CSR

ครั้งแรกของไทย!! มาตรฐานการศึกษาด้านดิจิทัล “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ภารกิจสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้คนไทย กับการทำงานของ AIS ร่วมกับ 3 กระทรวง 1 มหาวิทยาลัย

21 กันยายน 2565… SDGs ของ UN เป้าหมายข้อที่ 17 ว่าด้วยเรื่อง ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนจากการทำงานของ AIS ที่จับมือภาครัฐ 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงมหาดไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ลงนามความร่วมมือ พร้อมเปิดตัว “อุ่นใจไซเบอร์” เป็น “หลักสูตรการเรียนรู้” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ครั้งแรกของไทย ที่เป็นการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ยกระดับการเรียนการสอนในยุคดิจิทัล เพื่อปกป้องภัยไซเบอร์

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวถึงบทบาทขององค์กรในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล และผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่สำคัญให้กับประเทศไทยแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะต้องทำคู่ขนานคือ การสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมดิจิทัลที่ดี เป็นประโยชน์ ปลอดภัยและสร้างสรรค์มากที่สุด ดังนั้นในปี 2562 AIS จึงประกาศว่า ต้องการให้สังคมไทยรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ภายใต้ภารกิจ อุ่นใจไซเบอร์

“AIS มีสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าแล้ว เรายังให้ความปลอดภัยพร้อม ๆ กันซึ่งมีความแตกต่างจากคู่แข่งขันในตลาด เช่น AIS Secure Net ,Google Family Link หากใช้บริการเหล่านี้ผู้ปกครองสามารถคุยกับลูกได้ว่า จะให้ดูหรือไม่ให้ดูอะไร นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือการสร้าง ทักษะดิจิทัลให้กับคนไทย จึงเกิดโครงการอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งได้มีการพัฒนาเนื้อหาปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้เข้ากับคนไทยจนกระทั่งมาถึงการร่วมมือครั้งสำคัญครั้งนี้”

สมชัย ย้ำว่า การที่ AIS ร่วมมือกับ กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงมหาดไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีถือเป็นการ Kick Off “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” อย่างเป็นทางการในประเทศไทยครั้งแรก หลังจากการทำ Sandbox ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา เป็นการทดสอบเสมือนจริงใน และมีคุณครูพร้อม นักเรียน ที่เข้าเรียนและสอบผ่านไปแล้วกว่า 160,000 คน

“หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” นำเสนอเป็น 4 Professional Skill Module หรือ 4P4ป ที่ครอบคลุมทักษะดิจิทัล ดังนี้

1.Practice: ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
2.Personality: แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์
3.Protection: เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์
4.Participation: รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม

“หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ AIS เป็นแกนกลางเสมือนกับแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อและสร้างภาคีเครือข่ายกับหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล และสร้างช่องทางการสื่อสารเพื่อให้เกิดการรับรู้และการลงมือทำไปยังสาธารณชน มีการนำเครื่องมือทางเทคโนโลยี Online Learning Platform โดย AIS Academy อย่าง LearnDi มาเป็นแพลตฟอร์มให้ผู้ใช้งานเข้ามาเรียนรู้ได้ทั้งบนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน อุ่นใจ CYBER เพื่อให้สะดวกสบายในการเรียนรู้ และเมื่อเรียนครบแล้วจะมี E-Certificate ให้ด้วย”

สำหรับภาครัฐ 4 หน่วยงานหลักนำโดยตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ดร.ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ที่แต่ละองค์กรมีบทบาทแตกต่างกัน หากเสริมจุดแข็งให้กันและกันได้อย่างสมบูรณ์

“กระทรวงดีใจที่เกิดหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ผ่านการรับรองมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ ก.ค.ศ. ให้เป็นหลักสูตรการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสายงานสอน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สามารถนำผลการนับชั่วโมงการพัฒนาเพื่อประกอบการขอเลื่อนวิทยฐานะ ตามหลักที่ ก.ค.ศ. กำหนด เรียบร้อย อุ่นใจไซเบอร์ เป็นสื่อที่ครู นักเรียน ผู้ปกครองเข้าถึงได้ เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป กระทรวงจะเดินหน้าขยายความครอบคลุมการเรียนการสอนไปให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้บุคลากรทางการศึกษา และเยาวชนไทยมีความรู้ทักษะดิจิทัลที่เท่าทันภัยไซเบอร์ที่แฝงมากับการใช้งานอินเทอร์เน็ต รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นสูงสุด” ตรีนุชกล่าว

พญ.อัมพร กล่าวว่า เรื่องของ Digital Literacy กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญมาก เด็กหลายคนติดเกมส์ หลายคนถูกบูลลี่ โชคดีที่หลายคนรักษาได้ทัน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มาไม่ถึง เขาทำร้ายตัวเอง เพราะไม่มีวิธีการรับมือที่ถูกต้องเหมาะสม

“กระทรวงมุ่งเน้นการสนับสนุนด้านต่างๆเพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพจิตของตนเองได้อย่างยั่งยืน ดังเช่นการทำงานร่วมกับเอไอเอส พัฒนา หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นการสะท้อนนโยบายที่เป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง กรมสุขภาพจิตได้ทำหน้าที่จัดทำเนื้อหาที่เหมาะสมกับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย ในลักษณะของการ กระตุ้นเตือน แนะนำ ให้สามารถใช้ชีวิต รับมือกับความท้าทายต่างๆในยุคดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ นับได้ว่าสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขอย่างชัดเจน”

ดร.ทรงศักดิ์ กล่าวถึงการทำงานของกระทรวงมหาดไทยว่า มีความมุ่งมั่นส่งเสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากได้ในวงกว้าง จึงสนับสนุนให้ครู และบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนจากสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เรียนรู้ในหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์”

รศ.ดร.สุวิทย์ เล่าถึงการทำงานพัฒนาสื่อการสอนในรูปแบบดิจิทัล ในรูปแบบของ VDO, Motion Graphic และ Animation รวมถึงการจัดทำแบบทดสอบเพื่อวัดและประเมินผล

สำหรับเยาวชน (ผู้เรียนอายุ 10 -18 ปี) (Fundamental Level) จะมีเนื้อหาทั้งหมด 21 ตอน จาก 8 บทเรียน จะเป็นเนื้อที่เป็นความรู้พื้นฐาน เกี่ยวกับการใช้งานทั่วไป เกี่ยวกับตนเองเป็นหลัก นำเสนอเนื้อหาเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีและสื่อในโลกยุคดิจิทัลได้อย่างเกิดประโยชน์ มีความรับผิดชอบและปลอดภัย เพื่อให้เสริมสร้างพลเมืองดิจิทัลที่ดี

ส่วนบุคคลทั่วไป (ผู้เรียนอายุ 18 ปีขึ้นไป) (Advance Level) จะมีเนื้อหาทั้งหมด 31 ตอน จาก 12 บทเรียน จึงเป็นนำเนื้อหาทักษะและสามารถในการใช้สื่อดิจิทัลในระดับองค์กร รวมถึงความสามารถในการใช้สื่อดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาที่ท้าทายใหม่ๆ เหมาะสำหรับบุคคลในช่วงของนักศึกษามหาวิทยาลัย วัยทำงาน จนไปถึงผู้สูงอายุ

หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เริ่มเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในระบบอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่วันนี้ สำหรับประชาชนทั่วไป สามารถเรียนรู้และสร้างทักษะทางดิจิทัลได้ที่ https://learndiaunjaicyber.ais.co.th/ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

AIS ได้ตอกย้ำถึงความตั้งใจในการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม จนเกิดมาเป็นหลักสูตรแรกของประเทศที่มีเนื้อหาด้านทักษะดิจิทัล “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ที่จะเข้ามาสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและมีความร่วมมือทุกระดับเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

You Might Also Like