TALK

The Signature ดุสิตธานี

12 ธันวาคม 2561…อัตลักษณ์จิตรกรรมไทย โบราณคดี สถาปัตยกรรม วิศวกรรม และยุคสมัยแบรนด์ดิ้ง ล้วนอยู่ในโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันเปิดให้บริการเมื่อ 50 ปีที่แล้ว

ทั้งหมดจะถูกอนุรักษ์ และส่งต่อไปยังโรงแรมดุสิตธานี อาคารใหม่อีก 4 ปีข้างหน้า ด้วย The Signature ดุสิตธานี ทุกพื้นที่ ด้วยความเป็น Sustainable Brand

การเดินกลับเข้าไปในโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯครั้งล่าสุด แตกต่างกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แม้กระทั่งเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วที่มีโอกาสสัมภาษณ์ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เจ้าของโรงแรมที่ห้องทำงานเล็กๆ เพราะท่านเคยบอกระหว่างให้สัมภาษณ์ว่า ท่านใช้พื้นที่ธรรมดาๆ เล็กๆ ก็พอ ส่วนพื้นที่ดีๆ ไว้ให้แขกของโรงแรมใช้

ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ห้องทำงานของท่านผู้หญิงชนัตถ์ หรือพื้นที่ดีๆ สำหรับแขกของโรงแรมก็ตาม เช่นห้องอาหารเบญจรงค์ ฯลฯ ล้วนเป็นส่วนผสมของอัตลักษณ์จิตรกรรมไทย โบราณคดี สถาปัตยกรรม วิศวกรรม และยุคสมัยแบรนด์ดิ้ง

แลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ พ.ศ.2511

ชนินทธ์ โทณวณิก รองประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เคยเล่าถึงความตั้งใจของคุณแม่ว่า

“ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย คุณแม่ของผมสร้างโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เพราะเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในเวทีระดับโลก ซึ่งท่านคิดว่า การสนับสนุนที่ดีที่สุดคือ การสร้างโรงแรมที่โดดเด่นและดีที่สุดตามมาตรฐานสากล โดยยึดขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมไทยเป็นหลัก เพื่อให้กรุงเทพมหานครปรากฏอยู่บนแผนที่ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ได้สร้างความประทับใจให้กับแขกที่มาเยือนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทั้งในเรื่องของการบริการและการดูแล รวมถึงการเป็นอาคารอันเป็นสัญลักษณ์แห่งยุคสมัย ด้วยสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น มีอัตลักษณ์ในแบบเฉพาะตัว”

 

ดังนั้น องค์ประกอบโรงแรมดุสิตธานี จึงมีเรื่องใหม่ๆ มากมาย เช่นเป็นตึกที่สูงที่สุดในเวลานั้น มีการนำเอาศิลปะวัฒนธรรมของไทยโบราณผสมผสานการออกแบบสมัยใหม่ นำโครงพระปรางค์วัดอรุณเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบดีไซน์ตึก เพราะรูปทรงตึกจะเป็นลักษณะมียอดสีทองอยู่ข้างบน

ภายในโรงแรม มีการสร้างสิ่งใหม่ๆ เช่นห้องประชุม ห้องนภาลัยเป็นห้องใหญ่ เพดานสูง มี Chanderlier สวยงาม ทำให้งานสำคัญๆ ของประเทศใช้ห้องนภาลัยมาตลอด หรือแม้กระทั่งคลับ ก็ไม่เคยมีใครทำคลับในโรงแรม โรงแรมดุสิตธานีก็มีบับเบิ้ล คลับ หรือห้องอาหาร เทียร่า ชั้น 22 ก็ไม่มีใครทำมาก่อน (หมายเหตุ…เวลาผู้เขียนขึ้นไปที่ห้องเทียร่า จะไม่ลืมแวะเข้าห้องน้ำล้างมือทุกครั้ง และใช้เวลาอีกนิด ยืนมองกระจกใส ดูบรรยากาศสวนลุมพินีเต็มๆ เหมือนเป็นไฮไลต์ของตัวเอง)

“อีกหนึ่งไฮไลต์คือห้องอาหารเบญจรงค์ อดีตชื่อร้านสุโขทัย ตอนนั้นท่านผู้หญิงให้นโยบายว่า เราเป็นคนไทยเราต้องทำอาหารไทยให้ดี ห้องอาหารนี้ต้องลงทุน ต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อให้คนมาแล้วกล่าวขวัญ แล้วมีลูกค้ามาใช้บริการ นอกจากนี้ท่านผู้หญิงตั้งใจนำศิลปะ วัฒนธรรมบางอย่างเข้ามาในยุคนั้น โดยต้องการให้ห้องนี้เป็นเหมือนตัวแทนของประเทศ เป็นร้านอาหารไทยที่ดีที่สุดตอนนั้น ได้ไปเรียนเชิญ ท่านอาจารย์ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ หรือท่านกูฏ เป็นศิลปินเอกลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์ พีระศรี มาทำงานจิตรกรรม”

ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังต่อเนื่องว่า ท่านอาจารย์กูฏลงฝีแปรง ภาพวาดบนเสาเอกของโรงแรมที่อยู่ในห้องอาหารเบญจรงค์ ทำลายเขียน 2 ต้น ทำกำแพงทางเข้า เป็นภาพจิตกรรมฝาผนัง ซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ช่วงเวลาอาจารย์กูฏทำงานทั้งสี และลาย ถูกคิดขึ้นมาใหม่ เป็นสีไทยโทน สีออกคลาสสิค แตกต่างจากสีในงานจิตกรรมเวลานั้นที่เด้นมาก ส่วนลาย ก็ไม่ใช่ลายไทยกนกแท้ๆ แต่เป็นลายประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ให้มีส่วนผสมของไทยและสากล รวมถึงภาพฝาผนังด้วย ต่อเมื่อเงยหน้ามองเพดานจะเห็นห้องนี้มีไม้สักทองแกะสลักประดับในห้อง ปัจจุบันหาค่ามิได้

แลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ พ.ศ.2565

“ในฐานะคนที่จะทำภาพใหม่ของกลุ่มดุสิตธานี เราก็มองว่า สิ่งที่สำคัญและมีคุณค่าทางศิลปะกรรมและสถาปัตยกรรมยังต้องคงอยู่ และใช้สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจจะก้าวไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งเห็นตรงกับคุณชนินท์ ว่าเราจะต้องอนุรักษ์ สิ่งนี้เอาไว้ และนำไปอยู่โรงแรมใหม่ด้วย เป็นการเก็บจิตวิญญาณดุสิตธานี ในสถานที่แห่งใหม่ 4 ปีข้างหน้า จะต้องตอบโจทย์โลกยุคปัจจุบันและอนาคตให้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ทีมบริหารต้องมาหาความลงตัวระหว่าง สิ่งที่เกิดมาแล้วมีคุณค่า และใส่สิ่งใหม่ๆ เข้ามาเพื่อจะทำให้โรงแรมกลับมายิ่งใหญ่อย่างในอดีต ท่ามกลางผู้เล่นหน้าใหม่จำนวนมาก”

จากความต้องการดังกล่าว ในเวลาต่อมา อาจารย์ดำริห์ บรรณวิทยกิจ คณบดีคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ปรึกษานักศึกษาดนตรีแจ๊ส ซึ่งได้รับทุนจากโรงแรมดุสิตธานี และเป็นเวทีให้นักศึกษาได้โชว์งานดนตรี ได้เห็นภาพจิตรกรรมท่านกูฏ ก็เห็นว่า อาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ อดีตคณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร น่าจะอธิบายเรื่องภาพได้ดีกว่า แต่เมื่ออาจารย์เห็นภาพแล้วก็กล่าวว่า นี่คือภาพสำคัญที่ลอกลายไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไร? ก็เป็นหน้าที่อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรม วิศวกรรมศาสตร์ เข้ามาดู เช่นเดียวกับผู้ช่วยศาสตรจารย์ชวลิต ขาวเขียว คณบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คำตอบที่ได้คือ ต้องตัดเสาเอกด้านบนซึ่งเป็นเสาปูนหนักต้นละ 5 ตัน ออกไปไว้่ในห้องเบญจรงค์ใหม่ เช่นเดียวกับภาพแกะสลักไม้สักทองบนเพดาน ก็ต้องรื้อออกไปไว้บริเวณเดียวกันด้วย

นั่นหมายถึงว่าสถาปนิกอาคารใหม่ของโรงแรมดุสิตธานีจะต้องเว้นช่องว่างในแบบให้ตรงเป๊ะ! กับงานอนุรักษ์ที่ย้ายไป

บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) จึงได้จับมือกับ “มหาวิทยาลัยศิลปากร” ประกาศความร่วมมือในโครงการ บันทึกการเปลี่ยนผ่านหน้าประวัติศาสตร์ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ (Preserving Dusit Thani Bangkok’s Artistic Heritage) โดยความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่สถาบันการศึกษาภาครัฐและองค์กรธุรกิจเอกชนร่วมมือกัน

โครงการนี้ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ คือ

ส่วนที่หนึ่ง งานอนุรักษ์ ซึ่งครอบคลุมการอนุรักษ์งานเครื่องไม้สักทองแกะลวดลายบนฝ้าเพดาน และงานจิตรกรรมภาพวาดบนเสาและฝาผนังในห้องอาหารเบญจรงค์ รวมถึงเปลือกอาคารด้านนอก ซึ่งต้องใช้การบูรณาการของทุกองค์ความรู้ ทั้งด้านจิตรกรรม วิศวกรรม สถาปัตยกรรม และโบราณคดีในการอนุรักษ์ผลงานอันทรงคุณค่านี้

ส่วนที่สอง การศึกษา วิจัย ประวัติศาสตร์ศิลปะ ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรมและพืชพรรณทั้งที่อยู่บริเวณสวนต่างๆ สวนน้ำตก แม้กระทั่งต้นลีลาวดีทั้ง 2 ต้นก็ยังต้องเก็บไว้ เพื่อถอดแบบองค์ประกอบสถาปัตยกรรมและทำโมเดลจำลองของโรงแรมดุสิตธานี

ส่วนที่สาม การจัดกิจกรรมเผยแพร่คุณค่าของดุสิตธานีผ่านฝีแปรงจากศิลปินแห่งชาติ และศิลปินชั้นนำของไทยจำนวน 20 ท่าน เพื่อจัดแสดงนิทรรศการให้ชมกันเป็นครั้งแรกในโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป ซึ่งกระบวนการทำงานวิจัยและอนุรักษ์ทุกขั้นตอน จะมีการรวบรวบข้อมูลและจัดทำเป็นหนังสือดิจิทัล เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้เป็นสาธารณประโยชน์ต่อไป

“สิ่งที่เป็น Signature ของโรงแรมดุสิตธานีจะถูกเก็บไว้ทั้งหมด แม้กระทั่งโลโก้ตัวอักษร Dusit ที่ใช้ตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้บริการ ก็ถูกออกแบบมาเพื่อที่นี่โดยเฉพาะ นั่นหมายถึงว่า ท่านผู้หญิงชนัตถ์ได้เห็นความจำเป็นของเรื่อง Branding และให้ความสำคัญกับ Corporate Identity น่าจะถือเป็นยุคสมัยของ Branding เมื่อ 50 ปีที่แล้ว และจะถูกส่งต่อในอีก 4 ปีข้างหน้าในฐานะ Sustainable Brand” ศุภจีกล่าวในท้ายที่สุด

การเดินออกมาจากโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ วันนี้ นับเวลาได้ประมาณ 1 เดือน ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยในส่วนของโรงแรมยังคง The Signature ดุสิตธานี อย่างครบถ้วน  #JirapanUnyapo

อำลา #ดุสิตธานีกรุงเทพฯ เราจะพบกันอีกครั้งในเร็วๆนี้ Cr.ศุภจี สุธรรมพันธุ์

You Might Also Like