CIRCULAR ECONOMY

รวมพลังคนทุก GEN ร่วมหาแนวทางสร้างโลกยั่งยืนด้วย Circular Economy @ SD Symposium 2020 Circular Economy: Actions for Sustainable

19 พฤศจิกายน 2563…เอสซีจีเปิดเวที SD Symposium 2020 Circular Economy: Actions for Sustainable Future รวมพลังจากหลายมุมมองทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรระดับโลก ภาคการเกษตร ธุรกิจ SME และเยาวชนคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในแบบตัวเองสู่เป้าหมายความยั่งยืนของโลกร่วมกัน

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า สภาพสิ่งแวดล้อมที่มีความรุนแรงมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกที่ส่งผลต่อทรัพยากร รวมถึงในช่วงต้นปีที่โลกเจอปัญหา COVID-19 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบ New-Normal มีการใช้สิ่งของที่ก่อให้เกิดขยะมากขึ้น Circular Economy หรือหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม

“เอสซีจี ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมมองเห็นความจำเป็นในการชักชวนทุกคนให้มามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน การจัดงาน SD Symposium 2020 มีกลุ่มพันธมิตรที่เข้มแข็งและเติบโตอย่างรวดเร็ว จาก 45 รายในปีที่ผ่านมา เป็น 180 ราย โดยปีนี้ได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นทางออกแก้ปัญหาพื้นฐาน 4 ด้าน ได้แก่ การจัดการน้ำหมุนเวียน เศรษฐกิจหมุนเวียนด้านการเกษตร การบริหารจัดการขยะ และ เศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง”

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาตามโมเดลเศรษฐกิจ หรือ BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) คือการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งชีวภาพ การหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยมีแนวคิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรม ด้านการใช้งานและบริโภค ด้านการจัดการขยะหรือของเสีย และด้านการใช้วัตถุดิบรอบสอง

“เศรษฐกิจของประเทศไทยจากนี้ไป ทุกอย่างจะต้องหมุนเวียนอยู่กับคำว่าสิ่งแวดล้อม จะต้องคิดถึงความยั่งยืน ทำอย่างไรที่จะรักษาทรัพยากรที่เรามีอยู่จนถึงลูกหลาน ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ว่านโยบายจะดีเพียงใด หรือมีการออกกฎระเบียบที่เข้มงวด แต่ถ้าเราไม่ช่วยกัน สุดท้ายแล้วปัญหาก็จะกลับมาเกิดขึ้นอยู่ดี”

หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ได้ออกมาช่วยขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย สู่การร่วมมือที่ช่วยกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น

จากนี้ไปช่วงเวลาของงานเข้าสู่การรวมพลคนหาแนวทางสร้างโลกยั่งยืนด้วย Circular Economy @ SD Symposium 2020 Circular Economy: Actions for Sustainable

Mr.Jacob Duer ประธานกรรมการและผู้บริหาร Alliance to End Plastic Waste (AEPW) กล่าวว่า Alliance to End Plastic Waste หรือ พันธมิตรเพื่อยุติขยะพลาสติกที่มีสมาชิกมากกว่า 50 บริษัทเพื่อผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนในการแก้ปัญหาขยะระดับโลก โดยเครือข่ายจะทำงานร่วมกับไทยในโครงการ PPP Plastic เพื่อช่วยจัดการขยะพลาสติกด้วย

“ปัญหาขยะเป็นปัญหาระดับโลก ที่ต้องการการตอบสนองในระดับโลกเช่นเดียวกัน เป็นเหตุผลที่องค์กรจากหลาย ๆ ประเทศได้มารวมตัวกัน จนกลายเป็นพันธมิตรเพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกช่วยพลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้น และร่วมสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม”

AEPW ไม่ได้จะต้องการที่จะหยุดพลาสติกให้ออกไปสู่สิ่งแวดล้อม เแต่ต้องการจะแปลงขยะให้มีค่าอีกครั้ง
.
Mr. Robert Candelino CEO Unilever Group of Thai Companies and Inland ASEAN กล่าวว่า Unilever นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนปรับใช้กับการทำธุรกิจ โดยมีเป้าหมายภายในปี 2568 จะมีการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ 100% และลดการใช้ Virgin Plastic ลง 50%

“ภายในปี 2568 จะมีการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ รีไซเคิลหรือประกอบได้ 100% ของพลาสติกทั้งหมด และลดการใช้พลาสติกบริสุทธิ์ให้เหลือ 50% ที่สำคัญเราจะรวบรวมพลาสติกมากกว่าที่เราขาย”

ก้าวสำคัญของภาคธุรกิจระดับโลกอย่าง Unilever ที่ร่วมพลักดันหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ปรับใช้กับการทำธุรกิจ โดยเน้นการใช้วัสดุอย่างคุ้มค่า รวมถึงการลดใช้ทรัพยากร เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจและสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน

นอกจากนี้ยังมีเยาวชนต้นแบบ ด.ช.ภูมิ ตันศิริมาศ นักจัดการขยะรุ่นจิ๋ว ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจเรื่องการจัดการขยะจากหนังสือ The Story of Stuff จุดเริ่มต้นของการสร้าง Mission: To Green เพื่อลดการใช้พลาสติกและการจัดการขยะในชีวิตประจำวัน

“ทุกคนสามารถช่วยโลกได้ง่าย ๆ ด้วยการหิ้วขวดน้ำหรือการแยกขยะ! เริ่มต้นด้วยสิ่งนี้คุณจะได้มีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแบบ NEW NORMAL”

ภูมิ และครอบครัวที่ทำให้พวกเราได้เห็นว่า การเริ่มต้นทำจากสิ่งเล็ก ๆ ใกล้ตัวก็สามารถช่วยโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้!

การจัดงาน SD Symposium 2020 ในปีนี้ยังมีความพิเศษด้วยการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นทางออกแก้ปัญหาพื้นฐาน 4 ด้าน บนเวทีนี้ เป็นที่แลกเปลี่ยนมุมมอลปละประสบการณ์ที่ลงมือทำ และแก้ไขปัญห

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึง แนวคิดเรื่อง “การจัดการน้ำหมุนเวียน” ซึ่งเป็นทางออกสำหรับแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อใช้น้ำต้นทุนที่น้อยให้คุ้มค่า พร้อมเสนอ 2 แนวทาง ได้แก่ การขยายความร่วมมือของภาคเอกชนเพื่อเข้าไปช่วยเหลือชุมชน และการกระตุ้นให้เกิดการขยายผลรวดเร็วขึ้นโดยอาศัยการสนับสนุนของภาครัฐ

บุญมี สุระโคตร ประธานเครือข่ายเกษตรแปลงใหญ่ระดับประเทศ มองว่าสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภาคการเกษตร คือการพัฒนาเกษตรกรด้วยการเสริมทักษะที่ยังขาด เช่น การนำเศษวัสดุทางการเกษตรไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการสร้างเกษตรกรต้นแบบแต่ละตำบล

นนทิกานต์ อัศรัสกร นักธุรกิจ Next Gen ผู้ก่อตั้งแบรนด์ “ลฤก”พวงหรีดเสื่อ มองว่าคนรุ่นใหม่ยังขาดความรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน หากเปลี่ยนจากมุมมองว่าพลาสติกเป็นขยะ เป็นการนำมาใช้ประโยชน์ซ้ำ ๆ เช่น รีไซเคิลเพื่อทำเสื่อและต่อยอดเป็นพวงหรีดทำให้ไม่เกิดเป็นขยะหลังการใช้งาน

ในส่วนอุตสาหกรรมก่อสร้าง ประภากร วทานยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทสถาปนิก 49 จำกัด กล่าวว่า โดยทั่วไปขยะจากการก่อสร้างคิดเป็น 20-25% ของวัสดุที่ใช้ การแก้ปัญหาควรเริ่มที่ต้นทางด้วยการออกแบบไม่ให้มีเศษวัสดุเหลือทิ้ง ขณะที่ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างควรมีความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ของตนเอง

ในส่วนของภาครัฐ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี มองว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องอาศัยการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ภาครัฐมีแนวทางสนับสนุนในหลายเรื่อง เช่น มีสิทธิพิเศษทางภาษี ปรับกฎหมายให้มีความสอดคล้อง ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกมากกว่า 200 คนร่วมระดมสมองเพื่อเสนอแนวทางแก้ไข ผ่าน 4 แนวทางคือ

1.การบริหารจัดการน้ำด้วย “ระบบน้ำหมุนเวียน” เตรียมพร้อมรับวิกฤตน้ำขาดแคลนรุนแรงปี 2564 ขณะที่ประเทศไทยเก็บน้ำได้เพียง 7-8% ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำทั้งประเทศ การแก้ปัญหา คือ จัดรูปที่ดินและใช้เทคโนโลยี สร้าง ”ระบบน้ำหมุนเวียน” ให้เพียงพอต่อความต้องการแต่ละชุมชน ควบคู่กับการส่งเสริมความรู้การเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต และพัฒนาตลาดค้าส่งให้แก่เกษตรกรและคนกลับคืน

2.การทำเศรษฐกิจหมุนเวียนด้าน “การเกษตร” จากปัญหาภัยแล้ง มลพิษจากการเผาวัสดุเหลือใช้ และพื้นที่เกษตรสร้างผลผลิตได้น้อย การแก้ปัญหาจึงต้องส่งเสริมเกษตรให้ “ปลอดการเผา 100%” ในปี 2565 เพื่อลด PM2.5 ลดโลกร้อน และสร้างรายได้เพิ่ม โดยหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้ เช่น ตอซังฟางข้าว ใบอ้อย ซังข้าวโพด มาแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวล อาหารสัตว์ บรรจุภัณฑ์ สามารถสร้างรายได้สู่เกษตรกร 25,000 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งสนับสนุนเทคโนโลยี “นวัตกรรมเพิ่มผลผลิต” โดยเกษตรกรไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของเอง

3.การบริหารจัดการ “ขยะ” สืบเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้ปัญหาปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้น แต่มีสัดส่วนการนำมารีไซเคิลได้น้อยมาก จึงมีความจำเป็นต้องยกระดับการคัดแยกและจัดการขยะให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนให้มีการคัดแยกที่เหมาะสมและนำเอาขยะกลับไปใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์ใหม่

4.การทำเศรษฐกิจหมุนเวียน “กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง” เพราะมีเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการก่อสร้างในปริมาณมาก และขาดการนำไปใช้ประโยชน์ กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างและภาครัฐจึงต้องร่วมมือกันเพื่อมุ่งสู่ Green and Clean Construction โดยขอให้ภาครัฐเป็นต้นแบบในการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ และพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองการบริหารจัดการดังกล่าว

SD Symposium 2020 Circular Economy: Actions for Sustainable Future จึงนับเป็นอีกเวทีที่เอสซีจีรวมตัวแทนจากหลายภาคส่วนทั้งในไทยและระดับโลก ร่วมแบ่งปันการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปรับใช้จริงกับธุรกิจ และในชีวิตประจำวัน

คลิกชมงาน SD SYMPOSIUM 2020 ย้อนหลังได้ที่: https://bit.ly/2IsJ7OP 
รายละเอียดเพิ่มเติม: https://bit.ly/3ncdU0X
Circular Economy : Actions for Sustainable Future
#SCG #SDSYMPOSIUM2020 #ร่วมมือเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน #SCGCircularWay

You Might Also Like