CIRCULAR ECONOMY

รับน้ำดื่มจากขวดที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลมั้ยคะ??

10 กรกฎาคม 2562…ขอแชร์ภาพขวดน้ำดื่มสำหรับผู้โดยสารไฟล์ท TG 466 จากเมลเบิร์นมากรุงเทพค่ะ ทั้งขวดและฝาผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล ถ้านำขวดไปคืนในที่ที่จัดไว้ รับไปเลย 10 เซนต์นะคะ(Cr.SD Perspectives Challenges)

ในประทศไทยยังไม่มีกฎหมายให้ใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิลหรือ Recycled PET (rPET)  มาเป็นบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม แม้ว่าจะมีบริษัทที่มีเทคโนโลยีทันสมัย ปลอดภัยผลิตได้แล้ว และหลายประเทศที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมในแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ก็ใช้แล้ว ซึ่งออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งซึ่งใส่ใจในเรื่องนี้ และคนไทยที่เดินทางไปทำธุระ หรือท่องเที่ยวจะสัมผัสความใส่ใจดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายภาคส่วนได้ตื่นตัวถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการผลิต และใช้ขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มที่ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลในไทยกันมากขึ้น

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานทบทวนแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปัจจุบัน ฉบับที่ 295 พ.ศ.2548 ข้อ 8 ที่ระบุว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก”

คณะทำงานฯ ได้ศึกษาข้อมูลทางวิชาการและแนวปฏิบัติในต่างประเทศเกี่ยวกับการนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาผลิตเป็นขวดเครื่องดื่มใหม่มาได้ระดับหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะทำงานฯ มีความเห็นว่า การกำกับดูแลในส่วนนี้จำเป็นจะต้องมีการศึกษาสภาพปัญหาและพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยอย่างแท้จริง จึงได้เห็นชอบให้ศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล รับหน้าที่เป็นผู้ศึกษาในเรื่องนี้

งานดังกล่าว อยู่ภายใต้การสนับสนุนของสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสมาชิกอันได้แก่ กลุ่มธุรกิจ โคคา-โคล่า ในประเทศไทย บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ตลอดจนพันธมิตรของสมาคมฯ คือ บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส ซึ่งเป็นผู้ผลิตขวด rPETรายใหญ่ที่สุดในโลกด้วย

ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมในการกำกับดูแล เก็บรวบรวม การผลิตและใช้ขวด rPET อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน โดยที่ผู้บริโภคยังสามารถมั่นใจในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ขวด rPET ได้

 

You Might Also Like