TALK

นพเก้า สุจริตกุล “วันนี้เราจึงอยากตอบคำถามให้กับการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนด้วย SE ถ้าคุณทำ เราช่วย”

16 ตุลาคม 2561…หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯแห่งประเทศไทยมีการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งภายใต้กรอบความยั่งยืนของธุรกิจโดยตรง และการดำเนินงานภายในของตลาดหลักทรัพย์ฯ  เอง

นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาเพื่อสังคม และสื่อสารองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หนึ่ง ใน Speaker ที่แลกเปลี่ยนมุมมองใน Workshop เวที SB’18 BKK เรื่อง Social Enterprises and Ways to Design Themselves เมื่อ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา อธิบายในเรื่องที่กล่าวถึงข้างต้นกับชุมชนบางกะเจ้าว่า เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ  มีการทำงานร่วมกับบริษัทจดทะเบียน ในฐานะผู้ที่เข้าไปซัพพอร์ตการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเชิงกระบวนการ และในการรายงานดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนให้กับผู้ถือหุ้น ในเวลาเดียวกันก็ได้จัดตั้งมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯแห่งประเทศไทย

ที่มากไปกว่านั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ  ยังได้ทำ Social Impact Platform ซึ่งก็คือเหตุผลของการเข้าร่วมในงาน Sustainable Bangkok Redesigning the Good Life ที่จัดขึ้นในบางกะเจ้า

“แพลตฟอร์มนี้เป็นการทำงานในเชิงการสนับสนุนในบทบาทหน้าที่ที่เราใช้คำว่า เราเป็น Multiplier หรือเป็นตัวคูณ ผ่านเว็บไซต์ setsocialimpact.com

เว็บไซต์ setsocialimpact.com เป็นแพลตฟอร์มที่ตลาดหลักทรัพย์ฯให้คน 2 กลุ่มมาเจอกันเพื่อเกื้อหนุนซึ่งกันและกันกระทั่งเกิดเป็น Social Impact
“เว็บไซต์นี้มีคนอยู่ในแพลตฟอร์มอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเขาจะมีข้อมูลในสิ่งที่เขาทำในการพัฒนาสังคม และสิ่งที่เขาบอกไปว่าเขาจะแบ่งปันอะไร หรือให้ข้อมูลอะไรได้บ้าง กับอีกกลุ่ม ก็คือ Social Enterprise ที่ทำธุรกิจเพื่ออยากแก้ไขสังคม ปัจจุบันเรามี  SE กว่า 75 รายที่มาลงทะเบียนกับเราไว้ เท่ากับว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มตรงกลางสำหรับ Knowledge Sharing ระหว่าง2 กลุ่มนี้ ”

อย่างไรก็ดี Knowledge Sharing เป็นแค่สเต็ปแรกเท่านั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังพัฒนาทักษะ หรือ Impact Skill ด้วยการสร้างเวทีให้ซีอีโอ หรือผู้บริหารจากบริษัทจดทะเบียน มาร่วมทำงานกับผู้ประกอบการ SE ทั้งนี้ซีอีโอจากบริษัทจดทะเบียนจะมีบทบาทเป็นทั้ง Coaching และ Mentoring

“ซีอีโอจะทำหน้าที่สอนให้เก่ง พอเก่งแล้วยังมีหน้าที่นำให้เขาก้าวไปข้างหน้าด้วย คือให้ SE ดำเนินธุรกิจได้จริงด้วย คือเราไม่ได้แค่เพาะ แต่เราทำให้SE เติบโต โดยซีอีโอจะลงมาร่วมทำงานกับเด็กๆ SE ใช้ประสบการณ์ตัวเองมาแชร์ให้เขารู้ว่าทำธุรกิจยังไงถึงจะขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคมได้”

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีการใช้โมเดลการจับคู่ (Matching) เพื่อให้เกิดการต่อยอดระหว่างธุรกิจเพื่อสังคมกับเครือข่ายทางธุรกิจที่มีอยู่

นพเก้าขยายคำว่า Social Enterprise ประกอบไปด้วยคำ 2 คำ นั่นคือธุรกิจ และสังคม เริ่มต้นจากสังคมแต่ขับเคลื่อนด้วยกลไกทางธุรกิจ มันคือหลักการง่ายๆ แค่นี้เอง นี่คือหัวใจของการทำ SE ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ หามาให้ความสำคัญ เพราะการใช้ธุรกิจในการค้าขายมาแก้ไขปัญหาทางสังคม ถ้าขายได้มาก ทำการตลาดได้ดี มีคนซื้อ ผลก็คือเงินเข้ามามาก เงินก็เข้าไปขับเคลื่อนปัญหาทางสังคมต่อได้ และแก้ได้อย่างยั่งยืนมากกว่าการไปขอบริจาค และในทางกลับกัน เมื่อจุดตั้งต้นดีแล้ว กลไกที่จะทำให้ SE มีความสามารถที่จะเดิน และไปต่อได้สำคัญมากว่า

“เพราะแพลตฟอร์มของเราจะไม่มีค่าเลยถ้าทำแพลตฟอร์มขึ้นมาโชว์ไว้เฉยๆ นั่นจึงเป็นคำตอบว่าทำไมเราทำ Execution ให้เกิด Social Impact จริงด้วย เรามักจะเรียกว่าเวทีของเราคือ ยิมเราต้องการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SE ในยิมนี้ต้องอยู่รอดทางธุรกิจอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง คำว่ารอดของเราคือ การปั้นไอเดียให้สามารถเริ่มทำธุรกรรม และเดินหน้าได้ พูดง่ายๆ ว่า ตราบใดที่มีรายได้ มีธุรกิจ มีลูกค้า ธุรกิจย่อมรันต่อไปได้ นี่คือสิ่งที่เราเริ่มทำกับSE จริงๆ มันเป็น Journey ของเขาว่าจะไปได้ไกลแค่ไหนไม่รู้ แต่อย่างน้อยเขามีความตั้งใจ โดยที่มีเราพากันเดินไป นี่คือหลักการ”

สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สนับสนุน SE จึงเป็นหลักการที่จะนำมาใช้เป็นประโยชน์ในทางใดทางหนึ่งกับชุมชนบางกะเจ้าเช่นกัน

“ตั้งแต่ที่ดิฉันได้เข้ามาที่บางกะเจ้า ดิฉันมองเห็นอะไรหลายอย่างที่มี Story อยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะน้ำในร่องสวน เราเจอน้ำพักน้ำแรง และสิ่งที่เป็นความพยายามในการสร้างผลผลิตของชุมชนแห่งนี้ ทุกอย่างล้วนมีเสน่ห์ที่ทำให้ดิฉัน และทุกคนที่มาที่นี่เกิดความประทับใจ ตลอดจนน้ำใจต่างๆ ที่เราสัมผัสได้ แต่ในเวลาเราเดียวกันเราก็เจอน้ำตาจากปัญหาหลายๆ อย่างที่ยังหาจุดตั้งต้นว่าชุมชนแห่งนี้จะไปต่อในทิศทางไหน”

นพเก้ากล่าวต่อไปว่า วันนี้จึงอยากตอบคำถามให้กับการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนด้วย SE วันนี้ถ้าคุณทำ เราช่วยโดยเน้นไปที่การเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการทางสังคมได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนกัน และขยายผลต่อเนื่อง โดยทำงานร่วมกับองค์กรอื่นที่เขาพัฒนาในระดับหนึ่งแล้ว   โดยปีที่ผ่านมาเรามีผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนเข้าโครงการ 18 ราย คอยทำหน้าที่ช่วยเหลือ SE ที่เข้าร่วม 12 ราย จากผลตอบรับในปีที่ผ่านมา ทำให้ปีนี้เรามีผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนเข้ามาเป็นโค้ชเพิ่ม 30 ราย และ SE 19 ราย

“โลกอยากให้คุณเป็นตัวคุณเราเชื่อว่าคนที่นี่ และคนที่มาเที่ยวไม่ต้องการเห็นแบรนด์กาแฟของโลกที่นี่ หรืออยากเห็นที่นี่เป็นช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ เขาอยากเห็นสิ่งที่มันเป็นตัวคุณ ดังนั้นดิฉันเชื่อว่าSE จะเป็นรากฐานอัตลักษณ์ที่สะท้อนตัวตนของชุมชนบางกะเจ้า” นพเก้ากล่าวในท้ายที่สุด

เรื่องเกี่ยวข้อง

 

You Might Also Like