ACTIVITIES

ก.ล.ต. ร่วมเสวนาในกิจกรรมคู่ขนานของการประชุม COP 26

13 พฤศจิกายน 2564…เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย มุ่งขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ถ่ายทอดสดจากเมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร

รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้าร่วมการเสวนา Side Event (กิจกรรมคู่ขนาน) ในการประชุม COP 26 ภายใต้หัวข้อ “Thailand Carbon Neutral Network: Climate Action Partnership towards Carbon Neutrality” ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และผู้แทนจากองค์กรสมาชิกเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network: TCNN) ทั้งภาคเอกชนและภาคการศึกษา ได้แก่ บริษัท เอ็น อาร์ อินสแตนท์โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

วัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความสำเร็จในการจัดตั้ง TCNN เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น/ชุมชน ในการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามเจตนารมณ์ของประชาคมโลกที่ปรากฏในเป้าหมายความตกลงปารีส

บรรยากาศการเสวนา Side Event (กิจกรรมคู่ขนาน) ในการประชุม COP 26 ภายใต้หัวข้อ “Thailand Carbon Neutral Network: Climate Action Partnership towards Carbon Neutrality”

ในการเสวนาครั้งนี้ ก.ล.ต. ได้ร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ นโยบาย และการดำเนินงานของ ก.ล.ต. ในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นพัฒนาระบบนิเวศเพื่อพัฒนาตลาดทุนยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนตลาดทุนที่ยั่งยืน และนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG) ตลอดจนบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) ควบคู่กับการดำเนินการพัฒนาภายในองค์กร

ทั้งนี้ ก.ล.ต. เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย TCNN ที่มีสมาชิกมากกว่า 120 องค์กร ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญในการรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สอดรับกับการขับเคลื่อนทั้งในระดับประเทศและสากล รวมถึงเป้าหมายของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2608 และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศต่อไป

 

You Might Also Like