SD DAILY

SD Daily : เอสซีจี กสิกรไทย ไอวีแอล @ COP28

13 ธันวาคม 2566…การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 หรือ COP28 มีผู้แทนจากรัฐภาคีทั่วโลก ผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม เพื่อหาทางเตรียมความพร้อมและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกในอนาคต

เอสซีจี มุ่งกู้วิกฤตโลกเดือด
เร่งพัฒนานวัตกรรมคาร์บอนต่ำ

ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งไทย อาเซียน และระดับโลก เพื่อบูรณาการความรู้ ความสามารถ ในการกู้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ปัจจุบันได้ร่วมพัฒนานวัตกรรมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) กับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในหลากหลายอุตสาหกรรม

ธรรมศักดิ์ พร้อมนวัตกรรมแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานความร้อนจากพลังงานสะอาด ความร่วมมือ SCG และ Rondo แผงโซลาร์เซลล์ประสิทธิภาพสูง ความร่วมมือ SCG และ CubicPV และSCG Air Scrubber นวัตกรรมช่วยลดการใช้พลังงานจากระบบปรับอากาศในอาคารลงได้สูงสุด ร้อยละ 30

“เอสซีจีร่วมกับบริษัท Rondo Energy พัฒนานวัตกรรมแบตเตอรี่กักเก็บความร้อนจากพลังงานสะอาด ตอบโจทย์อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ ร่วมกับบริษัท CubicPV พัฒนานวัตกรรม Silicon Wafer และแผงโซลาร์เซลล์ประสิทธิภาพสูง เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และร่วมกับบริษัท enVerid พัฒนา SCG Air Scrubber นวัตกรรมช่วยลดการใช้พลังงานจากระบบปรับอากาศในอาคารลงได้สูงสุด ร้อยละ 30 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งได้ร่วมจัดแสดงเทคโนโลยีดังกล่าวในครั้งนี้ด้วย”

นับเป็นการร่วมแลกเปลี่ยน​ความเห็นกับผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ​ ผู้บริหารเอกชนชั้นนำ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เร่งพัฒนานวัตกรรมกู้วิกฤตโลกเดือด​ ตามแนวทาง ESG 4 Plus (Net Zero 2050 – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ ภายใต้ความเชื่อมั่น โปร่งใส)

กสิกรไทยผลักดันสินเชื่อ
และการลงทุนเพื่อความยั่งยืน

พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทยร่วมเสวนาในกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) ในการประชุมรัฐภาคีฯ ในหัวข้อ “Driving Higher Education for Global Action” นำเสนอในเรื่อง “Explore opportunities for collaboration between banks and educational institution in driving climate action” ร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศได้แก่ Dr. Harleen Marwah จาก University of Pennsylvania, Ms. Pamela Conrad จาก Harvard

ภายในงานธนาคารได้มีการจัดนิทรรศการนำเสนอการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ที่ธนาคารปรับการทำงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Scope 1 และ 2) และการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในพอร์ตโฟลิโอ (Scope 3) ด้วยการจัดทำแผนกลยุทธ์การลดก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม (Sector Decarbonization Strategy) การพัฒนาบริการ Beyond Banking Carbon Credit Solutions เพื่อสนับสนุนให้เกิด Ecosystem และส่งเสริมตลาดการซื้อขาย Carbon Credit ของประเทศไทย พร้อมกันนี้ธนาคารยังผลักดันด้านการให้สินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนไม่ต่ำกว่า 1-2 แสนล้านบาท ภายในปี 2573 เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero Commitment ที่ธนาคารประกาศไว้

อินโดรามา เวนเจอร์ส
เสนอโซลูชั่นด้านความยั่งยืน

ยาช โลเฮีย ประธานคณะกรรมการด้านการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล ดร. แอนโทนี เอ็ม วาตานาเบ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืน อินโดรามา เวนเจอร์ส ยกตัวอย่างการลงทุนของบริษัทในนวัตกรรมร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพระดับโลก อาทิ ความร่วมมือกับ SIPA ในการเปิดตัวขวดสปาร์คกลิ้งไวน์ที่ผลิตจาก PET แบบชั้นเดียว (monolayer) เป็นรายแรกของโลก และความร่วมมือกับ Polymateria ในการพัฒนาเทคโนโลยีไบโอทรานส์ฟอร์เมชั่น (biotransformation) สำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย

ทั้งนี้ ได้ร่วมนำเสนอการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “The Role of Circularity in Building a Low-Carbon World” และช่วงเสวนาในหัวข้อ “Bio-Circular-Green Economy: A Road towards Net Zero” ณ Thailand Pavilion อีกด้วย โดย ดร. วาตานาเบ ยืนยันถึงการสนับสนุนของอินโดรามา เวนเจอร์ส ต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลไทย

 

You Might Also Like