NEXT GEN

“ไบโอพลาสติก” คำตอบสำคัญต่อการจัดการปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งผู้ใช้และผู้ผลิตต้องจับมือกันดูแลโลก

8 ตุลาคม 2564…เวลานี้ทั่วโลกกำลังจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยที่ผ่านมามีหลายประเทศออกกฎหมายยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Used Plastic) แน่นอนว่ากระแสนี้เริ่มจุดติดขึ้นในทวีปยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่วนในทวีปเอเชียนั้นต้องบอกว่าไต้หวัน และอินเดียเป็นประเทศแรก ๆ ที่มีนโยบายยกเลิกพลาสติกดังกล่าว

ล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ จีนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประกาศออกกฎหมายยกเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งใน 5 เมืองใหญ่ และจะทยอยบังคับใช้ทางกฎหมายทั่วประเทศในอีก 3 ปีข้างหน้าจนกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เพราะนี่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการหาทางออกสำหรับปัญหาขยะพลาสติกอันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างมลพิษทางน้ำ ดิน อากาศ และส่งผลต่อระบบนิเวศน์

สำหรับประเทศไทยมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่รัฐบาลวางเป้าหมายยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก 20 ปี (พ.ศ.2561-2573) รวมจำนวน 7 ชนิด เริ่มจากปี 2562 ยกเลิกการใช้พลาสติก 3 ประเภท คือ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำ, พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภท OXO ,  Microbead จากพลาสติก และปี 2565 จะยกเลิกการใช้พลาสติกอีก 4 ประเภท ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน, กล่องโฟมบรรจุอาหาร ไม่รวมถึงโฟมที่ใช้กันกระแทกในภาคอุตสาหกรรม , แก้วพลาสติกแบบบางใช้ครั้งเดียว ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน ,หลอดพลาสติก (ยกเว้นการใช้กรณีจำเป็น เช่น ใช้ในเด็ก คนชรา ผู้ป่วย เป็นต้น)

ในเมื่อมีการยกเลิกพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างนี้แล้ว จะมีอะไรมาทดแทนฟังก์ชั่นการใช้งานของพลาสติกได้บ้าง? คำตอบก็คือ “พลาสติกชีวภาพ” หรือ “ไบโอพลาสติก” นั่นเอง นอกจากจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ปลอดภัยจากสารเคมี ลดปัญหา Microplastic ตกค้างในธรรมชาติแล้ว ยังสร้างรายได้ทางการเกษตร เนื่องจากพลาสติกชีวภาพผลิตจากน้ำตาล และแป้งมันสำปะหลัง

ทั้งนี้ Bio Shopping Bag สามารถทดแทนพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน , Bio Straw ทดแทนหลอดพลาสติก ,BioPBS Paper Coating ใช้แทนกล่องโฟมบรรจุอาหาร และ BioPBS Cup แทนแก้วพลาสติกความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน

วิบูลย์ พึงประเสริฐ นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (Thai Bioplastics Industry Association :TBIA) กล่าวว่า ปัจจุบันไบโอพลาสติกมีการพัฒนานวัตกรรมมากมาย โดยแบ่งการสลายตัวทางชีวภาพออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การย่อยสลายทางชีวภาพในอุตสาหกรรม (Industrial Compostable) ในภาวะที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ (55-60°C) พร้อมกับมีความชื้นสัมพัทธ์สูง และมีออกซิเจน , การย่อยสลายทางชีวภาพในครัวเรือน (Home Compostable) ในภาวะที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าและมีความไม่แน่นอนมากกว่าภาวะในอุตสาหกรรม  และ Marine Compostable การย่อยสลายทางชีวภาพในน้ำทะเล ซึ่งการใช้ไบโอพลาสติกในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็น Industrial Compostable ส่วน Home Compostable ในปัจจุบันกำลังเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ในขณะที่ Marine Compostable เริ่มถูกนำมาใช้ในต่างประเทศแล้ว และคาดว่าจะเข้ามายังประเทศไทยในลำดับถัดไป

“เทคโนโลยีการผลิตไบโอพลาสติกในปัจจุบันได้รับการพัฒนาอย่างก้าวหน้า นในต่างประเทศเริ่มใช้หลอดที่ย่อยสลายในน้ำทะเลกันแล้ว รวมไปถึงกาแฟแคปซูล และถุงใส่ชาที่สามารถย่อยสลายได้กลายเป็นปุ๋ย นอกจากนี้ไบโอพลาสติกยังถูกนำมาใช้งานหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะทางการแพทย์ อย่างกระดูกเทียมที่สามารถย่อยสลายในร่างกายภายใน 1 – 2 ปี”

วรินทร อยู่วิมลชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบโอ-อีโค จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายพลาสติกชีวภาพ ครบวงจร กล่าวว่า แม้กระแสการตื่นตัวในการใช้พลาสติกชีวภาพจะลดลงตามเศรษฐกิจที่ซบเซาในช่วง Covid-19 แต่เมื่อสถานการณ์ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย ทำให้ดีมานด์เริ่มฟื้นตัวกลับมา นอกจากนี้ จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคพบว่า 87.5% ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกในปริมาณที่น้อยเมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่น ทำให้ทิศทางการใช้ไบโอพลาสติกมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

“ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารเครื่องดื่ม โรงแรม บริษัทอสังหาริมทรัพย์ และสถาบันการศึกษา หันมาใช้บรรจุภัณฑ์ไบโอพลาสติกเพิ่มมากขึ้น เพื่อปลูกฝังเยาวชนให้รักสิ่งแวดล้อม รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และอีกทางหนึ่งยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ เพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์ หรือแสดงจุดยืนของแบรนด์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย”

อย่างไรก็ตาม  ไบโอพลาสติกยังมีราคาเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ไม่สามารถเติบโตอย่างรวดเร็วได้ เพราะเมื่อเทียบกับพลาสติกทั่วไปแล้วมีราคาสูงกว่า 3-5 เท่า จึงเป็นประเด็นที่ภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุนผ่านมาตรการทางด้านภาษี สิทธิประโยชน์ หรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค หันมาใช้ไบโอพลาสติกมากขึ้น

วิบูลย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากภาครัฐมีมาตรการผลักดันบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จะส่งผลให้ร้านค้ารายย่อยมีโอกาสเข้าถึงการใช้ไบโอพลาสติกในราคาที่ถูกลง เมื่อนั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในวงกว้าง และเมื่อดีมานด์เกิดแล้ว ซัพพลายที่เป็นแหล่งต้นทางก็พร้อมตอบสนองทันที เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในฐานะเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก โดยมีกำลังการผลิตราว 1 แสนตัน/ปี รองจากสหรัฐอเมริกาที่มีกำลังผลิตไบโอพลาสติก 2-3 แสนตัน/ปี และมีโรงงานขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ทั้งถุง หลอด บรรจุภัณฑ์สำหรับใส่อาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากพลาสติกย่อยสลายหลายราย ซึ่งพร้อมผลิตเพื่อรองรับดีมานด์ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

“นอกจากภาครัฐจะมีส่วนในการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในปัญหาขยะพลาสติกแล้ว เจ้าของร้านค้า และผู้บริโภคก็เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ หากชั่งน้ำหนักระหว่างไบโอพลาสติกที่มีราคาแพงก็ยังน้อยกว่าความสูญเสียที่เกิดจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และถือเป็นความคุ้มค่าสำหรับรุ่นลูกรุ่นหลานของเราในอนาคต” วิบูลย์กล่าวในท้ายที่สุด

เริ่มต้นวันนี้ เพื่อคุณ เพื่อโลก…

You Might Also Like

No Comments

Leave a Reply