NEXT GEN

ยกระดับคุณภาพชีวิตคนทำงานกับรถ Forklift ผ่านทางไกล 5G ใช้แล้ว

25 มกราคม 2563…เอสซีจี ผนึก เอไอเอส และ ม.อ. ใช้ 5G แล้วในภาคอุตสาหกรรม รายแรก! หลังทดสอบใช้งานจริง 5G ควบคุมรถยกผ่านทางไกล เพิ่มความปลอดภัยในงานที่มีความเสี่ยงสะท้อนศักยภาพผู้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมพาประเทศไทยสู่ยุค 5G


รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส ร่วมรับฟังข้อมูลจาก อรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ผู้อำนวยการ โครงการระบบอัตโนมัติและอุตสาหกรรม 4.0 เอสซีจี วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส และ รองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ผู้อำนวยการ โครงการ อินโนเวชั่น ฮับส์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ถึงความร่วมมือระหว่างเอไอเอส, เอสซีจี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในครั้งนี้

ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของการทดสอบ 5G ในภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งได้ร่วมคิดค้นและพัฒนาโซลูชั่นในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตด้วย 5G ทดลองทดสอบในสภาพแวดล้อมจริง บนคลื่นความถี่ 2.6 GHz ภายใต้การสนับสนุนของ กสทช. เป็นครั้งแรกที่เราจะได้เห็น Use Case จริงที่สามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้จริงในอนาคต ผ่านการสาธิตการบังคับรถยกของ Forklift ขับเคลื่อนระยะไกล จากกรุงเทพฯ – สระบุรี เป็นครั้งแรกของภาคอุตสาหกรรมของไทย

(แถวบนจากซ้ายไปขวา) สมชัย,รุ่งโรจน์ อรรถพงศ์ วสิษฐ์
(แถวล่างจากซ้ายไปขวา)รองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ และคนขับรถ Forklift กำลังทำงานที่กทม. ส่วน รถ Forklift ก็ทำงานหน้างานตามการควบคุม

การพัฒนารถ Forklift ขับเคลื่อนระยะไกลด้วยเครือข่าย 5G เริ่มดำเนินการที่โรงงานของเอสซีจี ใน จ.สระบุรี เป็นแห่งแรก เพราะมีการเคลื่อนย้ายทั้งวัตถุดิบและสินค้าโดยใช้รถ Forklift เพื่ออำนวยความสะดวกจำนวนมาก อีกทั้งรถ Forklift ยังเป็น Material Mobility ที่ควบคุมได้ง่ายที่สุด ซึ่งงานวิจัยพัฒนานี้ ได้รับทุนสนับสนุนจาก Innovation Hub กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อนำ Platform ระบบสมองกลฝังตัวขั้นสูงสำหรับยานยนต์ ผสมกับ ระบบควบคุม Latency ต่ำ ผ่านทางไกลบนเครือข่าย 5G AIS นำไปใช้จริงในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมได้ในอนาคต

“รถที่เห็นใช้จริงในพื้นที่ ความแตกต่างคือ เราไม่เอาคนนั่งบนรถขับ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตคนทำงานดีขึ้น แม้ว่าจำนวนเวลาทำงานเป็นกะ กะละ 8 ชั่วโมงยังคงเท่าเดิม แต่มีความสะดวกคือเป็นการทำงานแบบรีโมต บางทีทำงานที่กทม. ไม่ต้องไปสระบุรีก็ได้ หรืออาจจะที่ออฟฟิศที่สระบุรี มียืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งพนักงานที่ขับรถรถ Forklift ทำได้หมดทุกคน ในทุก ๆ แห่งของเอสซีจี ซึ่งเมื่อเดือนหน้าการประมูล 5 G เรียบร้อยเราก็ใช้งานได้อีกหลายแห่ง”

การนำเครือข่าย 5G ที่มีความรวดเร็วในการตอบสนองแบบเรียลไทม์ และมีความแม่นยำในการส่งผ่านข้อมูลที่จำเป็นสำหรับระบบอัตโนมัติขั้นสูงมาใช้นั้น จะช่วยตอบโจทย์ของเอสซีจี ทั้งการมีผลิตผลที่มากขึ้นเพราะพนักงานสามารถควบคุมรถจากที่ใดก็ได้ อีกทั้งยังสามารถฝึกอบรมการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ให้กับพนักงานที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆ ได้โดยไม่ต้องเดินทางไปที่หน้างาน

การพัฒนานวัตกรรม 5G ยังมีองค์ประกอบและปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่างๆ อีกหลายด้าน ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใน Ecosystem ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม 5G เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันในเวทีโลก พร้อมช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป

ทั้งนี้ เอสซีจี และเอไอเอส ยังได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในการร่วมวิจัย และพัฒนานวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเครือข่าย 5G ในโครงการอื่นๆ ตลอดจน ร่วมพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพพร้อมแข่งขันบนโลกยุคดิจิทัล เป้าหมายเพื่อร่วมกันสร้าง 5G Ecosystem ของการพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืน ช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย และคุณภาพชีวิตของคนไทยไปอีกขั้น

 

 

You Might Also Like