NEXT GEN

การจัดการธุรกิจยั่งยืน : กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมเพื่ออนาคต

5 สิงหาคม 2563…บทบาทของภาคธุรกิจที่หันมาให้ความสำคัญกับการจัดการอย่างยั่งยืนจะทวีความสำคัญมากขึ้นกว่าการทำกิจกรรม CSR เพราะการจัดการธุรกิจที่ยั่งยืน จะส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจ การออกแบบสินค้าและบริการ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในระยะยาว และคาดว่าการปรับตัวของภาคธุรกิจจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กลไกความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของสินค้าจะกลายเป็นสิ่งที่การตลาดยุคใหม่ต้องมี เพราะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อตามพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งทุกธุรกิจที่มีศักยภาพควรต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร พลังงานและการขนส่ง สารเคมี และพลาสติก เพราะจะส่งผลในทางบวกต่อทั้งต้นทุนทางการเงินและภาพลักษณ์องค์กรด้านความยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว และหากดำเนินการควบคู่ไปกับนโยบายสาธารณะด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ น่าจะส่งผลต่อเนื่องไปสู่การจัดการด้านความยั่งยืนของประเทศในภาพรวม และส่งผลให้ระดับการประเมิน EPI ของไทยดีขึ้นได้ในอนาคตได้

โอกาสทางการตลาดและปัจจัยกดดันด้านความตระหนักถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 
ทำให้ทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับการจัดการที่ยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม

หนึ่งในตัวชี้วัดเพื่อประเมินประสิทธิผลด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมได้แก่ ดัชนี EPI (Environmental Performance Index) จัดทำโดย Yale Center for Environmental Law & Policy ซึ่งดัชนี EPI ประมวลจากการประเมินผลกระทบต่อระบบนิเวศและสุขอนามัย ซึ่งประกอบด้วย 32 ตัวชี้วัดย่อย ดัชนี EPI ของไทยในปี 2563 อยู่ที่ลำดับ 78 ของโลก ปรับตัวดีขึ้นจากลำดับ 121 ของโลกในปี 2561 ในขณะที่กลุ่มประเทศใกล้เคียงในปี 2561 เช่น ประเทศจีน และฟิลิปปินส์ มีค่าดัชนี EPI ในปี 2563 ลดลง

เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดรายได้ พบว่า ประเทศไทยทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกและปรับตัวดีขึ้นกว่าประเทศในระดับใกล้เคียงในหลายมิติ ทั้งตัวชี้วัดด้านระบบสุขอนามัยและน้ำดื่ม ระดับการปล่อยโลหะหนัก ระดับการปล่อยมลพิษ (ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์) ในขณะเดียวกันตัวชี้วัดด้านคุณภาพอากาศ การประมง รวมถึงระบบการจัดการของเสียขยะต่าง ๆ และน้ำเสีย ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก

ประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้กลายเป็นปัญหาใกล้ตัวที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทำให้ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนต้องหันมาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและหาแนวทางการจัดการที่ยั่งยืนเพื่อป้องกันในระยะยาวโดยภาคธุรกิจถือว่าเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจยั่งยืน ที่ส่งผลต่อทั้งการผลิตและพฤติกรรมผู้บริโภค ประกอบกับปัจจัยกดดันจากความตระหนักต่อผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศและระดับโลกก็ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับตัวของธุรกิจโดยใช้หลักการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนเข้ามาใช้ควบคู่ไปกับนโยบายของภาครัฐ น่าจะส่งผลในทางบวกต่อเนื่องไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับประเทศที่มีความพยายามดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และส่งผลต่อการประเมินดัชนี EPI ของไทยซึ่งจะสะท้อนถึงความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุนอีกด้วย

 

You Might Also Like