TALK

Poontong Recycle และ PLA+ 2 อิมแพค สตาร์ทอัพที่เกิดมาเพื่อเปลี่ยนโลกขยะพลาสติก

30 มิถุนายน 2565…ข้อมูลจาก World Bank พบว่าโดยเฉลี่ยจะมีการสร้างขยะโดยรวมทั้งหมด 0.74 กิโลกรัม/คน/วัน โดยในปี 2564 องค์การสหประชาชาติ รายงานว่าโลกมีประชากรกว่า 7,700 ล้านคน จึงคำนวณได้ว่ามีขยะรวมทั่วโลกจำนวน 2.08 พันล้านตัน/ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร

กลับมาที่ประเทศไทย ในปี 2564 มีปริมาณขยะรวมทั้งหมดกว่า 24.98 ล้านตัน เชื่อไหมว่า 12 % เป็นขยะพลาสติกจำนวน 2.76 ล้านตัน ซึ่งแต่ละปีถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้เพียง 0.5 ล้านตัน เพราะส่วนใหญ่ที่เหลือนั้นเป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

คำถามก็คือ เราเคยรู้ข้อมูลเหล่านี้มั้ย แล้วถ้ารู้ “เรา” ในฐานะประชากรโลกได้ตระหนักหรือหาทางออกอย่างไรเพื่อไม่ให้ขยะพลาสติกล้นโลก ในขณะที่รอทุกคนหาคำตอบให้กับตัวเอง ก็มีสตาร์ทอัพกลุ่มหนึ่งที่ไม่ดูดายนิ่งเฉยต่อสถานการณ์ขยะพลาสติกที่กำลังวิกฤตขึ้นทุกวัน

SD Perspectives จะพาไปทำความรู้จักกับ ‘Poontong Recycle’ และ ‘PLA+’ Impact Startup สองรายที่เข้าร่วมกิจกรรม Thailand Waste Management and Recycling Academy ซึ่งจัดโดย The Incubation Network x Seedstars ที่ต้องการลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก

เริ่มจาก Poontong Recycle สตาร์ทอัพที่ทำตู้รับซื้อขยะขวด PET ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง สกล สัจเดว ผู้ก่อตั้งไมโครเวนดิ้งเทค และ พลธร พัฒนพูนทอง  ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร  พูนทองรีไซเคิล ในการพัฒนาตู้รับซื้อขยะขวด PET ร่วมกัน ถือเป็นการนำธุรกิจตู้เติมน้ำมันแฟรนไชส์ของไมโครเวนดิ้งเทคที่วางอยู่ในชุมชนต่าง ๆ มาต่อยอดให้เครื่องดังกล่าวสามารถรับขวดPET (ที่ไม่ได้ใช้แล้ว) ได้ด้วย โดยลูกค้าหรือคนทั่วไปสามารถนำขวดPET และกระป๋องอะลูมิเนียมมาใส่ตู้รับขยะเพื่อรับคะแนนสะสมไว้เป็นส่วนลดต่างๆ อาทิ เติมน้ำมันฟรี ซักผ้าฟรี หรือนำมาเติมเงินในมือถือ เป็นต้น ส่วนขยะพลาสติกเหล่านี้จะถูกนำกลับไปรีไซเคิลในโรงงานพูนทองรีไซเคิลนั่นเอง

สกล หนึ่งในสมาชิกทีม Poontong Recycle กล่าวว่าก่อนหน้านี้เขาทำธุรกิจผลิตและตู้หยอดเหรียญ อย่างตู้น้ำมัน เครื่องซักผ้า และตู้เติมเงินมาประมาณ 15 ปี การที่ตู้กระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ ในจังหวัดนครปฐม ราชบุรี และสุพรรณบุรี ทำให้เขามองเห็นปัญหาขยะพลาสติกในชุมชนเยอะมาก จึงพยายามหาแพลตฟอร์มที่จะลดขยะให้ชุมชน โดยนำธุรกิจที่มีอยู่ก็คือ ตู้และเทคโนโนโลยี Big Data มาใช้ให้เป็นประโยชน์กับชุมชน

สิ่งที่สำคัญคือ Poontong Recycle สามารถเทิร์นขวดพลาสติกแค่หนึ่งขวด หรือกระป๋องอะลูมิเนียมแค่หนึ่งกระป๋อง ซึ่งคนส่วนใหญ่ทิ้งเพราะคิดว่าไม่มีค่า ให้กลายมาเป็นสิ่งที่มีค่าได้ ทั้งนี้ Poontong Recycle ออกแบบแอปพลิเคชั่น 2 แอป สำหรับเจ้าของตู้แฟรนไชส์ซี โดยสามารถเช็คจำนวนขวด/กระป๋องที่ถูกนำมาทิ้ง และอีกแอปสำหรับลูกค้า ที่สามารถเช็คข้อมูลการทิ้งขวด/กระป๋อง เพื่อสะสมคะแนนแลกส่วนลด โดยทุกการทิ้ง 1 ขวด/กระป๋องจะได้ 1 คะแนน เมื่อทิ้งครบ 50-100 ขวด/กระป๋อง รับส่วนลด หรือเติมน้ำมัน/ซักผ้าฟรี เป็นต้น

ทางด้านนิธิภา ทองปัชโชติ ผู้ก่อตั้ง PLA+ สตาร์ทอัพที่ตั้งใจเข้ามาลดขยะพลาสติกชีวภาพ หรือไบโอพลาติก (PLA : Polylactic Acid) หลังพบว่าขยะชนิดนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นตามเทรนด์ที่เจ้าของสินค้าหันมาใช้เพื่อแสดงจุดยืนรักษ์โลก แต่ยิ่งใช้มากเท่าไหร่ขยะกลับไปลดตาม เพราะคนไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลาสติกชนิดนี้ว่า PLA จะยอยสลายได้ก็ต่อเมื่อสภาพแวดล้อม จุลินทรีย์ อุณหภูมิ ความชื้นที่เหมาะสมเท่านั้น

นิธิภา เล่าว่า เธอเป็นจิตอาสาในโครงการขยะกำพร้า และเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร มองเห็น Pain ในช่วงเกิดสถานการณ์โควิด ขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้นจากการสั่งฟู้ดเดลิเวอรี แม้เจ้าของร้านอาหารจะมีความตั้งใจดีให้ยืมปิ่นโตใส่อาหาร แต่ก็ไม่เวิร์ค หรือยอมเพิ่มต้นทุนในการใช้ PLA เป็นบรรจุภัณฑ์ก็ตาม แต่ปัญหาขยะพลาสติกก็เกิดขึ้นอยู่ดี

“เพราะ PLA จะสลายในอุณหภูมิ 60-70 องศา ดังนั้นวิธีที่จะกำจัด PLA ในบ้านเราจำเป็นต้องนำเข้าไปกำจัดในโรงงาน แต่เมืองไทยยังไม่มีโรงงานกำจัด PLA เราจึงสนใจอยากทำโดยมีการจัดการ 2 อย่าง คือ ย่อยให้กลายเป็นสารบำรุงดิน และรีไซเคิลไบโอพลาสิกให้นำกลับมาใช้ใหม่”

ทั้งนี้ จากการเข้าร่วมกิจกรรม Thailand Waste Management and Recycling Academy ทำให้ Impact Startup ทั้งสองรายไปได้ไกลกว่าเดิม โดยเป็น 2 ใน 4 สตาร์ทอัพที่เข้ารอบสุดท้ายเพื่อพิชชิ่งในรอบ Demo Day

นิธิภา กล่าวถึงประสบการณ์การเข้าร่วมกิจกรรมบูธแคมป์ของ Seedstars ว่าเข้ามาช่วยต่อยอดให้ไอเดียเกิดเป็นรูปธรรม ด้วยเครือข่ายที่กว้างขวางมีทั้งสตาร์ทอัพที่อยู่ใน Ecosystem ขยะพลาสติก และ Mentor ที่ช่วยหาโมเดลธุรกิจเพื่อระดมทุน

“Seedstars ช่วยเราเยอะมาก หาคนเก่ง ๆ มาสอน Shape ไอเดียเราให้แหลมคมขึ้น ทำให้เรามองเห็นทิศทางว่าควรจะไปทางไหนต่อเพื่อสเกลอัพได้ โดยที่เราไม่ต้องเสียเวลาคลำทางเอง มีเครือข่ายที่แข็งแรงคอยช่วยเหลือ ส่วนด้านนวัตกรรม เราจับมือกับนักวิชาการมหาวิทยาลัยธัญบุรี ช่วยกันพัฒนา Prototype ขึ้นมาจนตอนนี้เราได้เครื่องที่สามารถย่อยสลายได้ทั้ง PLA และอาหารขยะ ในเครื่องเดียวกันได้เป็นเจ้าแรกของไทย”

ในขณะที่สกล พูดถึงสิ่งที่ได้จากโครงการ The Incubation Network x Seedstars ว่าเป็นองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ จากแต่ก่อนมีความรู้แค่ในด้านธุรกิจที่ทำ ก็มีความรู้ด้านนวัตกรรมการจำกัดขยะพลาสติกเพิ่มเติม เพื่อนำแก้ Pain point ต่างๆ ได้ รวมถึงได้รับโอกาสจาก Seedstars ในการเป็นตัวแทนสตาร์ทอัพไทยไปแข่งขันในเวที UNDP ร่วมกับอีก 39 สตาร์ทอัพจากทั่วโลก

“การมีเครือข่ายที่กว้างมากขึ้นเป็นเรื่องสำคัญมาก ยิ่งมีเครือข่ายกว้างเท่าไหร่ ยิ่งช่วยเราสร้างการเปลี่ยนแปลงได้กว้างมากขึ้นเท่านั้น อย่างที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเดินทางไปพบนักลงุทนที่ดูไบ เพื่อหาทางที่จะร่วมมือกันซึ่งเราคุยกันว่าสามารถต่อยอดไปได้ไกลไม่เฉพาะแค่การจัดเก็บขยะ แต่สามารถเชื่อมโยงไปสู่การลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ในชุมชน”

นิธิภา มองเป้าหมายในการสร้าง Impact ในครั้งนี้ว่า ตั้งใจที่จะลดขยะฝังกลบให้ได้ 1 แสนกิโลกรัมต่อปี เพื่อนำมารีไซเคิลให้มากขึ้น โดยปัจจุบันมีเครื่องจำกัดขยะ PLA อยู่ 1 เครื่องที่มหาวิทยาลัยธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี แต่ในอนาคตมีแผนขยายไปตามจุดต่างๆ รวมถึงจัดกิจกรรมให้ความรู้การคัดแยกขยะขนานไปกับโครงการขยะกำพร้า เพื่อสร้างพฤติกรรมการคัดแยกขยะให้เกิดขึ้นกับคนไทย

แม้ว่าสิ่งที่ทำจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของสังคม แต่เชื่อว่า หากมือเล็กๆ หลายๆ มือร่วมกันเดินไปข้างหน้า อนาคตตของปัญหาขยะพลาสติกเหล่านี้น่าจะดีขึ้นแน่นอน

ข่าวเกี่ยวเนื่อง

You Might Also Like