TALK

รู้จัก The Incubation Network โครงการที่มีภารกิจ สร้างความเข้มแข็งให้ระบบนิเวศพลาสติกรีไซเคิลในไทย

24-25 มิถุนายน 2565…จากการศึกษาของ Stockholm Environmental Institute ประเทศไทยก่อให้เกิดมลพิษจากขยะพลาสติกในมหาสมุทรสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก การเข้าร่วมสนธิสัญญาพลาสติกดังกล่าวถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับประเทศไทย ซึ่งรีไซเคิลพลาสติกเพียง 17.6% ของพลาสติกทั้งหมด แต่น่าเสียดายว่า มูลค่าของวัสดุประเภทพลาสติกกว่า 87% ในประเทศไทย ราว 2.88 ล้านตัน หรือราว 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถูกทิ้งแทนที่จะถูกนำไปรีไซเคิลหรือ Upcycle ให้เป็นวัสดุที่มีค่าอีกครั้ง คงจะดีไม่น้อยหากทุกฝ่ายหันมาใช้ศักยภาพที่ตัวเองมี ร่วมมือกันหาทางออกกับปัญหานี้ไปด้วยกัน

วันนี้ SD Perspectives มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.ศิรินทร์ชญา ปรีชาภัฏสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน The Incubation Network โครงการที่เน้นแก้ปัญหาผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อมโดยให้การสนับสนุนและต่อยอดวิธีการแก้ปัญหาที่ใช้นวัตกรรมแบบองค์รวมในการแก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก และณัฐณิชา เลิศพลากร Program Manager Asia, Seedstars ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการ หนึ่งในพันธมิตรของ Incubation Network เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศพลาสติกรีไซเคิลให้เกิดขึ้นในเมืองไทย

ดร.ศิรินทร์ชญา และ ณัฐณิชา

ก่อนอื่น ดร.ศิรินทร์ชญา ได้เล่าถึงเหตุผลที่ให้ความสำคัญกับขยะพลาสติก เพราะมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมโลก โดย The Incubation Network ไม่ได้โฟกัสแค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่มุ่งเข้าไปแก้ปัญหาในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวม 5 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทยซึ่งเป็นประเทศที่เข้ามาริเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่กลางปี 2020

จากปีแรกที่ The Incubation Network เข้ามาทำความเข้าใจตลาดและระบบนิเวศของเมืองไทย หนึ่งปีผ่านไปจึงเริ่มทำกิจกรรมเพื่อสนับสนุน Key Stakeholder ในหลายกลุ่มๆ โดยปีนี้เดินหน้าโครงการ ได้แก่

-โครงการ Thailand Plastics Circularity Accelerator ช่วยเหลือธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกที่ดำเนินการในไทย รวมถึงบริษัทต่างชาติที่มีแผนจะเข้ามาทำธุรกิจในไทย ให้สามารถต่อยอดและขยายธุรกิจได้ โดยอาศัยเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศที่มีอยู่ในมือให้คำปรึกษา

-โครงการ Thailand SME Plastics Circularity Scale Up Program เฟ้นหาและสเกลอัพ SME ที่ทำธุรกิจด้านจัดเก็บขยะพลาสติกเพื่อนำมารีไซเคิล หรือแปลงขยะพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์อื่น รวมถึงธุรกิจที่คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีจัดการขยะพลาสติก

-โครงการ The SUP Challenge ที่ได้รับการสนับสนุนโดย PREVENT Waste Alliance ของรัฐบาลเยอรมนี บ่มเพาะผู้ประกอบการที่เน้นการพัฒนาวิธีแก้ปัญหาการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงอย่างมีนัยยะหลังพลาสติกประเภทนี้เติบโตหลายเท่าตัวจากการใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรีในช่วงโควิด

-โครงการ Thailand Waste Management & Recycling Academy เปิดโอกาสให้ Impact Startup 11 ราย ร่วมเข้ารับการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญ พร้อมพิชชิ่งในงาน Demo Day เพื่อหานักลงทุนในการสเกลอัพ

ณัฐณิชา จาก Seedstars ในฐานะหนึ่งในพันธมิตร The Incubation Network เล่าคอนเซ็ปต์โปรแกรมนี้ให้เราฟังว่า

“คนรุ่นใหม่ในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศเกิดใหม่มีไอเดียช่วยโลกมากมาย แต่ขาดโอกาสในเรื่องเงินทุนการสนับสนุนเชิงธุรกิจ หรือเข้าถึงเครือข่ายที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน Seedstars เป็นองค์กรจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่ดำเนินการอยู่ใน 15 ประเทศทั่วโลก  จึงเข้ามาเติมเต็มช่องว่างดังกล่าว ดังนั้นโครงการ Thailand Waste Management & Recycling Academy เป็นความตั้งใจของเราที่จะเข้ามาช่วยพัฒนา Impact Startup ที่อยู่ใน Early Stage ตั้งแต่ให้องค์ความรู้ จัดเวิร์คช้อปให้คำแนะนำโมเดลสร้างรายได้โดย Mentor ทั้งในและต่างประเทศ จัดหาเครือข่ายซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อแสวงหาความร่วมมือ จนไปถึงหาแหล่งเงินทุนเพื่อแจ้งเกิดให้เขาไปสร้าง Positive Impact ให้กับโลก”

โครงการ Thailand Waste Management & Recycling Academy ได้รับความสนใจจาก Impact Startup เป็นอย่างดี และมีผู้เข้ารอบสุดท้าย 4 ทีมจากทั้งหมด 11 ทีม ซึ่งทั้ง 4 ทีมนี้จะเข้าไปแข่งกันในรอบ Demo Day อีกครั้ง สำหรับเกณฑ์การตัดสินว่าสตาร์ทอัพเจ้าไหนจะไปต่อได้นั้นก็จะวัดกันที่ 4 ปัจจัย ได้แก่

-Market ตลาดใหญ่พอมั้ย
-Product มีนวัตกรรมแค่ไหน
-Scalability มีแนวโน้มสเกลอัพหรือเปล่า และมุมมองแรงบันดาล
-Passion ของ Founder

แน่นอนว่าสตาร์ทอัพที่สนใจต่อยอดอุตสาหกรรมรีไซเคิลพลาสติกส่วนใหญ่จะเป็น Impact Startup ที่โฟกัสในเรื่องการสร้างผลกระทบเชิงบวกมากกว่าโมเดลการสร้างรายได้ ดังนั้นการจะสร้างความสนใจให้กับนักลงทุนเพื่อเกิดการระดมทุนได้นั้น จำเป็นต้องจับคู่กับนักลงทุนที่มีแรงบันดาลใจสอดคล้องกันด้วย

“นักลงทุนที่เราเชิญมาในวัน Demo Day ก็จะต้องเป็น Impact Investor ที่มองในเรื่องของ Impact first  ไม่ใช่ Financial first เช่นกัน ถามว่านักลงทุนในกลุ่มนี้มีเยอะไหม  ปัจจุบันมีเยอะในอเมริกาที่พร้อมจะลงทุนกับสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งในสิงคโปร์ และอินโดนีเซียก็เริ่มมีแล้ว หรือแม้แต่เวียดนามก็มี Circulate Capital ซึ่งเป็นพันธมิตรกับ The Incubator Network  ที่โฟกัสการลงทุนในกลุ่มของ Plastic Waste Management  ส่วนในเมืองไทยอาจจะยังไม่ค่อยเห็นมากนัก”

แต่อย่างน้อยเราก็ได้รู้ว่า The Incubator Network  เป็นหนึ่งในเครือข่ายของ Impact Investor หลังจากที่ ดร.ศิรินทร์ชญา เฉลยว่าเงินทุนเกือบ 100% มาจาก ECCA Family Foundation ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีความตั้งในที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับโลก

“เราเชื่อว่าการนำเงินเข้าสู่ระบบอย่างเดียวไม่ยั่งยืน สิ่งที่จะยั่งยืนได้คือการสนับสนุนสตาร์ทอัพให้โซลูชั่นและโมเดลการหารายได้ที่แข็งแกร่ง เพื่อที่เขาจะยืนได้ด้วยตัวเอง และเติบโตไปเป็นยูนิคอร์น เพื่อสร้าง Impact ให้โลกนี้ดีขึ้นต่อไปไม่ตายตามกาลเวลา”

ภาพขวดน้ำดื่มที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล สำหรับผู้โดยสารไฟล์ท TG 466 จากเมลเบิร์นมากรุงเทพ ปี 2019

สุดท้ายนี้ ดร.ศิรินทร์ชญา พูดถึงเป้าหมาย The Incubator Network  ในสเตปต่อไปว่า เนื่องจากปีนี้เป็นปีแห่งการบ่มเพาะและแจ้งเกิดสตาร์ทอัพและ SMEs ที่ได้รับการระดมทุน จากนี้ไปน่าจะเห็น Solution ที่เข้ามาปัญหาขยะพลาสติกที่จับต้องและนำไปใช้ได้จริง และพัฒนาศักยภาพให้สตาร์ทอัพและ SMEs ก้าวข้ามสเตปต่อไปเรื่อย ๆ หรือสเกลอัพได้นั่นเอง ซึ่ง The Incubator Network  หวังว่าจะช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในเมืองไทยเท่าที่จะทำได้

“การแก้ปัญหาขยะพลาสติกจะบรรลุผลยั่งยืนได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันตลอด Value Chain ทั้งภาคเอกชนอย่างเรา จนไปถึงหน่วยงานรัฐบาล เราอยากเห็นระบบการเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดขยะจากต้นทาง แต่จิ๊กซอว์ที่สำคัญที่สุดคือคนไทยทุกคนต้องปรับพฤติกรรมการแยกขยะในบ้านของตน เพื่อที่ขยะจะได้เข้ามาอยู่ในระบบนำไปสู่การรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น”

ในขณะที่ ณัฐณิชา กล่าวถึงเป้าหมาย Seedstars ว่าอยากเห็น Impact Startup เกิดขึ้นในเมืองไทยเพิ่มมากขึ้น โดย Seedstars พร้อมที่จะเข้ามาเติมช่องว่างสร้างจุดแข็งให้สตาร์ทอัพเหล่านั้นได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนเพื่อที่จะกระตุ้นระบบนิเวศของรีไซเคิลและ Upcycle ขยะพลาสติกต่อไป

เครดิตภาพเปิดเรื่อง

ข่าวเกี่ยวเนื่อง

You Might Also Like