NEXT GEN

กสิกรไทย ธนาคารไทยแห่งแรก ประกาศ Net Zero Commitment จากการดำเนินงาน (ขอบเขตที่ 1 และ 2) ภายในปี 2573 และ Net Zero ในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร สอดคล้องกับเป้าหมายประเทศ ด้วย 4 แนวทาง เพื่อส่งมอบโลกที่สมดุลและยั่งยืน

30-31 ตุลาคม 2564…ธนาคารกสิกรไทยมุ่งมั่นที่จะเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืนชั้นนำของประเทศอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสนับสนุนความพยายามของประชาคมโลก ผลักดันประเทศไทยและลูกค้าของธนาคารที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจทั้งภูมิภาค เปลี่ยนผ่านเข้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อร่วมบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน 

นับเป็นก้าวสำคัญของธนาคารกสิกรไทย ที่จะช่วยสนับสนุนลูกค้าและประเทศก้าวสู่เศรษฐกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ 

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงธนาคารกสิกรไทยประกาศความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) ด้วยเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จากการดำเนินงานของธนาคาร (ขอบเขตที่ 1 และ 2)* ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) ว่า

“ธนาคารกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร สอดคล้องกับเป้าหมายประเทศ และบุกบริการทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเตรียมอัดฉีดเงินอย่างน้อย 1-2 แสนล้านบาท ปล่อยสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน สนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ มุ่งสนับสนุนความพยายามของประชาคมโลกในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 หรือ ค.ศ. 2050 เพื่อร่วมบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องตามความตกลงปารีส”

คณะกรรมการธนาคารกสิกรไทยมีมติในการประกาศความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) ได้แก่

1. ธนาคารกสิกรไทยมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเพื่อเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า และพร้อมสนับสนุนลูกค้าก้าวสู่เศรษฐกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ทั้งนี้ ความยั่งยืนได้ฝังแน่นในวิถีการดำเนินธุรกิจและการให้บริการลูกค้าของธนาคาร

2. ธนาคารมุ่งมั่นให้การสนับสนุนประเทศไทยและลูกค้าของธนาคารที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจทั้งภูมิภาค ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งจะสนับสนุนความพยายามของประชาคมโลกในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน พ.ศ. 2593 (ค.ศ.2050) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายความตกลงปารีส

3. ธนาคารมุ่งมั่นเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืนชั้นนำของประเทศไทย โดยสนับสนุนด้านการเงินและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ไม่น้อยกว่า 1-2 แสนล้านบาท ภายใน พ.ศ. 2573 (ค.ศ.2030) และจะเป็นผู้บุกเบิกการเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

4. ธนาคารกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จากการดำเนินงานของธนาคาร (ขอบเขตที่ 1 และ 2)* ภายใน พ.ศ. 2573 (ค.ศ.2030) รวมทั้งกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในพอร์ตโฟลิโอของธนาคารให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทย และจะเร่งดำเนินการในส่วนที่เป็นไปได้ให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งธนาคารจะประเมินโอกาสทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อดำเนินงานอย่างทันท่วงทีสอดคล้องกับเทคโนโลยี กฎระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งสภาพแวดล้อมภายนอกที่มีวิวัฒนาการตลอดเวลา

“ธนาคารเชื่อมั่นในการดำเนินงานบนหลักการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน ที่ให้ความสำคัญไม่ใช่เพียงมิติสิ่งแวดล้อม แต่รวมถึงมิติสังคม และธรรมาภิบาลมาอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารให้ความสำคัญในการสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงิน การให้ความรู้ทางการเงิน การเคารพสิทธิมนุษยชน การดูแลพนักงาน ชุมชน และสังคม ภายใต้การดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี รวมทั้งการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้าเป็นสำคัญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาวต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ด้วยเชื่อว่าความยั่งยืนไม่สามารถทำได้เพียงคนเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งธนาคารพร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปได้ และสามารถส่งมอบโลกที่สมดุลและยั่งยืนให้แก่คนรุ่นต่อไป”

ขัตติยากล่าวในท้ายที่สุดถึงความมุ่งมั่นและแนวทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใหม่ระดับโลกอย่างเป็นทางการ

หมายเหตุ

*คำจำกัดความเรื่องการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ขอบเขตที่ 1 ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรโดยตรง (Direct Emissions) ได้แก่ การเผาไหม้ของเครื่องจักร การใช้พาหนะขององค์กร (ที่องค์กรเป็นเจ้าของเอง) การใช้สารเคมีในการ บำบัดน้ำเสีย การรั่วซึม/รั่วไหล จากกระบวนการหรือกิจกรรม เป็นต้น

ขอบเขตที่ 2 ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) ได้แก่ การซื้อพลังงานมาใช้ในองค์กร ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน พลังงานไอน้ำ เป็นต้น

แหล่งอ้างอิงข้อมูล: http://thaicarbonlabel.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=YjNKbllXNXBlbUYwYVc5dVgybHo

 

You Might Also Like