ACTIVITIES

วงสนทนา NETFLIX เผย สิ่งที่ครีเอเตอร์หญิง ‘ต้องมี’ เพื่อความสำเร็จในวงการ

4 เมษายน 2565… NETFLIX ชวน 4 สตรีตัวแทนภูมิภาค ไพลิน วีเด็ล, ลีน่า แทน, มาริสสา อานิตา และ ทันย่า ยูซอน ผู้อยู่เบื้องหลังผลงานบนหน้าจอ มาแชร์สิ่งที่‘ต้องมี’ เพื่อความสำเร็จในวงการ

ไพลิน วีเด็ล ผู้กำกับสารคดีหญิงไทย คุ้นเคยดีกับการหาทางก้าวข้ามอุปสรรค เราจะเห็นได้จากผลงานสารคดีของเธอเรื่อง ความหวังแช่แข็ง: ขอเกิดอีกครั้ง (Hope Frozen: A Quest To Live Twice) ผลงานจากประเทศไทยเรื่องแรกใน NETFLIX ที่คว้ารางวัล International Emmy Award การสร้างผลงานเรื่องนี้ต้องใช้เวลาหลายปี และต้องเจอกับการปฏิเสธนับครั้งไม่ถ้วน ก่อนจะเริ่มกวาดรางวัล ซึ่งถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ตัวผู้สร้างที่สำเร็จการศึกษาในสาขาชีววิทยาก่อนจะผันตัวมาเป็นช่างภาพข่าว ก็ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนเมื่อเธอเริ่มฝันถึงการก้าวมาเป็นผู้สร้างภาพยนตร์

“ฉันโตในประเทศไทย เวลากูเกิลหาข้อมูลผู้กำกับที่เป็นผู้หญิงไทย ฉันพบว่าเรามีผู้กำกับหญิงไทยอยู่ไม่ถึง 10 คน ฉันจำได้ว่าตัวเองรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่รู้ว่าจะหาแนวร่วมหรือคนที่จะให้คำแนะนำได้อย่างไร”

ไพลิน กล่าวพร้อมเสริมว่า การส่งเสริมคนทำงานเบื้องหลังที่เป็นผู้หญิงให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงที่อยากเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ก้าวเข้ามาสู่วงการนี้มากขึ้น

นี่เป็นแค่หนึ่งในข้อมูลจากศิลปินและผู้สร้างจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วมการสนทนาออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 เพื่อฉลองเดือนแห่งวันสตรีสากล นอกจากไพลินแล้ว ยังมี มาริสสา อานิตา นักแสดงชาวอินโดนีเซีย ลีน่า แทน โปรดิวเซอร์ชาวมาเลเซีย และ ทันย่า ยูซอน นักเขียนบทและผู้อำนวยการผลิตชาวฟิลิปปินส์ มาร่วมพูดคุยอย่างสนุกสนานและมีชีวิตชีวา โดยมี จานีน สไตน์ ผู้อำนวยการกองบรรณาธิการจาก ContentAsia รับหน้าที่ดำเนินการสนทนา

ผลงานเกี่ยวกับผู้หญิง
เพื่อผู้หญิง
โดยผู้สร้างผู้หญิง

ผู้เข้าร่วมการสนทนาเห็นตรงกันว่า เมื่อผู้หญิงเป็นผู้สร้างผลงาน เรื่องราวที่ถ่ายทอดเกี่ยวกับผู้หญิงจะมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนมากขึ้น ลีน่า ผู้สร้างรายการทีวี 3R สุดล้ำเพื่อส่งเสริมความมั่นใจให้กับหญิงสาวในมาเลเซีย เล่าถึงความยากลำบากในการรับมือกับความคิดเห็นแบบอนุรักษ์นิยมของผู้คนในสังคม เมื่อเจาะลึกประเด็นอย่างการตั้งครรภ์ในช่วงวัยรุ่น และความรุนแรงทางเพศ ว่า

“เป็นการต่อสู้ที่ยากลำบากสำหรับผู้สร้างภาพยนตร์ในมาเลเซีย ซึ่งผลงานดราม่าเกี่ยวกับผู้หญิงของเธออย่าง เรื่องเล่าสาวออนไลน์ (Sa Balik Baju) ได้เริ่มสตรีมใน NETFLIX เมื่อปี 2564 ฉันรู้สึกขอบคุณที่ตอนนี้มีช่องทางอย่าง NETFLIX มาช่วยเผยแพร่โปรเจกต์ของเรา ซึ่งเจาะลึกประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับผู้หญิง นอกเหนือไปจากทีวีที่ออกอากาศให้ดูฟรีอย่างเดียว” เธอกล่าวเสริม

 

มาริสสา ซึ่งนำแสดงในผลงานเรื่อง อาลีกับราชินีแห่งควีนส์ (Ali & Ratu Ratu Queens) และ ปัจจุบันกำลังฝึกปรือฝีมือเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้เขียนบท ได้เรียกร้องให้มีการเสริมสร้างทักษะสำหรับผู้สร้างภาพยนตร์ในปัจจุบันที่เป็นผู้หญิงและผู้หญิงที่อยากจะเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ในอนาคต

“ฉันอยากเห็นผู้เขียนบทและผู้กำกับที่มีมุมมองเกี่ยวกับผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น” เธอกล่าว ในขณะที่ ทันย่า ผู้อยู่เบื้องหลังซีรีส์แอนิเมชันเรื่อง เตรเซ ฆาตกรเงา (Trese) ส่งเสริมให้ผู้หญิงที่ทำงานเบื้องหลังพยายามเล่าเรื่องราวให้ออกนอกขอบเขตเดิมมากขึ้น เพื่อให้มีเรื่องราวหลากหลายรูปแบบ

คำแนะนำ
สำหรับผู้หญิง

การปูทางของสตรีผู้อยู่เบื้องหลังหลาย ๆ คน จะทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ที่เป็นผู้หญิงในอนาคตไม่ต้องรู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนอย่างที่ไพลินเคยรู้สึก “คุณต้องหาเพื่อนร่วมทางค่ะ” ไพลิน กล่าว “คนเหล่านี้จะเป็นกำลังใจให้คุณสู้ต่อไป ถ้าไม่มีพวกเขา คุณก็จะไปต่อไม่ได้”

ลีน่า กล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณต้องเชื่อมั่นในตัวเอง” จากประสบการณ์ของเธอ ผู้สร้างภาพยนตร์ที่เป็นผู้หญิงจะกำหนดมาตรฐานที่ตัวเองต้องทำได้ไว้ในระดับที่สูง และมักจะพลาดโอกาสเพราะขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง

ทันย่า เผยว่า “การเริ่มต้นในช่วงแรกๆ เป็นอะไรที่น่ากลัว แต่อย่ากลัวที่จะลงมือทำสิ่งต่างๆ ในแบบที่ตัวเองเชื่อมั่น ให้ฝึกฝน เรียนรู้ และผลักดันตัวเอง แล้วคุณจะพบกลุ่มผู้ชมของตัวเอง”

มาริสสา กล่าวเสริมว่า “ถ้าคุณรักในการถ่ายทอดเรื่องราวและการสร้างสรรค์ผลงาน คุณจะพบหนทางที่จะทำให้ตัวเองทำมันต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ”

You Might Also Like