารจากพืชในโรงอาหารของรัฐ โรงเรียน และโรงพยาบาล

3.การเปลี่ยนผ่านด้านโปรตีนอย่างเป็นธรรม: พัฒนาแนวทางสนับสนุนทางการเงินและโครงการพัฒนาศักยภาพสำหรับเกษตรกรไทย เพื่อให้สามารถเปลี่ยนมาผลิตพืชผลสำหรับโปรตีนจากพืชได้

โดยการดำเนินการตามมาตรการเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของโปรตีนจากพืชในประเทศไทยและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาคอีกด้วย

 

 

“เราต้องสร้างความหลากหลายในอาหารการกินของเราตอนนี้ พอพูดถึงโปรตีน เราก็จะนึกถึงเนื้อสัตว์ เนื้อปลา แต่จริงๆ แล้ว โปรตีนมาจากหลายแหล่งได้ มาจากพืช มาจากสัตว์ รวมกันได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารก็แนะนำว่าให้หาแหล่งโปรตีนจากพืชมาเสริม และโปรตีนจากพืชควรจะเป็นแหล่งโปรตีนหลักในอาหารของเรา ความหลากหลายก็คือ มาจากพืช มาจากสัตว์ รวมกัน ไม่ใช่โปรตีนจากสัตว์อย่างเดียว” วิชญะภัทร์กล่าว

 

บทบาทของภาครัฐและเอกชน
ในการเพิ่มการเข้าถึงโปรตีนที่ยั่งยืน

นอกจากนั้น ภาคเอกชนสามารถมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเข้าถึงโปรตีนที่ยั่งยืนสำหรับผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารขนาดใหญ่ บริการจัดหาอาหาร และผู้ผลิตอาหาร โดยจากงานวิจัยมีข้อเสนอแนะสำหรับแต่ละกลุ่มมีดังนี้

1.ซูเปอร์มาร์เก็ต: ควรตั้งเป้าหมายเพื่อเพิ่มยอดขายโปรตีนที่ยั่งยืน โดยลดราคาผลิตภัณฑ์จากพืชให้เทียบเท่ากับโปรตีนจากสัตว์ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงอาหารสุขภาพ และจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากพืชในตำแหน่งที่เด่นชัด พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการเตรียมอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ

2.ผู้ผลิตอาหาร: ควรปรับใช้กลยุทธ์ความหลากหลายของแหล่งโปรตีนในแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและความยั่งยืน โดยลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกให้มีรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น พร้อมราคาเหมาะสม

3.บริษัทให้บริการอาหาร: ควรเพิ่มเมนูที่ทำจากพืชและแสดงให้เห็นควบคู่กับเมนูปกติ โดยควรตั้งราคาเมนูจากพืชให้เทียบเท่ากับเมนูปกติเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการเลือกซื้อ

 

ท้ายที่สุด ทีมวิจัย Madre Brava แจ้งว่า ประเทศไทยไม่มีตัวเลขสัดส่วนระหว่างโปรตีนพืช กับโปรตีนสัตว์ แต่มีตัวเลขปี 2020 คนไทยบริโภคเนื้อหมู วัว ไก่ รวมกันแล้วประมาณ 550 กรัมต่อสัปดาห์ ซึ่งสูงกว่าระดับที่ EAT-LANCET แนะนำ (EAT LANCET แนะนำว่า หมู วัว ไก่ รวมกัน ต่อสัปดาห์ไม่ควรเกิน 300 กรัม) และตามการคาดการณ์แล้ว ตัวเลขนี้จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2050 หากไม่มีมาตรการใดๆ ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วงทีเดียว เพราะการบริโภคเนื้อสัตว์มากเกินไป ก็ไม่ดีต่อสุขภาพ

การกินเนื้อสัตว์มากไป ขาดสมดุล ไม่มีพืชมาเป็นส่วนหนึ่งของมื้ออาหารด้วย พบกว่าการบริโภคเนื้อแดงมีส่วนเชื่อมโยงกับความเสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อ เช่นโรคหัวใจ หลอดเลือด มะเร็ง เบาหวาน

 

You Might Also Like