CIRCULAR ECONOMY

Requirement ธุรกิจรักษ์โลก หนุนความต้องการพลาสติกชีวภาพโต

3 กรกฎาคม 2562…Single-use Plastic ยังถูกรณรงค์ให้ใช้น้อยลงๆหรือไม่ใช้ ซึ่งทำได้ระดับหนึ่ง แต่พลาสติกยังมีความจำเป็น จึงเกิด Bioplastics ผลิตจากพืช ย่อยสลายง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นิยมใช้แทนบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบดั้งเดิม

จากเมกะเทรนด์เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มีแนวคิดเรื่องการนำทรัพยากรที่ถูกนำไปใช้แล้วให้กลับมาแปรรูปและนำกลับไปใช้ได้อีกในอนาคต และการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อแก้ปัญหาการใช้ทรัพยากรเกินขนาดจากการขยายตัวของประชากรโลก เรื่องนี้กลายเป็น Requirement of the Future ส่งผลให้สหภาพยุโรปที่เป็นตลาดผู้บริโภคบรรจุภัณฑ์พลาสติกขนาดใหญ่ลำดับต้นๆ ออกมาตรการเพื่อลดการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ยากตั้งแต่ปี 2545 และมีแผนที่จะเลิกใช้ในอนาคต รวมไปถึงในบางประเทศเช่นกัน ทำให้ตลาดพลาสติกชีวภาพหรือ Bioplastic เติบโตอย่างรวดเร็ว

จากการคาดการณ์ของ Grand View Research พบว่าในอีก 10 ปี มูลค่าของตลาดพลาสติกชีวภาพจาก 21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562 เพิ่มเป็นมูลค่า 324 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2573 คิดเป็นสัดส่วนความต้องการพลาสติกชีวภาพจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 40 ของความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการว่า กว่าร้อยละ 70 ของตลาดพลาสติกชีวภาพในปี 2573 จะเป็นผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม

SUNBIO ใช้ภาพกราฟฟิกสื่อสารเรื่องไบโอพลาสติก เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่าง Degradable กับ Compostable และวงจรของสินค้า Compostable

บรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพสำหรับอาหารและเครื่องดื่มนิยมผลิตจากเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA ทดแทนเม็ดพลาสติกประเภท PE PP และ PET เนื่องจากมีคุณสมบัติคล้ายกัน แต่สามารถทดแทนได้บางส่วนขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของการใช้งานผลิตภัณฑ์

ปัจจุบันตลาดหลักสำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพคือ

(1) ยุโรปตะวันตก เป็นตลาดผู้บริโภครายใหญ่ เนื่องจากพฤติกรรมของประชาชนในยุโรปถึงร้อยละ 75 ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ประเทศเยอรมนี และเนเธอร์แลนด์

(2) อเมริกาเหนือ เป็นพื้นที่ที่มีการบริโภคบรรจุภัณฑ์พลาสติกมากที่สุดในโลก และเริ่มมีการยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกในบางพื้นที่ เช่น แคนนาดา แม็กชิโก ส่วนสหรัฐฯ มีการงดใช้แล้วบางรัฐ

(3) เอเชีย แปซิฟิกและโอเชียเนีย ที่ผ่านมาพาสติกชีวภาพยังไม่เป็นที่นิยม แต่การตื่นตัวตามกระแสและการกระตุ้นผ่านมาตรการจากภาครัฐ ผลักดันให้บางประเทศ เช่น ไต้หวัน จีน (บางมณฑล) ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย อิสราเอล มาเลเซีย เมียนมาร์ และบังกลาเทศ เริ่มลดใช้พลาสติกและหาผลิตภัณฑ์ทดแทน

ในอนาคต เอเชียแปซิฟิกจะเป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพที่จะก้าวมาเป็นผู้นำตลาดแทนยุโรปในอีก 5 ปีข้างหน้า จากอัตราการเติบโตของความต้องการพลาสติกชีวภาพเฉลี่ยสะสมต่อปีถึงร้อยละ 224

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA จะถูกนำมาทดแทนเม็ดพลาสติกจากปิโตรเคมีในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มมากขึ้นในอนาคต และมีแนวโน้มจะขยายตลาดมายังภูมิภาคเอเชียจากความต้องการเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคที่มาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เห็นได้จากบริษัทอุปโภคบริโภคชั้นนำส่วนใหญ่เริ่มใช้พลาสติกชีวภาพ PLA ทดแทนในผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์บางประเภท เช่น แก้ว การ์ด ถุงขนม ถ้วยโยเกิร์ต บรรจุภัณฑ์ผักผลไม้/สลัด แผ่นห่ออาหาร เป็นต้น

ทั้งนี้ มาตรการยกเลิกใช้พลาสติก 7 ชนิด ภายในปี 2568 จะทำให้เกิดอุปสงค์ขึ้นได้ ผู้ประกอบการควรขยายตลาดไปยังผู้บริโภคปลายทางผ่านฐานกลุ่มฐานลูกค้าเดิมเพื่อลดความกังวลเรื่องตลาดรองรับในระยะเริ่มต้น และขยายฐานลูกค้าภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากมาตรการของรัฐที่กำลังออกมารณรงค์ลดใช้บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในอนาคต

ตลาดที่มีศักยภาพสูงสุดในประเทศไทย คือ ตลาดของผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อใช้ในห้างค้าส่ง หรือค้าปลีกขนาดใหญ่ เนื่องจากมีการรณรงค์บังคับใช้ก่อนผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ อีกทั้งไม่ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ในการขึ้นรูป ทำให้ผู้ประกอบการขึ้นรูปส่วนใหญ่สามารถทำได้ทันที

ภาพจากแม็คโคร สาขาถลาง ภูเก็ต มีนโยบายเพิ่มพื้นที่ชั้นวางสินค้าบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกมากขึ้น และมีสินค้าไบโอพลาสติกที่วางตลาดแล้ว

การพัฒนาอุตสาหกกรมพลาสติกชีวภาพยังช่วยสร้างมูลค่าจากสินค้าเกษตรและวัสดุเหลือทิ้งจนเกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในอนาคต (Circular Economy) และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า พลาสติกชีวภาพที่ผลิตขึ้นไม่เพียงแต่ส่งเสริมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม แต่ในอนาคตยังมีโอกาสทางธุรกิจเชื่อมโยงไปอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นที่มีมูลค่าสูง ที่มีไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น

เนื้อหาเกี่ยวเนื่อง

 

You Might Also Like

No Comments

Leave a Reply