CIRCULAR ECONOMY

เผย “มหิดล โมเดล” ด้านสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ Requirement for The Future!

23 มกราคม 2562…ม.มหิดล เปิดบ้านโชว์ผลสำเร็จโครงการด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม หลังริเริ่มโครงการต่างๆ มานาน เดินหน้าเต็มสู่เป้า “มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ” ย้ำ “ผู้นำ”ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยมหิดลเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2558-2562 โดยมีนโยบายส่งเสริมการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco-University) ที่มีเป้าหมายชัดเจนของการสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ตาม 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน องค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals–SDGs)

รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า

“การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะก่อให้เกิดความมีประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากร ความเท่าเทียมกันของสังคม และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของบุคลากร นักศึกษา และชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย โดยหนึ่งในกลยุทธ์ในการดำเนินงานเพื่อการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ คือ การทำให้มหาวิทยาลัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environment-Friendly Campus) เช่น การลดก๊าซเรือนกระจก การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ โครงการประหยัดพลังงาน และการใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น”

มหิดล โมเดล

รศ.ดร.กิติกร ขยายความต่อเนื่องว่า ปัจจุบันมีภาครัฐหน่วยงานต่างๆ รวมถึงภาคเอกชนที่นำ 4 โมเดลของมหิดลไปใช้ในพื้นที่หลากหลายแห่งคือ

1. โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล

มหาวิทยาลัยมหิดลได้ริเริ่มโครงการนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษา เจ้าหน้าที่ อาจารย์ รวมถึงประชาชนรอบมหาวิทยาลัยสามารถเปิดบัญชีธนาคารเพื่อนำขยะมาขายให้กับโครงการฯ สร้างรายได้ให้กับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังช่วยให้ปริมาณขยะในมหาวิทยาลัยลดลงจำนวนมาก หน่วยงาน บุคลากร นักศึกษา ตลอดจนผู้ประกอบการร้านค้าสามารถนำขยะรีไซเคิลมาฝากขายได้ที่อาคารอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยธนาคารขยะรีไซเคิลจะออกสมุดฝากขยะรีไซเคิลและจำนวนเงินที่ฝากในวันนั้นให้ และผู้ที่นำมาฝากสามารถถอนเงินได้ทันทีหรือจะฝากไว้ถอนในวันอื่น ๆ ก็ได้

ส่วน “โปรแกรมธนาคารขยะรีไซเคิล” ของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกองกายภาพและสิ่งแวดล้อมกับกองเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อใช้ในการบริหารจัดการระบบธนาคารขยะรีไซเคิลภายในมหาวิทยาลัย ตัวโปรแกรมสามารถทำธุรกรรมได้คล้ายระบบธนาคารทั่วไป เช่น การสมัครสมาชิก การรับฝาก การถอนเงิน และสามารถรายงานสรุปการทำธุรกรรมของทุกขั้นตอนได้ ซึ่งทำให้การจัดเก็บข้อมูลเป็นเรื่องที่ง่าย รวดเร็ว และเชื่อถือได้

ตลอดระยะเวลา 9 ปี ที่ดำเนินโครงการมา มีปริมาณขยะรีไซเคิลที่สมาชิกนำมาฝากที่ธนาคารขยะ เป็นจำนวนถึง 1,920,891.98 กิโลกรัม คิดเป็นยอดเงินรับซื้อขยะรีไซเคิลจากสมาชิกเป็นจำนวนสูงถึง 10,173,818.03 บาท ดังนั้น มหาวิทยาลัยมหิดล จึงขยายผลและความสำเร็จ “โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล” ไปสู่โรงเรียนในชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะที่นับเป็นปัญหาระดับชาติ

จำลอง คำแดง แม่บ้านของมหาวิทยาลัย สมาชิกโครงการ เล่าว่า เธอจะทยอยมาขายขยะอย่างต่อเนื่อง จะไม่ถอนเงินจนกว่าจะมีรายได้จากการขายครบ 10,000 บาท เฉลี่ยแล้ว 1 ปี จะได้ 10,000 บาท เธอทำแบบนี้มา 10 ปีแล้ว !! …ถามว่า ทำไมไม่ถอนเงินออกไปใช้ก่อนครบ? 10,000 บาท เธอตอบว่า อยากเก็บไว้ก่อน อย่างน้อยก็รู้ว่ามีเงินเก็บ แม้จะ 10,000 บาทต่อปีก็ตาม

“ขณะนี้ทางพีทีที โกลบอลเคมิคอล หรือ GC ได้นำโมเดลนี้ไปใช้ที่ระยอง และ GC สนับสนุนให้มหิดลพัฒนาเรื่องธนาคารขยะรีไซเคิล โดยอีกส่วนหนึ่งนักศึกษา มหิดลเองคิดค้นนวัตกรรมเพื่อจัดการขยะอย่างยั่งยืนด้วย “ตู้รับซื้อขยะ” และ “เเอปพลิเคชั่นเพื่อรับเเต้มจากตู้รับขยะ” เน้นเสริมพฤติกรรมเชิงบวกและสร้างแรงจูงใจ ไปคว้ารางวัลชนะเลิศจากงานประชุมวิชาการ Asian Conference on Campus Sustainability (ACCS) ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา”

2.โครงการมหิดล Reduce & Reuse ถุงพลาสติก

 

มหาวิทยาลัยได้จัดทำโครงการมหิดล Reduce & Reuse ถุงพลาสติกขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ประชาคมมหิดลเกิดการลดใช้ถุงพลาสติกและนำถุงพลาสติกที่มีสภาพใหม่กลับมาใช้ซ้ำและส่งเสริมให้บุคลากร นักศึกษา ประชาชน มีความรู้ ความตระหนักและเห็นคุณค่าในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ล่าสุดหลังเปิดตัวโครงการมาเกือบ 2 ปี โดยทางมหิดลได้ขอความร่วมมือจากร้านสะดวกซื้อจำนวน 12 ร้านใน มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก งดให้บริการถุงพลาสติกแก่ลูกค้าโดยเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อนำถุงผ้ามาเอง หรือเลือกบริจาคค่าถุงพลาสติกใหม่ในราคา 2 บาท หรือใช้ถุงพลาสติก reuse ส่งผลให้ยอดการใช้ถุงพลาสติกลดลงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ หรือลดการใช้ถุงพลาสติกได้เกือบถึง 2 ล้านใบต่อปี

3.โครงการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ

เศษไม้ ใบหน้า ตัดแต่งกิ่งไม้แล้วมีเศษไม้ ต้นไม้ตายภายในมหิดล ศาลายา จะถูกนำมาผลิตปุ๋ยหมักที่นี่

 

กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม ได้จัดตั้งโครงการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำขยะใบไม้ กิ่งไม้ เศษหญ้า ภายในมหาวิทยาลัยกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง โดยการนำมาหมักแบบกองเติมอากาศ ซึ่งจะทำให้เศษวัสดุต่าง ๆ มีการย่อยสลายได้เร็วขึ้นและได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยไม่ต้องใช้แรงงานในการพลิกกลับกอง ไม่ยุ่งยาก ต้นทุนต่ำ และสามารถจัดการกับขยะใบไม้ กิ่งไม้ เศษหญ้า ที่มีปริมาณมากได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งสอดคล้องตามแผนแม่บทของมหาวิทยาลัยที่ให้คงพื้นที่สีเขียวไว้ 70 % การจัดการเศษขยะจากใบไม้ กิ่งไม้ เศษหญ้า โดยวิธีการหมักปุ๋ยแบบกองเติมอากาศจึงเป็นวิธีการที่ดีและเหมาะสมที่สุด และยังสามารถนำปุ๋ยหมักที่ได้ไปใช้ในการดูแลบำรุงรักษาสภาพภูมิทัศน์ภายในมหาวิทยาลัย หรือจำหน่ายให้กับเกษตรกรและบุคคลทั่วไปที่สนใจ โดยนำรายได้ทั้งหมดเข้าสู่กองทุนกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย ปีละประมาณ 200,000 บาท

4.โครงการบำบัดน้ำเสีย

หลังจากระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีอายุการใช้งานมากกว่า 30 ปี เกิดการชำรุดเสียหาย อีกทั้งพบว่ามีการทิ้งน้ำเสียจากบางส่วนงานลงสู่คูคลองสาธารณะ และรางระบายน้ำฝนของมหาวิทยาลัย ทำให้แหล่งน้ำผิวดินเกิดการเน่าเสีย ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของอาคารและจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว ทางมหาวิทยาลัยจึงมีการศึกษา สำรวจ และออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียรวม (Central Treatment) ของมหาวิทยาลัยมหิดลที่สามารถรองรับปริมาณน้ำเสียจากอาคารเดิมรวมถึงอาคารที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตได้ปริมาณ 6,000 ลบ.ม./วัน ในปัจจุบันก่อสร้างและใช้จริงอยู่ที่ปริมาณ 3,000 ลบ.ม./วัน และมีการบริหารจัดการเพื่อบำบัดน้ำเสียให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งประเภท ก. (น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วต้องมีค่า BOD ไม่เกิน 20 mg/l) ดังกฎหมายกำหนดก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะต่อไป

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-ปัจจุบัน พบว่าคุณภาพน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดมีคุณสมบัติผ่านมาตรฐานตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนด และโครงการฯ นี้ยังสามารถนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดมารีไซเคิลใช้แทนประปา เป็นการใช้ทรัพยากรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดการใช้น้ำประปาได้ประมาณ 1,000 ลบ.ม./วัน ประหยัดค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัยได้ 27,000 บาท/วัน

คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของบุคลากร นักศึกษา และชุมชน

กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล มีการพัฒนาระบบกายภาพในหลาย ๆ ด้าน ควบคู่กับการรณรงค์ให้เกิดการเรียนรู้ การปลูกฝังจิตสำนึก ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพนอกเหนือจาก มหิดล โมเดล 4 เรื่องข้างต้น ยังประกอบด้วย

อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ – อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ เป็นอุทยานธรรมชาติเกี่ยวกับสมุนไพรที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวบรวมพันธุ์สมุนไพรที่ปรากฏในตำรายาไว้มากที่สุด ประมาณ 800 ชนิด นอกจากนี้ภายในอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ นิทรรศการ “สมุนไพร ภูมิปัญญาไทยสู่สากล” ให้ผู้ชมได้เข้าใจภูมิปัญญาไทย การประยุกต์ใช้สมุนไพร ทั้งในเชิงการใช้ชีวิตประจำวันและในเชิงวิทยาศาสตร์ ลานสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ให้ผู้ชมได้เรียนรู้จากสมุนไพรใกล้ตัว ได้เห็นของจริงอย่างใกล้ชิดและมั่นใจได้ในการใช้งานอย่างปลอดภัย เพราะเป็นสมุนไพรที่มีงานวิจัยรองรับ 100% ลานสมุนไพรจากพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งมีสื่อการสอนพิเศษสำหรับผู้พิการทางสายตาโดยเฉพาะ บ้านหมอยา คลินิกให้บริการการแพทย์แผนไทย ในบรรยากาศบ้านหมอยาแบบโบราณ ที่สำคัญ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติได้จัดสร้างขึ้นภายใต้แนวคิด “การออกแบบเพื่อมวลชน” (Universal Design) โดยเป็นการออกแบบสิ่งแวดล้อม สถานที่ และสิ่งของเครื่องใช้ ที่อำนวย ความสะดวก ให้แก่ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ที่ด้อยสมรรถภาพด้านต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ชมทุกกลุ่มสามารถมาเรียนรู้และเยี่ยมชม อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติได้อย่างเท่าเทียมกัน

พื้นที่ใหญ่มาก และมีสมุนไพรหลากหลายให้ศึกษา

ก่อนจะมาเป็นอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ แรกเริ่มเดิมทีเป็นสวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านสมุนไพรและธรรมชาติวิทยา ภายใต้การดำเนินงานของคณะเภสัชศาสตร์ แต่เมื่อ พ.ศ. 2550 ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีในขณะนั้น มีความคิดที่จะยกระดับพื้นที่สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ และเป็นศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรไทยระดับประเทศและระดับนานาชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางด้านพฤกษศาสตร์ด้วย จึงดำเนินการปรับภูมิทัศน์และขยายพื้นที่เพื่อรองรับกิจกรรมต่าง ๆ เป็น 140 ไร่ และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ” เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553

โครงการแปลงผักปลอดสารพิษ – เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปสมุนไพรศาลายา ร่วมกับอำเภอพุทธมณฑลและมหาวิทยาลัยมหิดล โดยแนวคิดเบื้องต้นเกิดจากความต้องการที่จะพัฒนาพื้นที่ของมหาวิทยาลัยให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้ใช้พื้นที่ประมาณ 4 ไร่ บริเวณด้านข้างอาคารคณะเทคนิคการแพทย์ เพื่อดำเนินการโครงการปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ยังได้มีการ ปลูกผักปลอดสารพิษบนอาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล ซึ่งอาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดลยังคงมีพื้นที่ที่สามารถปรับปรุงให้เกิดการใช้ประโยชน์และพัฒนาการเรียนรู้ได้อีก จึงเกิดการพัฒนาพื้นที่เพื่อปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) ที่ปลอดสารพิษ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในอาคาร ส่งเสริมการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และส่งเสริมสุขภาพผู้บริโภคอีกด้วย

ได้ลิ้มรสผักจากแปลงนี้แล้ว ซื้อน้ำสลัดและอุปกรณ์มาทำสลัดกินอย่างอร่ย

โครงการพลังงานไบโอดีเซล – โครงการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันประกอบอาหารของศูนย์อาหารเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2560 จากการไปศึกษาดูงานจากฟาร์มโชคชัยมาเป็นต้นแบบในการดำเนินโครงการ โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้นำน้ำมันที่ใช้แล้วจากโรงอาหาร กลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้งโดยการผ่านกระบวนการ โดยใช้ต้นทุนการผลิตไบโอดีเซลเพียง 19 บาท ต่อ 1 ลิตร เท่านั้น และไบโอดีเซลที่ได้ก็จะนำไปใช้กับรถขนของ รถบรรทุกต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย และนำไปสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ชุมชนโดยรอบต่อไป

ไบโอดีเซลเกิดหลังโรงอาหารใหญ่ของมหิดล นำน้ำมันจากการทำอาหารของแม่ค้าในโรงอาหารมาผลิตไบโอดีเซล ซึ่งประสิทธิภาพใช้ได้กับรถที่มีรอบต่ำ

“ในอนาคต เพื่อตอกย้ำความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ ที่ให้ความสำคัญในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล มีแผนที่จะแสวงหาความร่วมมือ ต่อยอดหลายๆ โครงการฯ ของมหาวิทยาลัย ไปยังชุมชนใกล้เคียงและมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ต่อไป” รศ.ดร.กิติกร กล่าวทิ้งท้าย

 

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

You Might Also Like